รีเซต

จีนเริ่มซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซ GHG ดีเดย์ปลายมิ.ย.นี้

จีนเริ่มซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซ GHG ดีเดย์ปลายมิ.ย.นี้
มติชน
25 มิถุนายน 2564 ( 16:57 )
35
จีนเริ่มซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซ GHG ดีเดย์ปลายมิ.ย.นี้

นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง แจ้งว่าต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมจีน (Ministry of Ecology and Environment) ระบุว่า รัฐบาลจีนจะเริ่มใช้ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas : GHG) ทั่วประเทศอย่างเป็นทางการภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ โดยกำหนดให้ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซ CO2 มากกว่าหรือเทียบเท่า 26,000 ตันฯ/โรง/ปี หรือมีการใช้ถ่านหินมากกว่า 10,000 ตันฯ/โรง/ปี ในช่วงระหว่างปี 2556-62 เป็นธุรกิจนำร่อง

 

 

ซึ่งก่อนหน้านี้จีนได้ดำเนินโครงการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซ GHG ดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปี 2554 ในเมืองนำร่อง 7 เมือง ได้แก่ ปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ ฉงชิ่ง หูเป่ย กวางตุ้ง และเชินเจิ้น ซึ่งการบังคับซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซ GHG ทั่วประเทศที่จะเริ่มในสิ้นเดือนนี้ จะครอบคลุม 8 อุตสาหกรรมที่มีการปล่อยมลพิษในปริมาณมาก คือ 1. การผลิตไฟฟ้า 2.การผลิตซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง 3. เหล็ก 4.การผลิตวัสดุโลหะ 5. ปิโตรเคมี 6.การผลิตสารเคมี 7.การผลิตกระดาษ และ 8.การบิน คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 5,000 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะทำให้จีนเป็นตลาดซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซ GHG ใหญ่ที่สุดในโลก นับว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจีนบรรจุประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศลงไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ในฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) ที่เพิ่งผ่านสภาประชาชนแห่งชาติจีนไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยกำหนดเป้าหมายให้สัดส่วนของพลังงานทางเลือกต่อการใช้พลังงานพื้นฐานโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ภายในปี 2568 และลดการใช้ถ่านหินตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

 

 

นายธัชชญาน์พล กล่าวว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง เห็นว่าจากแผนพัฒนาฯ 5 ปี ฉบับที่ 14 นั้น จีนมีมาตรการในการต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งมาตรการในการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซ GHG จะเป็นมาตรการเบื้องต้นที่จะขยายขอบเขตการบังคับใช้ไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซ GHG โดยคาดว่าหากจีนใช้มาตรการดังกล่าวกับธุรกิจภายในประเทศสำเร็จอาจเรียกร้องให้ประเทศคู่ค้าหันมาใช้มาตรการเช่นเดียวกันด้วย และอาจมีมาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาการจัดทำหรือการขอฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) หรือฉลากลดโลกร้อน จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่สินค้าของไทยต่อไปในอนาคต ทั้งในตลาดจีนซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญและตลาดประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญต่อการลดปริมาณการปล่อยก๊าซ GHG

ข่าวที่เกี่ยวข้อง