รีเซต

ผนึกกำลังพิทักษ์เกาะช้าง ลุย! เก็บขยะใต้ท้องทะเล อภิบาลสัตว์น้ำ รักษ์สิ่งแวดล้อม

ผนึกกำลังพิทักษ์เกาะช้าง ลุย! เก็บขยะใต้ท้องทะเล อภิบาลสัตว์น้ำ รักษ์สิ่งแวดล้อม
มติชน
15 กันยายน 2563 ( 15:46 )
183
ผนึกกำลังพิทักษ์เกาะช้าง ลุย! เก็บขยะใต้ท้องทะเล อภิบาลสัตว์น้ำ รักษ์สิ่งแวดล้อม

ผนึกกำลังพิทักษ์เกาะช้าง
ลุย! เก็บขยะใต้ท้องทะเล
อภิบาลสัตว์น้ำ รักษ์สิ่งแวดล้อม

เป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากเกาะภูเก็ต มีเนื้อที่ 429 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเขาสูงมีผาหินสลับซับซ้อน ยอดเขาที่สูงที่สุดได้แก่ เขาสลักเพชร มีความสูงประมาณ 744 เมตร สภาพป่าโดยทั่วไปมีอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขา เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธาร ทำให้มีน้ำตกหลายแห่งบนเกาะ ด้านฝั่งตะวันออกของเกาะนั้นมีชายฝั่งที่สวยงาม

 

ในปี พ.ศ.2510 จังหวัดตราดได้ทำการสำรวจพื้นที่เกาะช้างและที่บริเวณน้ำตกธารมะยม ที่มีความสวยงาม และเสนอกรมป่าไม้พิจารณาจัดตั้งเป็น “วนอุทยาน” ต่อมาในปี 2516 กรมป่าไม้ได้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งปี 2518 จังหวัดตราดได้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานน้ำตกธารมะยม ต่อมาคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2524 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2524 ให้ดำเนินการจัดบริเวณเกาะช้าง และ อ.เกาะกูด จ.ตราด เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลอีกแห่งหนึ่ง

 

 

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 650 ตารางกิโลเมตร หรือ 406,250 ไร่ ประกอบด้วยเกาะต่างๆ มากถึง 52 เกาะ เรียงตัวกันตั้งอยู่ในเขตอำเภอเกาะช้าง และบางส่วนของอำเภอเกาะกูด นอกจากนี้ยังมีเกาะอื่นๆ ที่ยังคงสภาพความสวยงาม ได้แก่ เกาะคลุ้ม เกาะเหลายาใน เกาะง่าม เกาะไม้ซี้ใหญ่ เกาะหวาย เกาะง่าม บางแห่งมีปะการังใต้น้ำที่คงความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ เช่น เกาะหวาย และหมู่เกาะรัง ฯลฯ

 

ด้วยสภาพของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างมีเกาะจำนวนกว่า 31 แห่ง อยู่ในพื้นที่และเป็นทะเลเปิดจึงเกิดปัญหาขยะจำนวนมาก ในแต่ละปีมีขยะที่เกิดจากมนุษย์ลอยอยู่ในทะเลและจมอยู่ในทะเลจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก ทั้งเต่าและพะยูน รวมทั้งปะการังใต้ทะเล โดยเฉพาะหมู่เกาะรัง หมู่เกาะกระ และเกาะหวาย ที่มีปะการังที่สวยงาม หากไม่ดำเนินการจัดเก็บขยะจะส่งผลกระทบต่อสภาพความอุดมสมบูรณ์ของทะเลในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

 

 

นายโกสิทธิ นิลรัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง กล่าวว่า ในแต่ละปีเกาะช้างจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าท่องเที่ยวมากกว่า 3 แสนคน ซึ่งได้สร้างปัญหาขยะถึงวันละประมาณ 29 ตัน และหากเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวจะมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นกว่า 35 ตัน หากไม่มีการแก้ไขจะส่งผลกระทบในระยะยาว ทั้งนี้อุทยานฯ เกาะช้างได้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชนและเอกชน โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯเกาะช้างประมาณ 100 นาย เป็นพี่เลี้ยงในการให้คำแนะนำและประสานงานในการแก้ไขปัญหานี้

 

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ขยะเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์ที่ขาดจิตสำนึก ซึ่งเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.ตราด แล้วทิ้งขยะลงทะเล หรือชุมชนที่อยู่ติดทะเลที่มีทั้งคนไทยและชาวกัมพูชา มักจะทิ้งขวด ทิ้งขยะลงทะเล เเล้วขยะเหล่านี้จะถูกน้ำทะเลพัดเข้าฝั่งในช่วงมรสุม ซึ่งต้องช่วยกันในการแก้ปัญหา อุทยานฯ เกาะช้างหน่วยเดียวทำไม่ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ขยะบางส่วนยังมาจากน่านน้ำในประเทศเพื่อนบ้านด้วย แต่มีจำนวนไม่มากนัก”

 

จากปัญหานี้ทำให้ในวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ได้ร่วมกับอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง, กลุ่ม Trash Hero ko chang, ส.ส.ศักดินัย นุ่มหนู และคณะ, กลุ่มเรือประมงพื้นบ้าน ต.เกาะช้างใต้, ผู้นำชุมชน ต.เกาะช้างใต้, กลุ่มเรือผู้ประกอบกิจการนำเที่ยว ต.เกาะช้างใต้, ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 4 (ตราด), ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 4 (ตราด), เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ต.เกาะช้างใต้, อำเภอเกาะช้าง และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน, สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตราด, กู้ภัยสว่างบุญฯและพี่น้องจิตอาสา รวมทั้งหมด 200 คน ทำกิจกรรมดำน้ำเก็บกู้เศษซากอุปกรณ์การประมง เช่น ลอบ อวน ตาข่าย ที่ถูกกระแสน้ำพัดพามาติดบริเวณแนวปะการัง และเก็บขยะทะเลรอบเกาะหวาย ซึ่งสามารถเก็บขยะได้ประมาณ 3 ตัน

 

 

มีนักดำน้ำซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ทำการเก็บขยะ โดยมีนายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.จ.ตราด พรรคก้าวไกล, นายสุวรรณ พิทักษ์สินธร หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จ.ตราด, นายพรหมชนะ บุญล้อม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.เกาะช้างใต้, นายชัยวิทย์ ป๊อกสอน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.เกาะช้างใต้ ร่วมด้วยครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ในการทำการเก็บขยะใต้ทะเล และถือว่าประสบความสำเร็จเพราะขยะใต้ทะเลถูกนำขึ้นมาทำลายจำนวนมาก นับเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ท้องทะเลเกาะช้างสะอาดขึ้น

 

นางสุเปิ้ล เรืองอินทร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มคีปเกาะช้างคลีน กล่าวว่า เป็นกลุ่มจิตอาสาที่ช่วยกันเก็บขยะถนนสองข้างทาง ตามหาดทรายบนเกาะช้าง ทุกวันพุธ หลายคนมองว่า คีปเกาะช้างคลีนแก้ปัญหาผิดจุดเพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เกาะช้างไม่มีวันสะอาด เพราะคนทิ้งมากกว่าคนเก็บ แม้ว่าจะยังไม่สามารถแก้ไขขยะได้มากนัก แต่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในร่วมแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและทางทะเล

 

น.ส.สุชาดา หวลถนอม ปลัดเทศบาล ต.เกาะช้างใต้ เปิดเผยว่า ต.เกาะช้างใต้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเป็นส่วนใหญ่ มีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่มาก มีปริมาณขยะเพียง 2 ตันต่อวัน เทศบาลเกาะช้างใต้จะไม่มีถังขยะให้ชุมชนแต่ให้แต่ละครัวเรือนคัดแยกขยะด้วยครัวเรือนเอง ทั้งขยะเปียก ขยะที่เป็นภาชนะ และกำหนดวันเวลาในการเก็บ แต่ละหมู่บ้าน สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ส่วนขยะที่เป็นเศษอาหารอนุญาตให้ทิ้งเป็นอาหารปลาได้ สำหรับโรงแรมและรีสอร์ตจะทำการคัดแยกเอง

 

“ส่วนขยะที่มาจากทะเลจะมีการรณรงค์ในเรื่องการทิ้งลงทะเล โดยเฉพาะที่บ้านบางเบ้าที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากเป็นชุมชนที่บ้านเรือนอยู่ในทะเล และการจัดเก็บขยะ เช่นที่เกาะหวาย ที่มีการร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์จัดเก็บทั้งริมทะเลของเกาะหวายและใต้ทะเลซึ่งสามารถจัดเก็บได้จำนวนมาก”

 

วันนี้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างแม้ยังต้องเผชิญกับขยะจำนวนมหาศาลทั้งที่ล่องลอยอยู่ในทะเล และกำลังจมลงไป ตามระยะเวลาและปัจจัยที่เกื้อหนุน ซึ่งหากประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชายทะเลและชาวประมง รวมทั้งเรือโดยสารช่วยกันไม่ทิ้งขยะลงทะเล น่าจะทำให้ทะเลของเกาะช้างมีความสวยงาม สะอาด และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไปอีกนาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง