เชียงใหม่ เมืองที่มีมนต์เสน่ห์ ที่ใครมาต้องหลงใหลไปกับ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต โดยเฉพาะคำเมืองหรือภาษาเหนือเป็นเอกลักษณ์ที่ฟังดูแล้วต่อนยอน อ่อนช้อย ชวนให้หลงใหล แต่ก็มีสำเนียงที่ไม่ได้ต่อนยอนเสมอไป วันนี้จะชวนทุกคนมารู้จักสำเนียงภาษาเหนือในจังหวัดเชียงใหม่ ว่าพื้นที่ไหนใช้สำเนียงอย่างไรและแต่ละสำเนียงต่างกันอย่างไร รวมไปถึงตัวอย่างคำที่แต่ละถิ่นใช้เรียก ใครใช้สำเนียงหรือเคยได้ยินสำเนียงแบบไหนลองมาดูกันอย่างที่ทราบกันว่า ภาษาเหนือจะมีสำเนียงแบ่งออกเป็น 2 สำเนียงใหญ่ ๆ คือ สำเนียงล้านนาตะวันออก ได้แก่จังหวัดเชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ส่วนสำเนียงล้านนาตะวันตก ได้แก่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เอาเป็นว่าเรียก สำเนียงเชียงใหม่ กับ สำเนียงเชียงราย ละกันจะได้เข้าใจง่าย โดยขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น คำว่า น้ำร้อน สำเนียงเชียงใหม่ จะเปลี่ยน ร เป็น ฮ ส่วนการออกเสียง วรรณยุกต์เดิม เสียงเดิม เป็น น้ำฮ้อน ส่วนสำเนียงเชียงราย เปลี่ยน ร เป็น ฮ เหมือนกัน แต่การออกเสียง ไม่ใช่ เสียงวรรณยุกต์เดิมแล้วจะเปลี่ยนเป็น น้ำฮ๊อน จะสังเกตว่าสำเนียงเชียงใหม่นั้นจะอ่อนช้อย เนิบ ช้า ส่วนสำเนียงเชียงรายจะสั้น ห้วน ดุดันจากสำเนียงภาษาเหนือตะวันตกและตะวันออกนั้น เชียงใหม่เป็นเมืองที่ติดกับหลายจังหวัดไม่ว่าจะเป็นเชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน ตาก จากการที่มีอำเภอติดกับหลายจังหวัด จึงทำให้คนในเชียงใหม่นั้นมีสำเนียงที่แตกต่างกันออกไป ขอแบ่งเป็นสำเนียงเชียงใหม่สายเหนือและสำเนียงเชียงใหม่สายใต้ จะได้ง่ายต่อการเข้าใจโดยสำเนียงสายเหนือตั้งแต่ แม่อาย เชียงดาว พร้าว จะพูดกระชับกว่าสายใต้ จะใช้ ฮ แทนตัว ร เช่น ฮู้ หมู่เฮา เฮือน โฮงเฮียน ฮ้อนขนาด ฮังเพิ้งหลวง ตั๋วฮักเปิ้นก่อ ฮีตฮอย ฮ้องเพลง ส่วนสำเนียงทางสายใต้ ตั้งแต่ สันป่าตอง จอมทอง ฮอด ดอยเต่า จะมีเสียงนาสิกเวลาพูด เช่น ไปหน๋าย ม่วนจ๋อย ร้องห้อย จะไปไปป๋าย บะป๊าว จ๊าง เจียงหม๋าย จะทำจะดอย น้ำตาหลอย ปลูกผักปลูกม้อย แนะนำให้ฟังเพลงหนุ่มดอยเต่า ของวงนกแล แล้วทุกคนจะเข้าใจสำเนียงเชียงใหม่สายใต้มากยิ่งขึ้น สำเนียงเชียงใหม่ เป็นสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ ที่ฟังแล้วต่อนยอน อ่อนช้อย ถึงแม้จะมีหลากหลายสำเนียงในเชียงใหม่ ไม่ว่าจะสำเนียงสายเหนือหรือสายใต้ เราก็เป็นสายใยของความเป็นล้านนาเหมือนกัน ดังนั้นเราควรรักษาและเห็นคุณค่าของภาษาถิ่น วัฒนธรรมมาพร้อมกับภาษา อย่าให้ภาษาถิ่นต้องสูญหายไปในรุ่นเรา ร่วมกันใช้ภาษาถิ่นเพื่อสืบสานความเป็นล้านนา ดังคำกล่าวที่ว่า กำเมือง ถ้าคนเมืองบ่อู้ แล้วไผจะอู้ ภาพหน้าปก โดย 龔 月強 จาก Pexelsภาพที่ 1 โดย icon0.com จาก Pexelsภาพที่ 2 โดย icon0.com จาก Pexelsภาพที่ 3 โดย Tim Durgan จาก Pexelsภาพที่ 4 โดย 龔 月強 จาก Pexelsอัปเดตข่าวสาร และแหล่งเรียนรู้หลากหลายแบบไม่ตกเทรนด์ บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !