รีเซต

ข่าวดี! สหรัฐฯชวนมหาอำนาจละเว้นสิทธิบัตรวัคซีนโควิด

ข่าวดี! สหรัฐฯชวนมหาอำนาจละเว้นสิทธิบัตรวัคซีนโควิด
TNN ช่อง16
7 พฤษภาคม 2564 ( 11:29 )
60
ข่าวดี! สหรัฐฯชวนมหาอำนาจละเว้นสิทธิบัตรวัคซีนโควิด

ท่าทีสหรัฐ


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ สนับสนุนการละเว้นสิทธิบัตรคุ้มครองวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อให้นำสูตรวัคซีนไปผลิตได้ทั่วโลก หลังเผชิญแรงกดดันจากสมาชิกสภาคองเกรสพรรคเดโมแครตและอีกกว่า 100 ประเทศ 


“แคทเธอรีน ไท่” ผู้แทนการค้าสหรัฐ แถลงว่า แม้ทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่นี่คือวิกฤตสาธารณสุขโลก เป็นกรณีแวดล้อมพิเศษของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่จำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษในการรับมือ ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐฯจึงสนับสนุนการละเว้นสิทธิบัตรคุ้มครองวัคซีนต้านโควิด เพื่อยุติการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ให้ได้


ด้าน "เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส" ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ทวีตข้อความว่า ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำในการต่อสู้กับโควิด-19 และสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้นำทางปัญญาและศีลธรรมของสหรัฐอเมริกา


ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกรายงานว่า มีการใช้วัคซีนทั่วโลกแล้วราว 700 ล้านโดส โดยในจำนวนนั้น เพียง 0.2% เท่านั้นคือการฉีดวัคซีนในชาติที่มีรายได้ต่ำ


ก่อนหน้านี้ แอฟริกาใต้และอินเดียได้เสนอให้มีการยกเว้นสิทธิบัตรวัคซีนโควิดไปยังองค์การการค้าโลกเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากที่มองว่า การยกเว้นสิทธิบัตร จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้มีวัคซีนใช้งานได้ในวงกว้างอย่างไรก็ตาม สหรัฐฯและประเทศอื่นๆ ต่อต้านการเจรจาดังกล่าวที่ WTO  


ท่าทีอียู


อูร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานาคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า อียูพร้อมหารือข้อเสนอการยกเว้นสิทธิบัตรของวัคซีนโควิด-19 ตามที่สหรัฐฯเสนอ ก่อนหน้านี้ อียูร่วมกับประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทเวชภัณฑ์ เช่นอังกฤษและสวิสเซอร์แลนด์ ในการคัดค้านแผนการนี้ โดยระบุว่าการทำเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่บริษัทต่างๆควรจะได้รับ ทั้งๆที่เร่งพัฒนาอย่างรวดเร็ว และจะส่งผลต่อการพัฒนายาเพื่อรับมือโรคระบาดในอนาคต 


นอกจากนี้ การยกเว้นสิทธิบัตรไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะโลกยังขาดศักยภาพในการผลิตที่เพียงพอ เพราะการผลิตวัคซีนนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ดูได้จากกรณีของ AstraZeneca ที่ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความรู้และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ


ทำไมหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย


กลุ่มล็อบบี้ที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเตือนว่า กระบวนการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของไบเดน จะบ่อนทำลายบริษัทผู้ผลิตวัคซีน อาจส่งผลต่อการรับมือกับโรคระบาดและความปลอดภัยของวัคซีน


บรรดาผู้ผลิตวัคซีนยักษ์ใหญ่ยืนยันว่า สิทธิบัตรวัคซีนไม่ใช่อุปสรรคหลักในการเพิ่มกำลังการผลิต และเตือนว่าการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆในอนาคต


นักวิเคราะห์มองว่าการละเว้นสิทธิบัตรวัคซีนเป็นเรื่องซับซ้อน และการผลิตวัคซีนในแหล่งใหม่จะเป็นการแย่งวัตถุดิบในการผลิตวัคซีนของโรงงานเดิมที่ผลิตวัคซีนได้ดีอยู่แล้ว นอกจากนี้บริษัทยาในประเทศที่ร่ำรวยหลายแห่ง ก็ทำข้อตกลงในการส่งมอบเทคโนโลยีและความรู้ในการผลิตวัคซีนต้านโควิดแก่ประเทศต่างๆ กว่า 200 ฉบับโดย ไม่จำเป็นต้องมีการละเว้นสิทธิบัตรวัคซีนแต่อย่างใดอยู่แล้ว


มีรายงานว่า หุ้นของ Moderna  และ Novavax  ลดลงหลายเปอร์เซ็นต์ในการซื้อขายปกติ ส่วนหุ้นของ Pfizer ลดลงเล็กน้อย ขณะที่ผู้ผลิตวัคซีนในสหรัฐฯจะพยายามทำให้การละเว้นสิทธิบัตรวัคซีนอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่แคบที่สุดที่จะเป็นไปได้


ด้านเยอรมนี ซึ้งเป็นที่ตั้งของบริษัท BionTech ที่พาร์ตเนอร์กับบริษัท Pfizer ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้แล้ว โดยชี้ว่า สิ่งที่เป็นข้อจำกัด คือศักยภาพในการผลิตวัคซีน โดยเฉพาะการจัดหาซัพพลายต่างๆ ไม่ใช่ทรัพย์สินทางปัญญา


ขณะที่นักการเมืองฝั่งรีพับบลิกันเอง ยังแสดงความกังวลส่า การยกเว้นสิทธิบัตร จะทำให้เทคโนโลยีของอเมริกาไปสู่มือของจีน โดยจีนจะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากกว่า


ขั้นตอนต่อไปยังไม่ง่าย


แถลงการณ์ของฝั่งสหรัฐฯครั้งนี้ ปูทางไปสู่การเจรจากับ 164 ชาติสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO  เพื่อให้ลงมติเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การเจรจาอาจใช้เวลาหลายเดือน


ทั้งนี้ สิ่งที่อินเดียและแอฟริกาใต้เสนอ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว คือการขอให้ละเว้นสิทธิบัตรวัคซีน การรักษา ชุดตรวจวินิจฉัยโรค เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกันต่างๆ และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ใช้ในการรับมือโควิด-19


การเจรจาในข้อเสนอของสหรัฐฯนี้ จึงจะเน้นไปที่จะยกเว้นสิทธิทรัพย์สินทางปัญหาในกรอบที่แคบลง และต้องใช้เวลาให้สั้นกว่าข้อเสนอแรกที่อินเดียและแอฟริกาใต้เสนอ ซึ่งใช้เวลาถึงเจ็ดเดือนแต่ยังไม่มีความคืบหน้า


แคทเธอรีน ไท่ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯระบุว่า ขั้นตอนคือการเจรจาเนื้อหาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นขั้นตอนมาตรฐานแต่เป็นกระบวนการที่หนักในการเจรจาการค้า โดยเฉพาะผู้เจรจาแต่ละฝ่ายต้องหารือเรื่องการใช้คำที่เหมาะสม และต้องเห็นพ้องร่วมกัน ซึ่งระหว่างทางอาจมีประเทศใดประเทศหนึ่งคัดค้าน


ขณะเดียวกัน หากการเจรการสำเร็จด้วยดี จะถือเป็นผลงานและสร้างบรรยากาศที่ดีต่อ WTO ซึ่งล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงในนโยบายการค้าใหม่ที่สำคัญๆ มาตั้งแต่ปี 1995 และอาจนำไปสู่การเจรจาในกรอบที่กว้างขึ้นอื่นๆของ WTO ในอนาคต



ข่าวที่เกี่ยวข้อง