รีเซต

‘ชัชชาติ’ ชวนเอกชน เปลี่ยนที่รกร้าง ให้กทม.สร้างสวนสาธารณะ ลดภาษีได้ ดีกว่าปลูกกล้วย

‘ชัชชาติ’ ชวนเอกชน เปลี่ยนที่รกร้าง ให้กทม.สร้างสวนสาธารณะ ลดภาษีได้ ดีกว่าปลูกกล้วย
มติชน
27 พฤษภาคม 2565 ( 15:01 )
212
‘ชัชชาติ’ ชวนเอกชน เปลี่ยนที่รกร้าง ให้กทม.สร้างสวนสาธารณะ ลดภาษีได้ ดีกว่าปลูกกล้วย

‘ชัชชาติ’ ชวนเอกชน เปลี่ยนที่รกร้าง สร้างสวนสาธารณะ สน ‘เก็บภาษีตามโซนผังเมือง’ จ่อดูกฎหมาย ทาหางกำหนดอัตราที่ดินกลางเมือง

 

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 พฤษภาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่บริเวณแยกวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าติดกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีวงศ์สว่าง ทางออก 4 ของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.ธนารัฐ 1971 ติดป้ายระบุว่า ได้ยินยอมให้สำนักงานเขตบางซื่อ จัดให้ใช้ที่ดินแปลงนี้เพื่อสาธารณะประโยชน์ ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ ตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร โดยมี นายจักกพันธุ์ ผิวงาม อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และนายภิมุข สิมะโรจน์ อดีตรองหัวหน้าพรรคกล้า ร่วมลงพื้นที่ด้วย

 

นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นตัวอย่างดีที่พื้นที่เอกชนรกร้างว่างเปล่า เสนอทำสวนสาธารณะกับสำนักงานเขต ทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวมากขึ้น โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเยอะ อาจจะต้องใช้เวลาขอเช่าอย่างต่ำ 5-10 ปี เพื่อปลูกต้นไม้ ทำทางเดิน ติดตั้งไฟแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย เป็นวิธีหนึ่งที่แบ่งปันพื้นที่เมืองให้เมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

“ลำพังทาง กทม. จะเอาเงินมาซื้อที่ดินแปลงนี้ 100 ล้านบาท ก็ไม่มีทางที่จะซื้อได้ เชื่อว่ามีพื้นที่อีกหลายแปลงที่ยังไม่อยากพัฒนาตอนนี้ แทนที่จะไปปลูกกล้วย เอาที่ตรงนี้มาทำพื้นที่สาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชน อีกทั้งยังลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ด้วย” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเภทที่ดินเกษตรกรรม มีการเก็บภาษีในอัตราต่ำ กทม.ไม่ได้มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขในการจัดที่ดินประเภทเกษตรกรรม ว่าต้องปลูกกี่ต้น กทม.มีอำนาจในการประเมินภาษี แต่ก็มีช่องทางที่ให้ทาง กทม. กำหนดภาษี แต่ไม่ให้เกินตามอัตราเพดานสูงสุดได้

“ในบางที่ดินที่ ไม่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม กทม.ก็มีอำนาจในการกำหนดภาษีที่ดินตามอัตราที่กระทรวงการคลัง ได้ให้อำนาจกับท้องถิ่นไว้ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายยังไม่กำหนดอัตราสูงสุด ต้องนำที่ดินมาใช้ให้สมเหตุสมผล เปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะก่อนดีไหม อย่างน้อยเป็นลานเตะบอล มาตรการทางภาษีเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เอกชนมีแรงจูงใจ ในการนำที่ดินมาให้ทางสาธารณะใช้งาน” นายชัชชาติระบุ

ส่วนเรื่อง “การจัดเก็บภาษีตามโซนของผังเมือง” นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แต่ต้องดูอำนาจที่มีก่อนว่าสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด ต้องมีการพิจารณาโดยละเอียดในแต่ละพื้นที่ว่าเป็นผังเมืองสีอะไร เช่น พื้นที่การเกษตรจะเข้าไปขึ้นภาษีมากไม่ได้ ต้องพยายามทำให้ต่ำที่สุด ยกเว้นมาทำการเกษตรในพื้นที่กลางเมือง เช่น เป็นผังเมืองเชิงพาณิชย์สีแดง พื้นที่หนาแน่นปานกลางสีส้ม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะในการทำการเกษตร ถ้าเป็นไปได้ ในอนาคตอาจมีการพิจารณาในการเอาสีผังเมืองเข้าไปร่วมเป็นมาตรการในการกำหนดภาษี แต่ยังไม่ได้เป็นข้อสรุปว่าจะมีการเพิ่มอัตราภาษี เนื่องจากต้องตรวจสอบข้อกฏหมายให้ละเอียดก่อน

