รีเซต

"บิ๊กแสนสิริ" ชี้ผลประชุม COP26 จะไม่จบอยู่ที่โต๊ะ แนะจับตา "สหรัฐฯ" ต้องใช้เป็นนโยบายกดดันการค้าโลก

"บิ๊กแสนสิริ" ชี้ผลประชุม COP26 จะไม่จบอยู่ที่โต๊ะ แนะจับตา "สหรัฐฯ" ต้องใช้เป็นนโยบายกดดันการค้าโลก
มติชน
19 พฤศจิกายน 2564 ( 15:33 )
38
"บิ๊กแสนสิริ" ชี้ผลประชุม COP26 จะไม่จบอยู่ที่โต๊ะ แนะจับตา "สหรัฐฯ" ต้องใช้เป็นนโยบายกดดันการค้าโลก

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “COP26: โลกที่ร้อนขึ้น (ไม่ใช่เฉพาะสภาพภูมิอากาศ)” โดยมีรายละเอียดว่า

 

นัยยะของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญ ไม่ได้จบอยู่แค่บนโต๊ะประชุม COP26 ในมิติด้านสภาพแวดล้อมโลกอย่างเดียวอีกต่อไป ความพยายามในการรักษาระดับอุณหภูมิบรรยากาศโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสและความพยายามควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกำลังส่งผลในด้านอื่นๆ ด้วย

 

สำนักงานที่เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงหลายๆ แห่งของสหรัฐฯ เองเริ่มออกมาพูดและให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบกับความมั่นคงของโลก ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่มหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเริ่มตระหนัก เพราะในบริบททางเศรษฐกิจ สหรัฐฯ เองถูกท้าทายจากจีนในการเป็นมหาอำนาจทางการค้า การดำรงไว้ซึ่งความเป็นมหาอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นอีกเรื่องละเอียดอ่อนที่ ปธน ไบเดนให้ความสำคัญ

 

อย่างแรกคือความตึงเครียดระหว่างประเทศอันเกิดจากแรงกดดันที่จะลดก๊าซเรือนกระจกที่แต่ละประเทศได้รับ ความตื่นตัวในเรื่องนี้สามารถกลายประเด็นที่จะหยิบยกมาสร้างข้อต่อรองหรือประนามประเทศที่มีแนวโน้มจะไม่ทำตามข้อตกลงต่างๆ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผมว่าไม่ใช่เรื่องดีในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความตึงเครียดทางด้านการค้า อุดมคติทางการเมืองก็ก่อให้เกิดความแตกแยกมากแล้ว ถ้ามีประเด็นเรื่องนี้เข้ามาเป็นตัวตีตราชี้วัดว่าประเทศไหนเป็นภาระของโลก สถานการณ์คงแย่ลง

 

ทั้งๆ ที่ก็เป็นหนึ่งประเทศที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมหาศาล แต่จีนกลับชี้นิ้วไปที่ประเทศพัฒนาแล้วว่าเป็นต้นเหตุของโลกที่ร้อนขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และมีความพยายามหลีกเลี่ยงบ่ายเบี่ยงการ “ทยอยยกเลิก” ใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าอย่างที่ประเทศต่างๆ อยากให้เกิด ดังนั้นผมเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ จะหยิบเอามาเป็นประเด็นกดดันผ่านนโยบายทางการค้า ฯลฯ ซึ่งน่าจับตาดูว่าพี่ใหญ่สหรัฐฯ ว่าจะเล่นบทไหนในสถานการณ์นี้

 

เรื่องความเท่าเทียมเสมอภาคระดับประเทศก็น่าสนใจ ประเทศกำลังพัฒนากล่าวหาว่าภาวะโลกร้อนเป็นผลมาจากการเร่งพัฒนาความเจริญทางอุตสาหกรรมของประเทศที่พัฒนาแล้วในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา วันหนึ่งเมื่อตัวเองเจริญแล้วจะมาบังคับห้ามประเทศอื่นใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในอุตสาหกรรมและกิจกรรมอื่นที่เพื่อผลักดันเศรษฐกิจก็ไม่ใช่เรื่องที่ยุติธรรมเสียเท่าไหร่ ยิ่งกว่านั้น ต้องยอมรับว่าบรรดาประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการรับมือกับปัญหาภูมิอากาศที่เกิดขึ้นด้วย ถ้าจะให้ดีข้อตกลงเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกควรมาพร้อมกับแนวทางความช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน เงินสนับสนุนการวิจัย ฯลฯ ไม่ใช่เอาแต่รวมหัวกันแล้วบอกให้ทุกคนทำให้ได้ ซึ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจชะงักงันทั่วโลกต้องดูว่าเรื่องนี้จะได้รับความใส่ใจมากน้อยแค่ไหน

 

แรงกดดันตรงนี้จะส่งผลให้ประเทศเหล่านี้รู้สึกว่ายิ่งเสียเปรียบ ไม่มีความเท่าเทียม ลองนึกภาพประเทศอย่างเกาหลีเหนือ ซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและสภาพชีวิตของประชาชนให้แย่ลงไปอีก ถ้าเค้าเห็นว่าไอ้ปัญหานี้มันเกิดจากประเทศโลกตะวันตก โดยเฉพาะคู่ปรับพี่ใหญ่สหรัฐฯ หรือประเทศเพื่อนบ้านกันเองซึ่งก็ยังคงมีความขัดแย้งซ่อนลึกอยู่ นโยบายต่างประเทศโดยรวมก็จะมีความแข็งกร้าวและและต่อต้านมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ

 

อีกปัญหาที่จะเกิดเยอะมากขึ้นก็คือเรื่องการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานทั้งภายในประเทศเองและข้ามประเทศเพื่อหนีสภาพภูมิอากาศที่ใช้ชีวิตได้ยากลำบาก อย่างสหรัฐฯ เองก็มีปัญหาการอพยพจากประเทศเพื่อนบ้านที่เจอเหตุสภาพอากาศแบบสุดโต่งอยู่บ่อยครั้ง ทำลายชีวิตและความเป็นอยู่ จำให้ต้องโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า หรือผู้ลี้ภัยอาฟริกาและตะวันออกกลางไม่ได้หนีสงครามกลางเมืองอย่างเดียวแต่จะหนีสภาพอาศที่ไม่เหมาะกับการดำรงชีวิตด้วย จะนำมาซึ่งนโยบายการรับผู้อพยพและสวัสดิการรัฐที่ต้องปรับอย่างแน่นอน

 

การชิงความได้เปรียบในเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศก็เป็นอีกเรื่องที่เป็นผลมาจากโลกที่ร้อนขึ้น อย่างเรื่องการแย่งชิงความได้เปรียบในภูมิภาคขั้วโลกเหนือที่น้ำแข็งละลายเพิ่มขึ้นเปิดช่องทางเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิคให้กว้างขึ้น ใหญ่ขึ้น อาจส่งผลให้เกิดความตึงเครียดเพื่อแย่งชิงทรัพยากรและช่องทางเดินทะเลในเชิงพาณิชย์ระหว่างรัสเซีย จีน แคนาดา สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ อีกมากมาย

 

สำหรับประเทศไทยเอง เราก็ต้องเล่นไปตามบทบาทที่เราได้รับปากเอาไว้ในเวที COP26 และฝากรัฐบาลชุดนี้และชุดต่อๆ ไปที่จะพยายามนำพาประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ พูดไปแล้วขอให้มีโรดแม็ปและแอ็กชั่นแพลนทางนโยบายให้ชัด ปีไหนจะบังคับใช้กฎหมายอะไร ลดอะไร เพิ่มอะไรกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อไหร่ ตั้งเป้าไว้เลย เมื่อตั้งเป้าแล้วก็ควรเริ่มหากระบวนการที่เหมาะสม โดยปรึกษากับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องของเราทุกคน การหารือและรับฟังหลายๆ ด้านเป็นเรื่องที่สำคัญในการที่จะได้มาซึ่งการเห็นชอบและอยากมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ครับ

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง