โควิด-19 บีบ 'วัยรุ่น-ผู้หญิง' ในเอเชียอาคเนย์ เสี่ยงตกงานมากสุด
ข่าววันนี้ 16 ธ.ค. (ซินหัว) -- รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งเผยแพร่วันพฤหัสบดี (16 ธ.ค.) ระบุว่าวัยรุ่นและผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบหนักหน่วงจากการสูญเสียงานในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
รายงานว่าด้วยตลาดแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับนี้พบผู้มีอายุ 15-24 ปี ซึ่งครองสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของแรงงานในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เผชิญการสูญเสียงานสูงถึงร้อยละ 45 ณ จุดสูงสุดของการระบาดใหญ่ในปี 2020
สำหรับไทย ผู้หญิงครองสัดส่วนร้อยละ 60 ของการสูญเสียงานทั้งหมดในไตรมาสสองของปี 2020 โดยตัวเลขดังกล่าวในภาคการผลิตสูงถึงร้อยละ 90
รายงานชี้ว่าแรงงานอายุน้อยมีแนวโน้มตกงานมากกว่า เนื่องจากภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนัก อาทิ โรงแรมและร้านอาหาร และการค้าส่งและค้าปลีก จ้างแรงงานอายุน้อยมากกว่า ขณะที่ผู้หญิงมีแนวโน้มออกจากงานมากกว่าผู้ชาย เพื่อมาดูแลครอบครัวในช่วงเกิดโรคระบาดใหญ่
การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน อุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ลดลง ข้อจำกัดการเดินทาง และศักยภาพการทำงานทางไกลที่มีจำกัด ล้วนส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างอย่างเห็นได้ชัดในภาคเกษตรกรรม ค้าส่ง และค้าปลีก
นอกจากนั้นโรคระบาดใหญ่ยังทวีความไม่เท่าเทียมระหว่างแรงงานมีฝีมือและไร้ฝีมือ ส่งผลเสียต่อแรงงานฝีมือปานกลางและต่ำ เนื่องจากพวกเขาถูกแทนที่ด้วยการทำงานของระบบอัตโนมัติหรือถูกย้ายไปที่อื่น โดยแรงงานกลุ่มเปราะบางที่สุด ได้แก่ แรงงานนอกระบบ พนักงานอิสระ พนักงานชั่วคราว และแรงงานต่างถิ่น
"แม้รัฐบาลจะรับมือกับปัญหาดังกล่าว แต่โรคโควิด-19 ยังเผยให้เห็นช่องว่างในการคุ้มครองทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจ้างงานนอกระบบอย่างต่อเนื่องในระดับสูงทั่วทั้งภูมิภาค" ราเมซ สุบรามาเนียม ผู้อำนวยการธนาคารฯ ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
สุบรามาเนียมเผยว่าการมุ่งเป้าไปที่นโยบายการคลังในระหว่างการฟื้นตัวนั้นสามารถเปลี่ยนจากการบรรเทาทุกข์เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปสู่การลงทุนเชิงโครงสร้างที่จะส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมมากขึ้น
ด้านอายาโกะ อินางากิ ผู้อำนวยการธนาคารฯ ฝ่ายพัฒนามนุษย์และสังคมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าโรคระบาดใหญ่ บวกกับความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวและความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ตอกย้ำความจำเป็นของนโยบายการคลัง ซึ่งจะช่วยเพิ่มการลงทุนด้านการคุ้มครองทางสังคมและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ได้
อินางากิเสริมว่าประเทศต่างๆ ควรส่งเสริมการลงทุนในทุนมนุษย์และระดมทรัพยากรภายในประเทศ เพื่อจัดตั้งโครงการการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และเพิ่มเงินสมทบประกันสังคม