“ต้องดูข้อกฏหมายก่อน ว่าเราสามารถเอาผังสี ไปกำหนดร่วมกับอัตราภาษีได้หรือไม่ เพราะใน พ.ร.บ. ยังเขียนไว้ไม่ชัดเจน ซึ่งเขียนไว้ว่า กทม.มีอำนาจในการปรับอัตราภาษีให้ไม่เกิดอัตราสูงสุด แต่ไม่ได้พูดถึงว่าเอาเงื่อนไขอื่นมากำกับได้หรือไม่ ยังไม่ได้สรุปว่าจะมีการขึ้นภาษี แต่คาดว่าเราต้องไปดูว่า สุดท้ายแล้ววิธีการไหนที่ กทม.มีอำนาจ ไม่ต้องเปลี่ยนกฏหมาย เอาอำนาจที่มีอยู่เดิมมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนที่อยู่ในเมือง หาช่องทางในการเอาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาเป็นทำให้เป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชนมากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวถึงการวางตำแหน่งคณะบริหารด้วยว่า ตอนนี้มีการวางตำแหน่งไว้ครบหมดแล้ว เพียงแต่รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งก่อน ซึ่งไม่สามารถไปเร่งรัด กกต.ได้ ทั้งนี้คณะบริหารแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ

1.รองผู้ว่า กทม. และเลขา มีจำนวน 5 คน
2.ที่ปรึกษาด้านการเมือง จำนวน 9 คน
3.ที่ปรึกษาที่ไม่ใช่การเมือง เน้นทางด้านวิชาการ มีจำนวนมาก ที่ยังไม่เปิดตัวในตอนเลือกตั้ง

นายชัชชาติกล่าวถึงเรื่องการย้ายศาลาว่าการ กทม. จากเสาชิงช้า ไปดินแดง ว่า คงไม่ได้ย้ายภายใน 1-2 เดือน เพราะมีสำนักงานงบประมาณ สำนักการเงินอยู่ ต้องมีการตั้งคณะกรรมการในการย้าย เป็นสิ่งดีที่หลายสำนักงานมีสำนักงานตั้งอยู่ทั้ง 2 จุด อาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี เพื่อเตรียมโครงสร้างต่างๆ

ส่วนเรื่องพนักงานกวาดขยะที่ไม่ได้รับสวัสดิการอย่างเต็มที่ นายชัชชาติกล่าวว่า มีปัญหาอยู่ 2 เรื่องในการส่งเสริมสวัสดิการพนักงานเก็บกวาดขยะ เรื่องแรก 1.ต้องตรวจสอบและปรับปรุงมาตรการบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำให้มีความยุติธรรมมากขึ้น และเรื่องที่ 2.ต้องกำหนดสวัสดิการตอบแทนให้เหมาะสม เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน

“เมื่อเช้าผมได้วิ่งริมถนน มีพนักงานเก็บกวาดขยะกลุ่มหนึ่งประมาณ 10 คน รู้ว่าผมว่าวิ่งประจำทุกเช้าตรงนี้ พนักงานคนหนึ่งได้เตรียมจดหมายมารอตั้งแต่ตี 5 ก็น่ารักดี ถ้าไม่มีพี่น้องที่คอยกวาดขยะ เมืองขะสกปรกอีกเยอะ เพราะรถขยะเก็บเป็นจุด มีความเรี่ยราดอยู่ตลอดทาง หลังจากที่พนักงานกวาดลงพื้นที่ เมืองก็จะสะอาด ไม่มีเศษขยะ ก็ต้องให้กำลังใจเขา เขาเป็นคนที่ทำให้บ้านเมืองเราสวยขึ้นจริงๆ” นายชัชชาติกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง