หลายคนคงคุ้นเคยกับศิลปะการแสดงของเกาหลีแบบโมเดิร์นกันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น K-POP หรือ K-Drama แต่อาจจะไม่คุ้นเคยกับการแสดงพื้นบ้านอย่างระบำหน้ากากเกาหลี หรือ Talchum (탈춤, ทัลชุม) ที่ถือได้ว่ามีความน่าสนใจไม่แพ้กันจนกระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การแสดง Talchum ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage) จาก UNESCO ถือเป็นความภาคภูมิใจอีกอย่างหนึ่งของชาวเกาหลีเลยทีเดียวเกริ่นมาพอสมควรแล้ว ในบทความผม MJ ก็จะพาทุกท่านไปรู้จักกับการแสดงพื้นบ้านชนิดนี้ ทั้งที่มาที่ไป พื้นฐานของการแสดง รวมไปถึงนัยยะทางวัฒนธรรมของการเต้นระบำหน้ากากแดนโสม หวังว่าทุกคนจะได้เพลิดเพลินไปกับบทความครับผมจุดกำเนิด กว่าจะมาเป็น Talchum ในปัจจุบันเบื้องต้นเลยคำว่า Talchum (탈춤, ทัลชุม) เกิดจากการผสมของคำว่า "ทัล" (탈) ที่แปลว่าหน้ากาก และ "ชุม" (춤) ที่แปลว่าเต้นหรือระบำ ได้ความหมายกว้าง ๆ ว่าระบำหน้ากาก ทัลชุมสามารถแบ่งรูปแบบได้ถึง 18 แบบ แต่โดยสามัญแล้วยังคงยืนอยู่บนพื้นฐานของการร้องเล่นเต้นรำ และสวมบทบาท ความแตกต่างจึงอยู่ในรายละเอียดอย่างเสื้อผ้า หน้ากาก และสไตล์ของแต่ละพื้นที่จุดกำเนิดของการแสดงทัลชุม อาจย้อนรากไปได้ถึงจีนโบราณที่พิธีกรรมมีไว้เพื่อสื่อสารกับพระเจ้า แต่หากนับเฉพาะในเกาหลี การระบำหน้ากากถือเป็นประเพณีพื้นบ้านที่แสดงเพื่อความบันเทิง และระบายความอัดอั้นของประชาชนที่มีต่อชนชั้นสูงในยุคศักดินา โดยมีหน้ากากเพื่อปิดบังตัวตน เนื้อหาจึงเป็นการสะท้อนความต้องการความเท่าเทียม และอิสระภาพ การแสดงทัลชุมเลยมีทั้งความตลก และเสียดสีอย่างเจ็บแสบเลยครับการแสดงทัลชุมได้รับความนิยมสูงสุดในยุค โชซอนโบราณ ที่จังหวัดฮวังแฮ (Hwanghae-do) ซึ่งปัจจุบันคือเกาหลีเหนือ การแสดงทัลชุมมีจุดเปลี่ยนสำคัญช่วงสงครามเกาหลียุค 1950 ทำให้เกาหลีเหนือและใต้แยกตัวออกจากกัน แต่โชคดีมากครับที่ในตอนนั้น นักแสดงทัลชุมจำนวนมากสามารถอพยพลงมาทางใต้ได้ จึงเริ่มมีความพยายามฟื้นฟูศิลปะนี้ขึ้นมาอีก ภายหลังการแสดงทัลชุมจึงแพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของเกาหลีจุดพลิกสำคัญอีกครั้งของทัลชุมอยู่ในช่วงยุค 70-80 ที่นักศึกษามหาลัยได้มีส่วนสำคัญในการทำให้ทัลชุมเป็นที่รู้จัก โดยหยิบจับการแสดงมาใช้เพื่อแสดงจุดยืนทางสังคม จนการแสดงทัลชุมเป็นที่รู้จักโดยทั่วกันจนถึงปัจจุบัน และที่พีคสุดคือตัวละครทัลชุมอย่างสงฆ์ทั้ง 8 ถูกนำไปร่วมในการแสดงคอนเสิร์ตของจองกุกแห่ง BTS (2018) มาแล้วด้วยครับรูปแบบการแสดงในอดีต ตามธรรมเนียมแล้วจะเริ่มโดยการก่อกองไฟบนลานกว้าง ตลาด หรือพื้นที่สาธารณะ และให้ผู้อาวุโสด้านการแสดง หรือผู้นำหมู่บ้านออกมาเต้นตามจังหวะดนตรีพื้นบ้านเพื่อเรียกผู้คนให้มาชุมนุม ก่อนที่นักแสดงที่รับบทพระหนุ่มจะปรากฎตัวออกมา อันเป็นการเริ่มฉากแรกของละครระบำหน้ากาก ปัจจุบันการแสดงนี้มักจะอยู่บนเวทีในงานรื่นเริงต่าง ๆ ไปจนถึงงานแสดงโดยเฉพาะครับตัวหน้ากากฮาฮเว (Hahoe) ที่ใช้ในการแสดงก็ไม่ได้มีข้อจำกัดชัดเจนครับ วัสดุเป็นได้ทั้งไม้ หรือกระดาษ ซึ่งดีไซน์ก็จะแตกต่างกันไปในทัลชุมแต่ละภาค จะเห็นได้ว่าวัสดุที่ใช้ไม่ได้มีความซับซ้อนเลย แม้แต่เสื้อผ้าเองก็มีความหลากหลายตั้งแต่สีสันที่ฉูดฉาดไปจนถึงสีขาวเรียบ ๆ เลยก็มี ซึ่งก็ไม่ได้กำหนดรูปแบบที่ตายตัวแต่อย่างใด แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้การแสดงตั้งแต่ต้นจนจบ ประกอบไปด้วยตัวละครถึง 36 ตัว เนื้อเรื่องจะแบ่งออกเป็น 7 องค์ ธีมของการแสดงหลัก ๆ จะมีอยู่สามเรื่องราวด้วยกัน อย่างเรื่องของพระที่ละกิเลสไม่ได้ การเสียดสีขุนนางที่ฉ้อฉล และเรื่องรักสามเส้าของชาวบ้าน ด้วยความที่เป็นการแสดงพื้นบ้าน ในระหว่างการแสดงผู้ชมก็สามารถมีส่วนร่วมในการแสดง ทั้งโต้ตอบกับตัวละคร หรือแม้แต่ขึ้นไปร่วมแสดงก็ทำได้เช่นกัน (แต่ถึงไม่เสนอตัว นักแสดงก็อาจจะดึงตัวขึ้นไปเองก็ได้ครับ ดูเป็นกันเอง และน่าสนุกมาก ๆ)รวม ๆ แล้วการแสดงจะมีความคล้ายโขนบ้านเรา ที่เป็นการพูดประกอบจังหวะดนตรี แต่แตกต่างอย่างมากตรงเน้นความรื่นเริง มีความเป็นพื้นบ้านมากกว่า (ไม่เป็นทางการนัก) แม้แต่ตัวนักแสดงก็สามารถพูดด้นสดนอกบท ไปจนถึง Breaking the Fourth Wall พูดคุยกับผู้ชมได้อย่างเป็นกันเอง หรือชวนผู้ชมขึ้นมาบนเวทีก็ยังได้ ถ้าจะให้เทียบจริง ๆ อาจจะคล้ายเอาการเล่าเรื่องแบบโขน มาผสมวิถีชาวบ้านแบบผีตาโขนครับ UNESCO ให้เหตุผลอะไรกับการยก Talchum เป็นมรดกโลก?ก่อนหน้านี้ทัลชุมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติอันดับที่ 17 โดยรัฐบาลเกาหลี จนล่าสุดถูกจัดเป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโลก อันดับที่ 22 ของเกาหลี ในที่ประชุมร่วมของ UNESCO ณ กรุงราบัต ประเทศโมร็อกโกจุดเด่นที่ทำให้ทัลชุมได้รับเกียรติ์นี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ปัจจัยด้วยกัน สรุปตามคำกล่าวของ Choi Eung-chon ผู้บริหาร Cultural Heritage Administration (CHA) แห่งเกาหลี ได้แก่ทัลชุมได้พิสูจน์ให้ประจักษ์ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่รวบรวมอยู่ในการเต้นรำ เสียงเพลง คำพูด และงานฝีมือในการประดิษฐ์หน้ากากทัล ชุมให้ความสนุกสนาน และขณะเดียวกันยังมีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมแนบเนียนด้วยการประชดประชัน อีกทั้งผู้ชมนอกเวทียังสามารถขึ้นไปแสดงร่วมได้ทุกเมื่อ จึงสามารถเพิ่มการสอดประสานกับผู้ชม และความสนุกให้กับการแสดงได้เป็นอย่างดีสารที่สื่อถึงความเสมอภาค และการเสียดสีเหล่าผู้มีอำนาจยังคงมีความร่วมสมัย และเป็นประเด็นที่ยังสะท้อนสังคมปัจจุบันได้การแสดงทัลชุมมีชื่อเสียงในเมืองอันดง จังหวัดคย็องซังเหนือ มีหมู่บ้านโบราณฮาฮเว (Hahoe) หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าไปเยี่ยมชมมากครับ นอกจากชมการแสดงยังมีพิพิธภัณฑ์หน้ากาก Hahoe อีกด้วยโดยสรุปแล้ว ทัลชุม ถือเป็นการแสดงที่มีประวัติศาสตร์ผูกพันกับชาวเกาหลีมานับแต่อดีตกาล แม้รูปแบบของความบันเทิงในยุคปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ทัลชุมก็ยังเป็นการแสดงที่แม้แต่นักศึกษาก็ยังหยิบจับขึ้นมาเป็นเครื่องมือเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกอยู่จนถึงปัจจุบัน ทั้งตลก เข้าถึงได้ง่าย และสอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน ทำให้ศิลปะนี้อยู่ในรายชื่อมรดกโลกของ UNESCO ไปในปีนี้ครับ เป็นการรวบรวมข้อมูลที่ใช้เวลาทีเดียวครับ ต้องขอบคุณภาพประกอบสวย ๆ จาก UNESCO ด้วยนะครับ ถ้าหากชอบบทความมรดกวัฒนธรรมแบบนี้ก็สามารถคอมเมนต์บอกได้เลย เพราะ UNESCO ยังได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโลกชิ้นอื่นในปีนี้เช่นกัน อย่างพิธีการชงชาของจีน และขนมปังบาแก็ตของฝรั่งเศสที่เป็นข่าวเป็นคราวกันไปติดตามผู้เขียน & วาดได้ทางทวิตเตอร์ MJ. a Writer @Boomeranz_MJภาพที่ 1, 5 และ 6 Youtube UNESCO [0.45, 9.25, 3.20]ภาพที่ 2 UNESCO-ICHภาพที่ 3 และปก Wikimedia Commons วาดและแก้ไขโดยผู้เขียน MJ. a Writerภาพที่ 4 Youtube Sejong Cultural Society [0.4]7-11 Community ห้องลับเมาท์มอยของกินของใช้ในเซเว่น อะไรดีอะไรใหม่ ต้องรู้ ต้องคุย ต้องแชร