รีเซต

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เดินทางถึงจุดหมายลา​กรอง​จ์ 2

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เดินทางถึงจุดหมายลา​กรอง​จ์ 2
TNN ช่อง16
25 มกราคม 2565 ( 16:08 )
212
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เดินทางถึงจุดหมายลา​กรอง​จ์ 2

วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมากล้องโทรทรรศอวกาศเจมส์ เวบบ์เดินทางถึงจุดหมายลากรองจ์ 2 หรือจุด L2 มีระยะทางห่างจากโลกประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตร โดยกล้องได้ทำการเดินเครื่องยนต์นานประมาณ 297 วินาทีเพื่อทำการปรับตำแหน่งให้เข้ากับจุดลากรองจ์ 2 ซึ่งจะเป็นจุดที่กล้องโทรทรรศอวกาศตัวนี้ใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติภารกิจสำรวจอวกาศไปจนเสร็จสิ้นภารกิจ


กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศประเภทคลื่นอินฟราเรดที่จะทำงานได้ดีในอุณหภูมิต่ำ นาซาจึงติดตั้งแผ่นบังแสงดวงอาทิตย์ (Sunshield) เอาไว้หลายชั้น โดยฝั่งที่หันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ (Hot side) จะมีอุณหภูมิประมาณ 85 องศาเซลเซียส ในขณะที่อีกฝั่งของกล้อง (Cold side) มีอุณหภูมิประมาณ -233 องศาเซลเซียส เพียงพอที่จะทำให้กล้องบันทึกภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ


แม้จะเดินทางไปถึงจุดลากรองจ์ 2 ได้สำเร็จแต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์อาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5 เดือน ในการตั้งค่าความละเอียดสูงต่าง ๆ ก่อนจะสามารถถ่ายภาพแรกได้บนอวกาศหรือประมาณเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมเป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตามด้วยขีดความสามารถของกล้องนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์จะสามารถถ่ายภาพมองย้อนกลับไปกว่า 13,600 ล้านปีแสง ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบใหม่ ๆ ด้านการสำรวจอวกาศ


ก่อนหน้านี้ในวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ประสบความสำเร็จในการกางแผ่นกระจกปฐมภูมิทั้ง 18 แผ่น ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนและเสี่ยงมากที่สุดในการทำภารกิจ เนื่องจากจุดลากรองจ์ 2 มีระยะทางห่างจากโลกกว่า 1 ล้านกิโลเมตร หากเกิดข้อผิดพลาดการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปทำการซ่อมบำรุงเป็นสิ่งที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้


กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการสำรวจอวกาศและใช้งบประมาณไปกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 335,000 ล้านบาท กล้องมีชื่อเดิมว่า "Next Generation Space Telescope" ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “James Webb Space Telescope” เพื่อเป็นเกียรติให้กับเจมส์ อี. เวบบ์ อดีตผู้บริหารองค์การนาซา กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ออกเดินทางจากโลกขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 25 ธันวาคม 2021 และใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการเดินทางไปถึงจุดลากรองจ์ 2


ข้อมูลจาก nasa.gov 

ภาพจาก jwst.nasa.gov

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง