รีเซต

คลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาดทรายแก้ว อ.ถลาง ภูเก็ต หอบขยะขึ้นมาบนถนน ร้านค้าเสียหาย

คลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาดทรายแก้ว อ.ถลาง ภูเก็ต หอบขยะขึ้นมาบนถนน ร้านค้าเสียหาย
มติชน
3 กรกฎาคม 2565 ( 16:25 )
138
คลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาดทรายแก้ว อ.ถลาง ภูเก็ต หอบขยะขึ้นมาบนถนน ร้านค้าเสียหาย

รายงานข่าวจากจังหวัดภูเก็ตวันที่ 3 กรกฎาคมนี้แจ้งว่า ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง มาตั้งแต่ คืนวันที่ 2 กรกฎาคม เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรงทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรงหรือมีคลื่นสูง 2-3 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ หาดทรายแก้ว บ้านท่าฉัตรไชยตำบลไม้ขาวอำเภอถลางจังหวัดภูเก็ต ที่เป็นชายหาดด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ รวมทั้งมีถนน เทพกษัตรี ขาออกนอกเมืองภูเก็ต เป็นถนนขนานกับชายหาดแห่งนี้ เชื่อมโยงไปสู่สะพานท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ที่ข้ามไปยังบ้านท่านุ่นตำบลโคกกลอยอำเภอตะกั่วทุ่งจังหวัดพังงา

 

ทั้งนี้สภาพอากาศที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงและทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่และระดับน้ำทะเลขึ้นสูงซัดและบ่าไหลเข้ามาบริเวณชายหาด ที่เป็นแนวต้นสนทะเลและป่าชายหาด และ ยังเอ่อล้นไปบนถนนเทพกษัตรี มีเศษท่อนไม้ ทราย ขยะขึ้นมาพร้อมกันด้วย ส่งผลทำให้ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มของเจ้าหน้าที่ ศูนย์บริการท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติสิรินาถได้รับความเสียหาย ส่วนหนึ่งในขณะเดียวกันยานพาหนะที่สัญจรขาออกต้องใช้ความระมัดระวังและเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ อย่างต่อเนื่องในเบื้องต้นองค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาวได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรท่าฉัตรไชย เข้าไปดูแลอำนวยความสะดวก ด้านการจราจรและตรวจสอบสภาพพื้นที่และความเสียหายในขณะที่จังหวัดภูเก็ต โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวมทั้งอำเภอถลางได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลในพื้นที่หาดทรายแก้วและพื้นที่ชายฝั่งทะเลต่างๆรอบเกาะภูเก็ต เพื่อสำรวจความเสียหายเช่นเดียวกัน

วันเดียวกันนี้ นายณชพงศ ประนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต กล่าวถึงกรณีที่มีน้ำทะเลหนุนเอ่อท่วมพื้นผิวบริเวณถนนช่วงหาดทรายแก้วและใกล้เคียงว่าเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศพายุโซนร้อนกำลังแรง ‘ชบา’ เรือเล็กอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งถึง วันที่ 6 กรกฎาคมนี้ ส่วนสาเหตุเกิดจากในช่วงนี้มีคลื่นลมมรสุมและมีฝนตกในทะเล ซึ่งมีผลมาจากสภาพอากาศบริเวณมหาสมุทรอินเดีย และประกอบกับน้ำทะเลขึ้นสูง ทำให้น้ำหนุนขึ้นมาถึงผิวถนน และคลื่นได้ซัดขึ้นมาบนฝั่ง คาดว่าไม่นานน้ำทะเลน่าจะลดลงมาสู่ระดับปกติ

ในขณะที่นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการกลางลงนามในหนังสือในราชการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางด่วนที่สุดที่ มท (กปภก)0610 /119วันที่ 3กรกฎาคม 2565ถึงผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ตระบุข้อความว่ากองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1(150/2565) ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2565เวลา 05.00 น. แจ้งว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน มีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2เมตร

โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม2565 ดังนี้ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อ.เมืองฯ สุขสำราญ กะเปอร์) พังงา (อ.เมืองฯ เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี) และภูเก็ต (อ.เมืองฯ กะทู้ ถลาง)

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ รวมทั้งลดผลกระทบจาก สถานการณ์ดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ดำเนินการดังนี้ 1. ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ กำลังพล ให้พร้อมสนับสนุนจังหวัดตลอด 24ชั่วโมง

2. กรณีประเมินสถานการณ์แล้ว คาดว่าจะเกิดสถานการณ์ หรือสถานการณ์ขยายวงกว้างให้มอบหมายบุคลากร ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการไปปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ขึ้นการบังคับบัญชาต่อผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้อำนวยการจังหวัดโดยประสานการปฏิบัติกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด

3. กรณีทรัพยากรเพื่อสนับสนุนในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบไม่เพียงพอ ให้ประสานขอรับการสนับสนุนจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตใกล้เคียง และ 4. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โทรศัพท์หมายเลข 02 3994 114หากข้อมูลคาดการณ์สถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง