ททท.ชงแพคเกจ‘เวิร์กเคชั่น’ดันเที่ยวควบทำงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ ด้าน‘ศุภชัย’เชื่อปีหน้าศก.ไม่เลวร้ายอย่างคาด
ททท.ชงแพคเกจ‘เวิร์กเคชั่น’ ดันเที่ยวควบทำงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ ด้าน‘ศุภชัย’เชื่อปีหน้าศก.ไม่เลวร้ายอย่างคาดคะเน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมจัดแพคเกจกระตุ้นท่องเที่ยวแบบเวิร์กเคชั่น เป็นรูปแบบการเที่ยวพร้อมกับการทำงาน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 10 กันยายน น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. เปิดเผยว่า ททท.อยู่ระหว่างพิจารณาแพคเกจกระตุ้นท่องเที่ยวแบบเวิร์กเคชั่น เป็นรูปแบบการเที่ยวพร้อมกับการทำงาน โดยแพคเกจจะสนับสนุนทั้งด้านบริการ ห้องพัก ตลอดจนมาตรการด้านสิทธิประโยชน์ด้านภาษีให้กับบริษัทเอกชน อาทิ การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยแพคเกจเที่ยวจะชัดเจนในเดือนกันยายนนี้ สอดรับกับจากนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อชดเชยรายได้นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ข้าราชการเที่ยวมีวันเที่ยวได้เพิ่มอีก 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา และให้บริษัทเอกชนของไทยให้พนักงานเที่ยวในประเทศ อาจเที่ยวเองหรือเป็นการสัมมนา
“เดิม ททท.คาดการณ์รายได้ประมาณ 3 ล้านล้านบาท แต่จากปัญหาโควิด-19 ทำให้ต้องปิดประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเที่ยวไทยได้ ปีนี้จึงตั้งเป้าที่ 8 แสนล้านบาท ปัจจุบันทำรายได้แล้วประมาณ 7 แสนล้านบาท มั่นใจว่าจะได้ตามเป้าหมาย โดยเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการ ท่องเที่ยวในประเทศปัจจุบัน อาทิ เราเที่ยวด้วยกัน เพิ่มวันหยุดให้ข้าราชการ 2 วัน กระตุ้นบริษัทเอกชนสนับสนุนให้พนักงานเที่ยว” น.ส.ฐาปนีย์กล่าว
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการอังค์ถัด และอดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ในฐานะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ให้สัมภาษณ์สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า ในเอเชียสถานการณ์ดีกว่าที่อื่นมาก แม้จะมีการกลับมาระบาดอีกครั้ง แต่เป็นเพียงแค่บางจุด ซึ่งสามารถเข้าไปควบคุมดูแลได้ เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็ทำได้ดี ส่วนการลงทุนและการบริโภคในเอเชียถือว่าดีกว่าที่อื่น โดยเฉพาะการเชื่อมต่อข้อมูลในการเปิดประเทศว่า จะทำได้มากน้อยเพียงใดเพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปได้ ดังนั้น ต้องร่วมมือกันให้ดี หากต่อไปมีวัคซีนแล้วจะต้องไม่ขายในราคาแพง และไม่มีใครเป็นเจ้าของ หรือยกให้องค์การอนามัยโลก ให้มีการกระจายต่อไป เพราะตอนนี้บริษัทยารายใหญ่ และประเทศใหญ่ไปจองวัคซีนเหล่านี้ค่อนข้างมาก แต่ที่น่าเป็นห่วงคืออเมริกาและยุโรป
นายศุภชัยกล่าวว่า ขณะนี้มาตรการส่วนใหญ่ที่นำออกมาใช้ก็เดินตามรูปแบบ และค่อยๆ เดินไป หากเกิดการกระตุ้นก็เกิดจากโครงการใหญ่ๆ ของรัฐบาล ส่วนที่จะมีการชดเชยให้คนมีงานทำก็มีอยู่แล้ว ปัญหาคือเงินที่ออกมาต้องใช้ให้ตรงเป้าหมายที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลใช้อย่างระมัดระวัง แต่ถูกโจมตีบ้าง เพราะมีคนอยากให้ใช้เงินให้หมด เชื่อว่าต้นปีหน้าอะไรที่คาดคะเนว่าจะเลวร้าย คงไม่เลวร้ายอย่างที่คิด
“ในอาเซียนผมว่าเราดีกว่าที่อื่น เพราะทุกคนให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน แตกต่างจากที่อื่นที่มีการขัดขืนตลอดเวลา ดังนั้น ต้องค่อยๆ เปิดประเทศไปเรื่อยๆ แต่เราต้องอดทน ส่วนเศรษฐกิจที่กระตุ้นไม่ได้ เพราะโลกยังวิกฤตอยู่ ส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไปไม่ได้เต็มที่ แต่ต้องหล่อเลี้ยงไม่ให้เกิดการทรุดลงทางเศรษฐกิจทั้ง
รายเล็กและรายใหญ่ให้เขาไปได้ก่อน โดยหล่อเลี้ยงให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อคนทำงานได้ก็จะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นตามธรรมชาติ” นายศุภชัยกล่าว