คนเก่าคนแก่ชอบต่อว่าคนเจนวายบ่อยๆ ว่าใช้เงินเกินตัว ไม่รู้จักอดจักออม เป็นพวกรักสบาย บ้าวัตถุ สุขนิยม ฯลฯ จริงๆ แล้วมันอาจมีเหตุผลมากกว่านั้น คนรุ่นใหม่ใช้การซื้อความสุข ทดแทนการต้องอยู่ในสังคมที่มีความกดดัน และที่คนเจนวายหมดหวังกับการเก็บออม ก็เป็นเพราะคนรุ่นก่อนหน้าทิ้งมรดกแห่งความเหลื่อมล้ำเอาไว้ รวมทั้งทิ้งปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่เท่าเทียมรวมอยู่ในนั้นด้วยขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere บทความของ foreignpolicy บอกเล่าถึงสังคมเกาหลีใต้ ว่าแม้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว รายได้เฉลี่ยต่อหัวสูง เป็นประเทศอุตสาหกรรม มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ มีวัฒนธรรม มีการกีฬาที่ก้าวหน้าก็ตาม แต่เกาหลีใต้ก็เป็นสังคมที่มีแรงกดดัน และความเหลื่อมล้ำสูงมากเป็นเงาตามตัวเช่นกัน แถมอัตราฆ่าตัวตายและช่องว่างของรายได้ยังสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกทีเดียว สังคมคนเจนวายในเกาหลีใต้มีคำพูดติดปากกันว่า fuck-it expense แปลเป็นไทยแบบเข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ การใช้เงินแบบช่างหัวมัน จ่ายๆ ไปเถอะจากบทสำรวจทั้งหลายคาดว่าภายในปี 2020 คนเจนวายของประเทศเกาหลีใต้จะ fuck-it expense กันจนแซงการจับจ่ายของคนยุคเบบี้บูมเมอร์ แม้จะมีรายได้ต่ำกว่ากันมากก็ตาม วัยรุ่นเกาหลีใต้เกือบ 50% เชื่อว่าการซื้อบ้านเป็นของตัวเองจะต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปี หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ และสาเหตุการเสียชีวิตของคนช่วงวัยอายุ 20-30 ปี เกือบครึ่งเป็นการฆ่าตัวตายfuck-it expense เป็นเรื่องน่าเศร้าเป็นอย่างมาก เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่เชื่อว่าต่างต้องเร่งรีบมีความสุขซะตั้งแต่ตอนนี้เลย เพราะไม่เชื่อเรื่องอนาคตที่สดใส อยากได้อะไรก็ต้องได้ อยากซื้ออะไรก็ต้องซื้อ ทำทุกอย่างที่ตอบสนองกิเลสตนเอง ซื้อเสื้อผ้าหรูๆ เที่ยวที่ดีๆ กินอาหารแพงๆ ดีกว่าเก็บเงินไว้แต่ไม่ทันได้ใช้ในบั้นปลายชีวิตขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere fuck-it expense ไม่ได้เกิดแค่ในเอเชีย หรือประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น แต่เกิดขึ้นและแทรกซึมอยู่ในคนเจนวายทั่วโลก คนเจนวายในสหรัฐอเมริกาก็ตกอยู่ในภาวะเช่นเดียวกันนี้ จนเกิดคำพูดติดปากเช่นเดียวกันว่า Treat yo’ self คือจ่ายๆ มันไปเถอะ ให้ตัวเรามีความสุขก็พอ ก็คงไม่ต่างกับคนรุ่นใหม่เจนวายของไทย หลายคนก็คงรู้สึกแบบเดียวกัน คือซื้อความสุขปัจจุบันไว้ก่อน อนาคตช่างมันปะไรในบทความยังบอกด้วยว่า คนรุ่นเก่าที่มาก่อน คนที่มีอำนาจตัดสินใจ ควรเลิกตั้งแง่กับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ เลิกมองเป็นเรื่องโง่เขลาไม่เอาไหนไปซะทุกเรื่อง แล้วหันมาพูดคุย รับฟังอย่างตั้งอกตั้งใจมากขึ้น ทางออกอาจไม่ใช่การอบรมสั่งสอนว่าต้องเก็บเงินอย่างไร อดออมอย่างไร เพราะเขามองว่าปัญหาจริงๆ คือความเหลื่อมล้ำ ที่ต่อให้เก็บออมเท่าไร ทำอย่างไร ชีวิตก็ไม่มีทางดีขึ้น เจนวายในสังคมไทยก็ตกอยู่ในภาวะ ของมันต้องมี เช่นกัน และคนอายุช่วงวัย 30-40 ปีลงมา ต่างก็มีปัญหาสุขภาพจิตไม่มากก็น้อยมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มสูงขึ้น บางทีค่าครองชีพ ความเป็นอยู่ วิถีชีวิตกับสภาพแวดล้อมมันไม่สัมพันธ์กัน ทั้งที่ทุกสิ่งควรผันแปรไปตามกันถึงจะอยู่ร่วมได้อย่างมีคุณภาพ สังคมอาจมีห้างสรรพสินค้า โรงหนัง คอมมูนิตี้มอลล์อยู่ทุกมุมเมือง แต่ไลฟ์สไตล์ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายทั้งนั้น ทำอะไรก็ต้องเสียเงิน เดินทางก็เสียเงิน กินอาหารก็ต้องเสียเงิน นิดๆ หน่อยๆ ก็หลักร้อยหลักพันขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวโยงกันหมด โลกวิถีใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม บริโภคนิยม คนเจนวายจะทำอย่างไรดีล่ะ? ไหนจะต้องรับมือกับโซเชียลมีเดีย นั่นก็อยากมี นี่ก็อยากได้ ได้แล้วก็อยากอวด ปัญหาเศรษฐกิจมันเลยพัฒนาตัวเองไปไกลมาก ถามว่าคนเจนวายจะคิดแบบนี้ทุกคนมั้ย คำตอบคือไม่เสมอไปหรอก มันมียุคสมัย มีบริบทที่แตกต่างกันออกไปได้ เพียงแต่ยุคนี้สิ่งที่เร้า ไม่ได้มีแค่ปัจจัย 4 อีกต่อไปแล้ว มีปัจจัย 5 6 7 8 หรือจนแทบจะไม่มีที่สิ้นสุดมายั่วยวน บางคนอาจจะบอกว่าคิดมากไปทำไม พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว หรือบอกว่าจะไปรอซื้ออนาคตทำไมกัน ซื้อปัจจุบันวันนี้ดีกว่า อืมม ก็น่าคิดไม่น้อยทีเดียวนะขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere โดยสรุปแล้วกลุ่มคนเจนวายส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะมั่นคง มีการศึกษาสูง การมีวิถีชีวิตจึงแตกต่างจากคนรุ่นเจนเนอเรชั่นก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด มีทั้งความเชื่อมั่นตัวเองที่สูงมาก ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี และชื่นชอบการสื่อสารออนไลน์ทุกเจนเนอเรชั่นต่างก็มีความเชื่อ และความต้องการในแบบของตัวเอง บางทีพวกเขาอาจแค่พยายามแก้ปัญหาความต้องการพื้นฐานของสังคมที่พวกเขาอยู่อย่างที่พวกเขาเข้าใจว่าเป็นแบบนั้น และมีวิธีการสื่อสารที่แตกต่างจากคนเจนอื่นๆ เท่านั้นเอง ปัญหาคนเจนวาย อาจจะไม่ได้อยู่ที่คนเจนวายเพียงอย่างเดียว เพราะคำว่าสังคมเป็นสิ่งที่คนทุกเจนเนอเรชั่นต้องรับผิดชอบร่วมกัน ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก foreignpolicy / Social.nesdb / ประชาชาติธุรกิจ / Livescience