รีเซต

อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ ชี้ พ.ร.บ.สื่อต้องพัฒนา-คุ้มครองไม่ใช่ควบคุม จ่อคุยภาคีทั่วประเทศ

อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ ชี้ พ.ร.บ.สื่อต้องพัฒนา-คุ้มครองไม่ใช่ควบคุม จ่อคุยภาคีทั่วประเทศ
มติชน
12 มกราคม 2565 ( 15:28 )
64
อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ ชี้ พ.ร.บ.สื่อต้องพัฒนา-คุ้มครองไม่ใช่ควบคุม จ่อคุยภาคีทั่วประเทศ

จากกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยกรมประชาสัมพันธ์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

เมื่อวันที่ 12 มกราคม นายปราเมท เหล็กเพชร์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ว่า ตนยังไม่ได้อ่านพ.ร.บ.นี้โดยละเอียด จึงเพิ่งได้พูดคุยกับคนในวงการสื่อเพียงเล็กน้อย แต่หากจะมีการเคลื่อนไหวคงต้องนัดหมายกันพูดคุยหารือกับภาคีองค์กรสื่อทั้งหมด 6-7 องค์กร รวมถึงองค์กรต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง เพื่อร่วมมือและรวบรวมทุกความเห็นกันว่าจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไร รวมถึงศึกษารายละเอียดของพ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างถี่ถ้วน เพราะเพิ่งผ่านมติครม. ทำให้มีอีกหลายขั้นตอนในการนำเข้าสภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้ยังพอมีเวลาที่จะศึกษาโดยละเอียด และเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ผู้คนตื่นตัวกันและช่วยสอดส่องดูแล เพื่อช่วยปกป้องสิทธิเสรีภาพ

 

“ในอดีตไม่เคยมีกฎหมายรูปแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกฎหมายที่รวมอยู่ด้วยกันทั้งหมด ต้นตอมีหลายปัจจัยด้วยกัน จนนำมาสู่กฎหมายฉบับนี้ ทั้งเรื่องที่ร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ที่ต่อสู้กันจนปลดล็อกมาได้ หรือพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ,พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 และล่าสุดคือ ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ ที่ฝ่ายเหยี่ยวคุมอยู่ ทั้งหมดเป็นปัจจัยต่อเนื่องกันมา ทุกรัฐบาลจะมีสายเหยี่ยวกับสายพิราบคือสายบู๊กับสายบุ๋นควบคู่กันไป ฝ่ายพิราบก็สู้อยู่ ซึ่งตามหลักการเดิมที่เราทำมาตลอดในยุคแรก

 

หัวใจของพ.ร.บ.ฉบับนี้คือต้องเป็นตัวหลักส่งเสริมเรื่องจริยธรรมเรื่องการพัฒนาคุณภาพในวงการสื่อ และการคุ้มครอง ไม่ใช่การควบคุม ถ้าเกินไปจากนี้คงต้องสู้กันว่าเพราะอะไร  เพื่อที่จะพยายามเข้ามาควบคุมจัดการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือไม่ ที่ผ่านมาเคยสู้ตั้งแต่ตอนที่รัฐพยายามจะตีทะเบียนสื่อ ต้องขึ้นทะเบียนต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นกรรมการ เราสู้เขาก็ถอยออกตั้งแต่มีการรัฐประหารใหม่ๆ ที่จะมีการออกกฎหมายฉบับนี้กัน โดยมีการขับเคลื่อนของสื่อมวลชนที่ช่วยเหลือกัน ทั้งนักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐที่เห็นคุณค่าของเสรีภาพสื่อมาช่วยพยุงและประสาน ซึ่งการต่อสู้จะใช้เพียงแต่วาทกรรมไม่ได้ ต้องใช้การต่อสู้กันภายในและภายนอกด้วย หรือสู้กันทางความคิดมากกว่า ซึ่งสื่อที่อยู่ตรงกลาง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในอำนาจรัฐในโซ่ข้อกลางคงต้องทำงานด้วยความยากลำบาก” นายปราเมทกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง