รีเซต

'บิ๊กลือ' ตรวจเยี่ยม ศรชล ภาค2 เร่งแก้ไขปัญหาการบุกรุกอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี

'บิ๊กลือ' ตรวจเยี่ยม ศรชล ภาค2 เร่งแก้ไขปัญหาการบุกรุกอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี
มติชน
24 มิถุนายน 2563 ( 16:16 )
199
'บิ๊กลือ' ตรวจเยี่ยม ศรชล ภาค2 เร่งแก้ไขปัญหาการบุกรุกอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่จ.สุราษฎร์ธานี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และ พล.ร.อ. สิทธิพร มาศเกษม เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะ เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (เลขาธิการ ศรชล.) พร้อม คณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ ได้เดินทางลงพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานี ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะบริเวณอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี ของ เจ้าหน้าที่ประจำ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย และแก้ไขปัญหาการบุกรุก พื้นที่สาธารณะ บริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ศรชล.ภาค 2 ณ วัดชลธาร ต.บางไทร อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี โดยมี พล.ร.ท.สำเริง จันทร์โส ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 / ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 2 (ศรชล.ภาค 2) นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจ.สุราษฎร์ธานี / ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจ.สุราษฎร์ธานี น.อ.วศากร สุนทรนันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจ.สุราษฎร์ธานี พร้อมเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ ศรชล.ภาค 2 และ ศรชล.จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมลงพื้นที่ ซึ่งการตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการติดตามการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะบริเวณอ่าวบ้านดอน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม แล้ว ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ความกดดันของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

 

ทั้งนี้ ผบ.ทร.ในฐานะ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะบริเวณอ่าวบ้านดอน ประกอบด้วย
1. ให้กลุ่มผู้ประกอบการหรือผู้ที่อ้างสิทธิ์ในการครอบครองพื้นที่สาธารณะโดยมิชอบด้วยกฎหมายบริเวณอ่าว บ้านดอน คืนพื้นที่สาธารณะด้วยความเต็มใจ 2. สำรวจสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ครอบครองพื้นที่สาธารณะโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 3. รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งปวง เช่น คอกหอย ขนำ และดำเนินคดีถึงที่สุด 4. จัดระเบียบ กำหนดมาตรการหรือแนวทางต่าง ๆ เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

 

สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ดำเนินการ ตามแผนงานในพื้นที่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี และ อ.พุนพิน ระยะที่ 2 ดำเนินการตามแผนงานในพื้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์ ระยะที่ 3 ดำเนินการตามแผนงานในพื้นที่ อ.ไชยา และ อ.ท่าฉาง โดยศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 2 จะอำนวยการในการดำเนินการทั้งปวง และให้การสนับสนุนช่วยเหลือศูนย์อำนวยการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจ.สุราษฎร์ธานีอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อผลประโยชน์โดยตรงของประชาชน และประเทศชาติ โดยมีหน่วยร่วมดำเนินการประกอบด้วยหน่วยงานในจ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่
1. ประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี 2. เจ้าท่าภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี 3. กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งที่ 4 4. กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ 5. ด่านศุลกากรบ้านดอน 6.เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจ. สุราษฎร์ธานี 7. ตำรวจภูธรจ.สุราษฎร์ธานี

 

ขณะที่ ทัพเรือภาคที่ 2 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 2ได้ขอรับการสนับสนุนกำลังพลจาก ทัพเรือภาค 2 ออกลาดตระเวนดูแล ความเรียบร้อยในพื้นที่อ่าวบ้านดอน โดยการกำหนดมาตรการต่าง ๆ นั้น มีความมุ่งหวังเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่สาธารณะของอ่าวบ้านดอนได้อย่างเท่าเทียม บนพื้นฐานของความถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อร่วมกันสร้างผลผลิตให้ทรัพยากรหอยแครงคงความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป

 

ผบ.ทร. ได้ให้โอวาทแก่เจ้าหน้าที่ประจำกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณาบริเวณอ่าวบ้านดอนฯ โดยมีใจความสำคัญว่า”วันนี้เป็นประวัติศาสตร์หน้าแรกของ ศรชล.ภาค ที่ 2 และประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ของ ศรชล.อย่างเต็มที่ แต่ก่อนนี้ในการทำงานทางเรือทางทะเลก็ต่างคนต่างทำแต่ ณ บัดนี้มีพระราชบัญญัติ ศรชล. เกิดขึ้นแล้ว บางคนอาจจะเข้าใจได้ง่ายว่าคือ การรักษาความมั่นคงทางทะเลหรือ กอ.รมน.ในทะเล ซึ่งแตกต่างจาก กอ.รมน.ทางบก อย่างมาก อีกบทบาทหนึ่งคือ นับจากนี้ต่อไปคำว่า “ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล” จะปรากฏขึ้นโดยลำดับ เหตุการณ์ของการแย่งหอยแครงในทะเล ต้องแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กับผลประโยชน์ส่วนตนทางทะเล เราจะไม่ยอมให้ผลประโยชน์ส่วนตน มาอยู่เหนือผลประโยชน์ของชาติโดยเด็ดขาด ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่กล้าหาญในการแก้ปัญหาที่จะเผชิญกับความไม่ชอบมาพากลของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือกลุ่มคนที่ประกาศยกเลิกการสร้างขนำในทะเล ขอให้ข้าราชการใน ศรชล. และกองทัพเรือได้ตระหนักว่านี่คือความมั่นคงไม่ใช่การผิดกฎหมายโดยปกติทั่วไป ในปีที่แล้วหลายคนคงรับทราบและจำได้ก็คือที่เรียกว่า seasteading คือการสร้างที่พักอาศัยในทะเลโดยมิชอบทางกฎหมาย”

“แต่ในวันนี้สิ่งปลูกสร้างในทะเลที่อ่าวบ้านดอน มีความร้ายแรงกว่า เพราะเป็นการสร้างกันอย่างถาวรในทะเล เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องทำ ขอให้ทุกท่านทุกคนจงตระหนักในข้อนี้ให้ดี บทบาทหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการใน ศรชล. ขอจงร่วมมือร่วมใจกันทำงานนี้เพื่อชาติให้สำเร็จ จงอย่าได้แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ขอให้อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ตรงไปตรงมา อย่าได้เป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าทหารข้าราชการต้องทราบดี ปัจจุบันอุดมการณ์ชาติน้อยลงไป ผมได้ย้ำเตือนกำลังพลในกองทัพเรืออยู่เสมอว่าแต่ก่อนนี้ เราสู้กับกระสุนเหล็ก แต่วันนี้ที่ร้ายแรงกว่ากระสุนเหล็ก ก็คือกระสุนน้ำตาล เรามักหลงใหลไปกับความชื่นชม ความสะดวกสบาย ลาภสักการะ จนลืมชาติบ้านเมือง ลืมเรื่องความมั่นคง ขอให้ตระหนักข้อนี้ให้ดี ตราบใดที่เราไม่หลงกระสุนน้ำตาล ก็เชื่อว่าจะแก้ปัญหานี้ไปได้ด้วยดี บนพื้นฐานของความเข้าใจของทุกฝ่าย จงเข้าใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนหาเช้ากินค่ำที่ถูกรังแกจากผู้มีอำนาจที่เหนือกว่าโดยมิชอบ ขอเป็นกำลังใจให้ปฏิบัติงานไปด้วยความเรียบร้อยหากมีข้อเหลือบ่ากว่าแรงขอจงรีบรายงานและขอจงทำงานด้วยความสมัครสมานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว ประตูบ้านถ้าปิดอยู่แมลงวันย่อมไม่เข้าฉันใด เช่นเดียวกันหากเราสามัคคีกันเป็นหนึ่งเดียว ก็จะทำให้สิ่งที่ไม่ชอบมาพากลจะสูญสลายไปได้โดยสิ้นเชิง จงยึดคำพูดคำนี้ เป็นประโยชน์เป็นในการนำทางส่องการแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองต่อไปในอนาคต”ผบ.ทร.กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง