(ภาพThe Scream, 1893 by Edvard Munch) ในชั่วโมงของการเรียนศิลปะได้นำภาพ The Scream หรือเสียงกรีดร้อง ภาพวาดของ Edward Munch จิตรกรชาวนอร์เวย์ ภาพที่มีคน ๆ หนึ่ง ซึ่งไม่สามารถระบุเพศได้ว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง สีหน้าที่กำลังหวาดกลัวและวิตกกังวล เอามือปิดหูไว้ทั้ง 2 ข้าง ยืนอยู่บนสะพาน ท่ามกลางท้องฟ้าสีแดงส้ม เหมือนเปลวเพลิง มีคนกำลังเดินอยู่ข้างหลัง 2 คน ให้เด็ก ๆ ได้นำภาพนี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ โดยให้โจทย์กับเด็ก ๆ ไปว่าให้เปลี่ยนคนที่กำลังยืนปิดหู สีหน้าวิตกกังวลบนสะพาน เป็นตัวการ์ตูนที่สนใจ แต่ต้องวาดให้การ์ตูนตัวนั้นแสดงอารมณ์ ความรู้สึกให้คล้ายคลึงกับภาพ The Scream มากที่สุด รวมไปถึงบริบทรอบ ๆ ไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้า สะพาน แม่น้ำ ภูเขาต่าง ๆ ด้วย โดยในวันนี้จะนำกระบวนการสอน และผลงานนักเรียนมาให้ทุกคนได้ชมและนำไปเป็นแรงบันดาลใจค่ะขั้นตอนการสอน1. นำภาพThe Scream มาให้เด็ก ๆ ดู พร้อมทั้งอธิบาย สนทนาร่วมกัน2. สาธิตการวาดภาพให้เด็ก ๆ ดู พร้อมทั้งอธิบายเรื่องของขนาด การจัดองค์ประกอบ จุดเด่นของภาพ3. ให้เด็ก ๆ เลือกตัวการ์ตูนที่สนใจ4.ลงมือวาดภาพ และลงสีให้สวยงามนี่คือผลงานของเด็กๆนะคะ ภาพสีไม้ นำเส้นต่าง ๆ (เส้นโค้ง เส้นตรง เส้นเฉียง เส้นไร้ทิศทาง) มาใช้ในงานโดยให้นักเรียนได้ฝึกสังเกตเส้น สีของภาพThe Scream ของ Edward Munch ที่นำมาเป็นแรงบันดาลใจ และสื่อสารอารมณ์ผ่านตัวการ์ตูนที่ชอบ จัดวางตำแหน่งของตัวการ์ตูนให้เหมาะสม นักเรียนได้ลากเส้นอย่างอิสระ และสนุกสนานกับการเลือกตัวการ์ตูนที่สนใจ ภาพสีโปสเตอร์บนกระดาษร้อยปอนด์คุณสมบัติของสีโปสเตอร์ จะทึบแสง ก่อนจะระบายสีโปสเตอร์ จะต้องเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนี้ จานสี พู่กัน ผ้าเช็ดพู่กัน กระบอกใส่น้ำ กระดาษที่เหมาะสมกับการระบายสีโปสเตอร์คือกระดาษร้อยปอนด์ขึ้นไปค่ะ เพราะสีโปสเตอร์ต้องใช้น้ำเป็นส่วนผสม ถ้าใช้กระดาษบาง ๆ ก็จะไม่อุ้มน้ำ และขาดได้ง่าย และที่ขาดไม่ได้ก็คือสีโปสเตอร์นั่นเอง โดยถ้างบไม่เยอะ ก็ซื้อแม่สีมา3 สี (แดง เหลือง น้ำเงิน) นำมาผสมกันเอง และซื้อสีขาวกับดำมาเพิ่ม โดยในภาพนักเรียนพยายามใช้สีสัน และจัดองค์ประกอบภาพให้มีความคล้ายคลึงกับภาพThe Scream ของ Edward Munch ให้ได้มากที่สุด สื่อสารอารมณ์ภาพของคนที่ยืนเอามืออุดหู สีหน้าวิตกกังวล หวาดกลัว ผ่านตัวการ์ตูนที่สนใจ ผลงานสีโปสเตอร์ของนักเรียนสวยงามมาก ๆ ค่ะ มีการระบายสีไล่น้ำหนัก เพื่อให้ภาพดูมีมิติมากขึ้นด้วย การทำงานในครั้งนี้เด็ก ๆ ได้ฝึกสังเกตภาพ สังเกตสี เส้น อารมณ์ ความรู้สึกของภาพ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานของตนเอง นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ฝึกความอดทน เรียนรู้อย่างมีความสุขค่ะ สามารถนำไปใช้สอนเด็ก ๆ ได้นะคะ เครดิตภาพ : ผู้เขียนถ่ายเอง