เอสเอ็มอี วอนรัฐเติมประสิทธิภาพงบ 5 หมื่นล้าน ผ่าน 4 มาตรการกระตุ้นศก.-พยุงจ้างงาน
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ มติชน ถึงมติครม.เห็นชอบงบประมาณ 5.46 หมื่นล้านบาท ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยพยุงจ้างงานเอสเอ็มอี ว่า สมาพันธ์ฯต้องชื่นชม ครม. และภาครัฐที่ออกมาตรการเพิ่มเติมผ่าน 4 โครงการวงเงิน 5.46 หมื่นล้านบาท ทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มเปราะบาง คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ แต่สมาพันธ์มีความคิดเห็นต่อมาตรการดังกล่าวที่ต้องมีการประเมินความต้องการ ประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์แต่ละโครงการ แนวทางการปรับปรุงพัฒนามาตรการต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้
1.โครงการเพิ่มกำลังสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะ3 คนละ 200 บาท ระยะเวลา 2 เดือน (พฤศจิกายน-ธันวาคม2564) วงเงิน 8,122 ล้านบาท สิ่งที่ต้องปรับปรุง คือ เติมเงิน เชื่อมโยงจูงใจสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความยั่งยืน โดยการสร้างงาน กับกลุ่มพร้อมเปลี่ยนวิธีการแจกเงิน เป็นส่งเสริมเพิ่มพูนทักษะ เพิ่มขีดความสามารถ จับคู่งาน สร้างงานในท้องถิ่น ชุมชนตามควมต้องการของผู้ประกอบการ ภาครัฐจัดให้มีกระบวนการบ่มเพาะ พัฒนาฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพมาตรฐาน และออกมาตรการส่งเสริมการแปลงร่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นบัตรพร้อมทำงานในท้องถิ่น พร้อมกับสร้างอาชีพ กลุ่มพร้อมเปลี่ยนวิธีจากการแจกเงิน เป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้เพิ่มช่องทางการหารายได้ มีอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวได้
อาทิ จับคู่ธุรกิจเฟรนไชส์ เกษตรพอเพียง สร้างอาชีพยั่งยืนให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้ข้อมูลด้านพาณิชย์ การค้า ช่วยเหลือช่องทางแหล่งทุนของภาครัฐให้เกิดประโยชน์ในการเลือกทำเลและประเภทธุรกิจที่มีความน่าสนใจในท้องถิ่น สร้างความเป็นผู้ประกอบการใหม่ที่มีคุณภาพ และระบบติดตามประเมินผลการประกอบอาชีพ และ สร้างความยั่งยืน โดยใช้กลไกภาครัฐร่วมเอกชนและประชาชน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ศึกษา และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนสร้างสรรค์ในแต่ละพื้นที่ อาทิ กรอ.จังหวัด กรอ.พาณิชย์ กพรปจ. เป็นต้น เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการใช้งบประมาณแจกเงินเป็นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างสร้างสรรค์ และให้โอกาสจัดหาแหล่งทุนประกอบอาชีพควบคู่ด้วย จะเสริมสร้างความเข้มแข็ง และช่วยลดหนี้ภาคครัวเรือนได้อีกทางหนึ่ง
นายแสงชัย กล่าวต่อว่า 2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ คนละ 300 บาท วงเงิน 1,384 ล้านบาท นั้นเป็นโครงการที่ดี และเป็นประโยชน์กับกลุ่มเปราะบางของสังคม แต่ต้องพิจารณาการหาความช่วยเหลืออื่นๆที่ยั่งยืนควบคู่กันไป อาทิ ร่วมกับภาคเอกชนจัดมือถือราคาประหยัด 3.โครงการคนละครึ่ง ระยะ 3 เพิ่มเติมคนละ 1,500 บาท วงเงิน 42,000 ล้านบาท สิ่งที่ต้องปรับปรุง ขยายวงเอสเอ็มอีคลัสเตอร์บริการ และการค้า จัดวงเงินพัฒนาต่อยอด
โดยภาครัฐควรส่งเสริมให้สิทธิกับกลุ่มเอสเอ็มอีภาคการบริการ การท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ปัจจุบันความช่วยเหลือที่ภาครัฐยังไม่เพียงพอ ทั้งมาตรการเข้าถึงสินเชื่อ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ขณะที่เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนจำนวนผู้ประกอบการมากถึง 1.25 ล้านราย หรือ 40% ของเอสเอ็มอีทั้งหมด ประมาณ 3.15 ล้านราย และมีแรงงานภาคบริการกว่า 5.4 ล้านคน มาตรการนี้ควรเน้นเอสเอ็มอีที่เป็นร้านโชว์ห่วย และเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์เชื่อมโยงการพัฒนาระบบบริหารจัดการให้เปลี่ยนผ่านทั้ง Digital disruption และโควิด-19 อาทิ POS ระบบการบริหารจัดการสินค้าคงเหลือ จัดการหน้าร้านค้า เพิ่มสภาพคล่องผ่านระบบนี้จะทำให้เกิดการบริหารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สะดวก รวดเร็วต่อการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี
นายแสงชัย กล่าวอีกว่า 4.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ วงเงิน 3,000 ล้านบาท ส่วนนี้สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือช่วยเอสเอ็มอีรอด สร้างฐานภาษีรายใหม่ เพิ่มอำนาจซื้อวงกว้าง เปลี่ยนวิธีคืนเงิน โดยรัฐควรกำหนดวงเงินและสัดส่วนที่ชัดเจนให้ผู้ใช้สิทธิ์กับสินค้าและบริการของเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน โอท็อป และสินค้าจากกลุ่มผู้พิการ ราชทัณฑ์ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้หมุนเวียนลงสู่ชุมชน เอสเอ็มอี กลุ่มที่ขาดโอกาสมากขึ้น สร้างงาน สร้างอาชีพได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่
” ภาครัฐควรส่งเสริมการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการเข้าใหม่ และผู้ประกอบการเดิมโครงการนี้ เพื่อจูงใจการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การช่วยเหลือมาตรการทางการเงิน การพัฒนาผู้ประกอบการให้ความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สามารถใช้ช่องทางโครงการของภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ ระบบบัญชี การเงิน ดิจิทอลเทคโนโลยี มาตรฐาน คุณภาพ การเข้าถึงแหล่งทุน นวัตกรรม ช่องกทางการขายและการตลาด เป็นต้น จะทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาผู้ประกอบการที่เป็นระบบ บริหารจัดการเข้าถึงความต้องการเอสเอ็มอีได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพิ่มวงเงิน แต่ควรลดเพดานวงเงิน เพิ่มจำนวนสิทธิ์มากขึ้นกระจายให้เป็นวงกว้าง เพราะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนมากนัก ควรนำเม็ดเงินโครงการนี้มาใช้ประโยชน์ให้เกิดกับกลุ่มที่ต้องการเพิ่มอำนาจการซื้อ และใช้สินค้าและบริการตามข้อ 1 เพื่อลดค่าครองชีพ และการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ” นายแสงชัย กล่าว
นายแสงชัย กล่าวอีกว่า ควรเปลี่ยนวิธีการคืนเงิน จากใช้ก่อนคืนเงินทีหลังเป็นใช้ทันทีลดทันใด 10-20% จูงใจให้เกิดการซื้อ และใช้ยอดเงินแต่ละเดือนที่ใช้จ่ายมาสรุปเป็น Cash back top up ให้ผู้ใช้สิทธิ์อีกครั้ง เป็นขั้นบันได เช่น ยอดใช้จ่าย 10,000 บาท ได้รับเงินคืน 5% หากมียอดใช้จ่าย 20,000 บาท เงินคืน 7.5% และ 30,000 บาท ได้รับเงินคืน 10% เป็นต้น สิ่งที่สำคัญ คือ ภาครัฐออกมาตรการควรพิจาณาระบบการตรวจสอบไม่ให้เกิดการทุจริตในแต่ละโครงการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส การออกมาตรการพิเศษทางภาษีให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเกิดความไว้วางใจในการเข้าระบบและมาตรการต่างๆอย่างเต็มใจ รวมทั้งต้องประเมินผลการตอบรับของประชาชนเพื่อนำไปปรับปรุงต่อเนื่องว่าเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจฐานรากจริง