การนำพืชสมุนไพรมาใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ นั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งคนสมัยก่อนก็ได้มีการศึกษาค้นคิดวิธีการนำพืชสมุนไพรที่หาได้จากธรรมชาติ เพื่อให้สามารถนำมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องกับอาการที่เป็นและมีประสิทธิภาพ ซึ่งพืชสมุนไพรนั้นก็มีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ละชนิดก็ล้วนมีสรรพคุณที่สามารถนำมาใช้ได้แตกต่างกันไป ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้เราจะนิยมใช้ยาแผนปัจจุบันเป็นหลัก แต่คุณค่าของพืชสมุนไพรไทย ก็ยังควรได้รับการอนุรักษ์ไว้ เพราะหากมีการศึกษาและอนุรักษ์อย่างจริงจังแล้ว ก็จะพบว่าพืชสมุนไพรหลายชนิดก็สามารถนำมาสกัดใช้ หรือผลิดเป็นยาแผนปัจจุบันได้ ผู้เขียนจึงมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการนำข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสมุนไพรมาเผยแพร่ให้ความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไป เพื่อให้ทราบถึงลักษณะและสรรพคุณของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด และเพื่อให้พืชสมุนไพรเหล่านี้กลับมาเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในบทความนี้ผู้เขียนได้นำข้อมูลของสมุนไพรหนึ่งชนิด ที่คนรู้จักสรรพคุณไม่มากนัก มาบอกเล่าให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น สมุนไพรชนิดนี้มีชื่อว่า “หญ้าคา” พืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณที่มีประโยชน์ต่อร่่างกายเป็นอย่างมากภาพถ่ายโดยผู้เขียนลักษณะของ “หญ้าคา” เป็นพืชตระกูลต้นหญ้า มีรากเหนียวเป็นเส้นกลมสีขาวอยู่ใต้ดิน รากจะมีข้อเป็นปล้องสั้น ๆ มีรสหวาน ฉุนเล็กน้อย จะแตกแขนงออกเป็นจำนวนมาก ใบจะแทงขึ้นจากพื้นเป็นลำต้นมีขน ออกเป็นกอคล้ายกอข้าว ลักษณะของไปเรียวแหลมคล้ายดาบ มีขนเล็ก ๆ คลุมทั่วทั้งใบและมีความคม ขนของใบและลำต้นทำให้คัน ดอกเป็นปุยสีขาวออกเป็นช่อทรงกระบอกสามารถปลิวไปตามลมและขยายพันธุ์ได้ “หญ้าคา” เป็นพืชที่ทำลายได้ยากมาก ยิ่งพยายามเผาทำลายก็จะยิ่งแตกกอออกมากสรรพคุณของ “หญ้าคา” ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยบำรุงไต ช่วยห้ามเลือด ช่วยบำรุงกำลัง แก้ไข้ แก้ไอ แก้โรคหอบ รักษาอาการโรคกำเดาไหล แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ช้ำใน แก้อาการปวดเมื่อยภาพถ่ายโดยผู้เขียนเมื่อสมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็กนั้นมักจะเห็น “หญ้าคา” ขึ้นอยู่มาตามพื้นที่โล่งแห้งแล้ง หากใครไม่ทราบถึงสรรพคุณก็จะคิดว่าพืชชนิดนี้เป็นวัชพืชไม่มีประโยชน์และพยายามหาทางทำลาย สมัยนั้นพ่อของผู้เขียนมีอาชีพขับรถไถ มักจะถูกจ้างให้ไปช่วยไถหญ้าคาทิ้งอยู่บ่อย ๆ ซึ่งพ่อมักจะให้ผู้เขียนตามไปด้วยเสมอเพื่อไปเก็บรากของ “หญ้าคา” มาทำเป็นยาสมุนไพร ซึ่งแต่ละครั้งก็เก็บรากหญ้าคาได้เป็นจำนวนมากหลายกระสอบปุ๋ย จากนั้นเมื่อกลับมาถึงบ้านก็นำ “รากหญ้าคา” มาใส่กะละมังล้างน้ำให้สะอาด แล้วสับเป็นท่อนเล็ก ๆ ตากแดดให้แห้งเก็บไว้ บางส่วนก็แบ่งนำไปขายซึ่งก็ได้ราคาดี และบางส่วนก็เก็บไว้ใช้ประโยชน์ครั้งหนึ่งเพื่อบ้านมีอาการเพาะอาหารอักเสบและอาเจียนเป็นเลือด ปู่ได้นำราก “หญ้าคา” ที่ตากแห้งเก็บไว้มาต้มและใส่เกลือลงไปเล็กน้อย ให้ผู้ป่วยดื่มเป็นประจำครั้งละแก้ววันละสองเวลาคือเวลาเช้าและเวลาเย็น ติดต่อกันสองสัปดาห์ ผู้ป่วยก็อาการดีขึ้นและหายเป็นปกติในเวลาไม่นาน ซึ่งน้ำสมุนไพรจากราก “หญ้าคา” นั้นยังเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ ช่วยบำรุงเลือดและบำรุงร่างกายได้เป็นอย่างดี ปู่ยังนำมาให้ผู้เขียนดื่มเพื่อแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้อีกด้วย ปู่ยังได้อธิบายให้ฟังอีกว่า พืชประเภท “หญ้าคา” นั้นเป็นวัชพืชที่ทำลายยากและชะลอการเติบโตของพืชชนิดอื่น แต่ถ้าเรารู้จักวิธีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เราก็จะเห็นคุณค่าของมัน ซึ่งแทนที่จะทำลายทิ้งอย่างไร้ค่า ก็เก็บมาใช้ประโยชน์เสียแถมยังสร้างรายได้ให้กับเราอีกด้วยที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงสรรพคุณบางส่วนที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์มาเท่านั้น ซึ่งนอกจากนี้ “หญ้าคา” ยังสามารถนำไปเข้าเครื่องยาผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นเพื่อประกอบเป็นยารักษาโรคได้อีกหลายอาการ และผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะทำให้ทุกท่านหันมาสนใจและรู้จักพืชสมุนไพรมากขึ้น เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบต่อไป