การสอบเข้าคณะแพทย์ในรอบที่หนึ่ง สิ่งที่ไม่สามารถขาดได้เลยก็คือ portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงานนั่นเองค่ะ เชื่อว่ายังมีน้องๆหลายๆคนที่เพิ่งเข้ามาสนใจการสอบแพทย์ในรอบนี้ หรืออาจจะกำลังเตรียมตัวยื่นในปีที่จะถึง เราจึงอยากมาแบ่งปันประสบการณ์การเตรียมทำ portfolio องค์ประกอบที่ต้องมี และมาตอบคำถามยอดฮิตของน้องๆกันค่ะ1. ต้องมีอะไรใน Portfolio บ้าง?ประวัติส่วนตัวโดยประวัติส่วนตัวนั้นจะเป็น ชื่อจริง นามสกุล ชื่อเล่นเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม อาจใส่ วันเดือนปีเกิด สัญชาติ ที่อยู่ เพิ่มตามความต้องการของเราที่ต้องการให้คณะกรรมการรู้ก็ได้ มากไปกว่านั้นอย่าลืมที่จะใส่ช่องทางการติดต่อโดยแนะนำว่าให้ใส่อีเมล และเบอร์โทรศัพท์เป็นหลักค่ะ ส่วนตัวเราใส่ไปตามที่กล่าวมาด้านบนทั้งหมดเลยค่ะ ถือคติเหลือดีกว่าขาดค่ะประวัติการศึกษาประวัติการศึกษาอาจไม่จำเป็นต้องระเอียดถึงขนาดที่ไล่ตั้งแต่อนุบาล แนะนำว่าอาจใส่ไปแค่มัธยมต้น และมัธยมปลายให้คณะกรรมการรู้คร่าวๆพอค่ะ เพราะว่าในบางมหาวิทยาลัยก็มีการกำหนดจำนวนหน้าในการทำพอร์ต น้องๆก็จะได้สามารถมีพื้นที่เพิ่มเติมในการแสดงถึงตัวตนของน้องผ่านผลงานกิจกรรมมากขึ้นค่ะรางวัลวิชาการ หรืออื่นๆรางวัลวิชาการนั้นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นรางวัลที่ชนะ หรือเป็นรางวัลระดับชาติ นานาชาติเพียงอย่างเดียว น้องๆสามารถเลือกรางวัลที่รู้สึกว่ามีเรื่องราว รางวัลที่น้องๆรู้สึกภูมิใจก็ได้เช่นกันค่ะ อย่างไรก็ตาม อย่าลืมที่จำคำนวณดีๆว่าผลงานประเภทไหนที่จะทำให้ทางมหาวิทยาลัยรู้สึกประทับใจค่ะ อย่างเราเองก็ได้ใส่รางวัลที่แค่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน แต่เป็นการแข่งขันที่ทำให้เราพัฒนาศักยภาพของตนเองมากยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะงานวิจัย การทดลองทางวิทยาศาสตร์ โครงงานงานทดลอง โครงงานต่างๆ นั้นค่อนข้างจะกว้างมากค่ะ น้องๆสามารถเลือกได้ตั้งแต่โครงงานที่ทำกับเพื่อนในโรงเรียน ไปจนถึงโครงงาน หรืองานวิจัยที่น้องๆกับเพื่อนทำกันเองก็ได้เช่นกันค่ะ มากไปกว่านั้นงานวิจัยยังไม่จำเป็นที่จะต้องตีพิมพ์ เพียงแค่ออกมาเป็นชิ้นเป็นอันได้ก็เพียงพอค่ะ (แต่ถ้าตีพิมพ์ได้ช่วยยกระดับพอร์ตไปอีกระดับนึงเลยนะ >-<) เราเองก็ใส่ไปทุกแบบเลยค่ะ ทั้งโครงงานวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน และงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ค่ะกิจกรรมวิชาการกิจกรรมวิชาการนั้นอาจเป็นผลงานวิชาการที่ได้ทำในโรงเรียน งานอบรมวิชาการ หรือแม้กระทั่งไปเข้าค่ายก็ได้ค่ะ ยกตัวอย่างเช่นเราเข้าเรียนคอร์สออนไลน์จาก coursera เรื่อง basic anatomy ที่นอกจากจะจะเป็นการอบรมด้านวิชาการ ยังทำให้เห็นถึงความตั้งใจ ความสนใจด้านการแพทย์ของเราด้วยค่ะกิจกรรมนอกห้องเรียนกิจกรรมนอกห้องเรียนในที่นี้เป็นกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆที่อยู่นอกเหนือจากห้องเรียน เช่น งานกีฬาสี คริสต์มาส วันไหว้ครู ที่น้องๆได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านั้น ซึ่งเราเองก็ได้ยกตัวอย่างการเข้าร่วมเป็นตัวแทนในการทำพานค่ะความเป็นผู้นำทักษะความเป็นผู้นำ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นทักษะที่มีความสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งในการยื่นคณะนี้ ซึ่งกิจกรรมที่ยื่นสามารถเป็นความเป็นผู้นำในการจัดงานของโรงเรียน เป็นตัวแทน หรือหัวหน้าของงานที่เราเคยได้ทำมา ไม่ว่างานจะเล็กหรือใหญ่ก็สามารถใส่ได้หมดเลยกิจกรรมจิตอาสากิจกรรมจิตอาสานั้นควรที่จะมีความหลากหลาย สามารถใส่ได้ทั้งจิตอาสาเกี่ยวกับการแพทย์ การศึกษา หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งตัวเราเองก็ใส่ไปทั้งสามประเภทเลยค่ะ แต่ถ้าใครมีไม่ครบก็ไม่เป็นไรเลยค่ะ แนะนำว่าอย่างน้อยๆต้องมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ เพื่อที่จะทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียนคณะนี้ค่ะ เราก็ได้ใส่กิจกรรมจิตอาสาที่โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ และโรงพยาบาลในชนบทค่ะความสามารถพิเศษในหัวข้อนี้นั้นค่อนข้างมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่ถ้าโดยทั่วไปแล้วจะเป็นด้านดนตรี ศิลปะ หรือกีฬานั่นเอง อย่างเราชอบกีฬาปิงปองก็เลยได้ใส่กิจกรรมนี้ลงไปด้วยค่ะ พร้อมกับอธิบายว่าการเล่นกีฬาทำให้เราได้ทักษะอะไรเพิ่มขึ้นมาบ้างค่ะ2. ควรเลือกกิจกรรมไหนใส่ใน Portfolio?ถ้าจะให้พูดกันตามความเป็นจริง น้องๆต้องศึกษาความต้องการของแต่ละมหาวิทยาลัยว่าต้องการรับเด็กแบบไหน ในบางมหาวิทยาลัยต้องการความเป็นเลิศด้านวิชาการ กิจกรรมที่น้องๆควรจะใส่ลงไปจึงควรเป็นกิจกรรมที่เป็นระดับชาติ หรือนานาชาติเป็นต้น บางมหาวิทยาลัยต้องการดูสิ่งที่เด็กเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เวลาที่เลือก จึงต้องเลือกกิจกรรมที่มีคุณค่าต่อตัวเรา ผลงานที่รู้สึกภาคภูมิใจ และสามารถอธิบายออกมาได้เป็นอย่างดีนั่นเอง อย่างไรก็ตามถ้าน้องๆคนไหนยังไม่มีกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยในฝันของตนเองต้องการ ถ้ามีเวลามากพอ อาจพยายามหากิจกรรมเพิ่มเติมทำ แต่ไม่อยากให้ต้องรู้สึกว่าพยายามมากเกินไป ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าผลงานนั้นจะเล็กขนาดไหน แต่ถ้าน้องๆได้เรียนรู้สิ่งที่ยิ่งใหญ่จากมัน การใส่กิจกรรมเหล่านั้นลงไปในพอร์ตก็ย่อมได้ค่ะ โดยส่วนตัวเราแล้วก็ค่อนข้างที่จะเน้นใส่กิจกรรมที่หลากหลายลงไปค่ะ เช่นความเป็นผู้นำก็มีทั้งระดับนานาชาติและระดับโรงเรียน หรือจิตอาสาที่ได้ทำก็มีทั้งจิตอาสาในโรงพยาบาลและโรงเรียนค่ะ3. ถ้ากิจกรรมมีไม่ครบจะเป็นอะไรไหม?จริงๆแล้วหลายมหาวิทยาลัยจะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันว่า ในตัวพอร์ตของน้องๆจำเป็นต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น ถ้ามหาวิทยาลัยไหนมีข้อกำหนดเรื่องผลงานกิจกรรมในพอร์ต แนะนำว่าควรพยายามหาผลงานที่สอดคล้องกับข้อกำหนดมาให้ครบ เหลือดีกว่าขาดค่ะ ซึ่งหัวข้อย่อยที่ได้แนะนำไว้ด้านบนนั้นก็ค่อนข้างครอบคลุมสำหรับทุกมหาวิทยาลัยแล้ว จึงอยากแนะนำน้องๆที่ยังพอมีเวลาอยู่ว่าให้ลองทำกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อที่จะได้เก็บครบในทุกๆหัวข้อย่อยที่กล่าวมานั่นเองค่ะ แต่ถ้าหัวข้อไหนที่ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้กำหนด น้องๆสามารถตัดสินใจได้เองเลยว่าอยากที่จะใส่ลงไปเพิ่มเติมไหม เพื่อที่จะได้เห็นผลงานที่หลากหลาย หรืออาจจะไม่ใส่ลงไปแต่เน้นไปที่กิจกรรมที่ถูกกำหนดมามากกว่าค่ะ ซึ่งโดยส่วนตัวเราแล้วก็ใส่ผลงานกิจกรรมไปในทุกๆด้านเลยค่ะ เพราะอยากที่จะให้กรรมการเห็นถึงความสามารถรอบด้านนั่นเอง4. ควรเขียน reflection ของแต่ละกิจกรรมอย่างไร?การเขียน reflection ก็คือการบรรยายกิจกรรม และบอกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมนั้นๆ ซึ่งสัดส่วนของการบอกสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นควรที่จะมากกว่าการบรรยาย โดยการบรรยายนั้นควรที่จะทำให้กระชับและเข้าใจว่ากิจกรรมนั้นเกี่ยวกับอะไร ในส่วนของสิ่งที่ได้เรียนรู้จะต้องกล่าวถึงทักษะที่ได้พัฒนาจากกิจกรรมนั้นๆ มากไปกว่านั้น ถ้าสามารถเชื่อมกิจกรรมเข้ากับการเรียนแพทย์ได้ก็จะดีมาก เพราะจะทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของตัวน้องต่อการเรียนแพทย์ และความตั้งใจที่อยากจะเรียนในคณะนี้ ซึ่งการบรรยายนั้นควรที่จะไม่ยาวเกินไปด้วยเช่นกันเพื่อให้ไม่เกิดการหลงประเด็น วกวน และการที่ยาวเกินไปอาจทำให้กรรมการอ่านเพียงผ่านๆนั่นเอง5. Portfolio ยื่นแต่ละมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกันอย่างไร?อย่างแรกเลยคือความต้องการของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นไม่เหมือนกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์การให้คะแนน เงื่อนไขของพอร์ตจะมีความหลากหลาย ซึ่งน้องๆจะต้องจับจุดให้ได้ว่าเป้าหมายในการผลิตแพทย์ของแต่ละที่เป็นอย่างไร มีความต้องการที่จะรับนักศึกษาแพทย์ประเภทไหนเข้ามาเรียน ที่สำคัญที่สุด อย่างที่เราสามารถเห็นได้ในหลายๆปีที่ผ่านมาว่าหลายที่จับวันสัมภาษณ์ชนกัน นั่นหมายความว่าแต่ละสถาบันต้องการเด็กที่ต้องการจะเรียนที่นั่นจริงๆ ข้อนี้จึงเป็นจุดสำคัญว่าพอร์ตของแต่ละที่ โดยเฉพาะ Personal Statement และการแสดงความต้องการที่จะเข้าเรียนสถาบันนั้นๆผ่านรูปแบบของพอร์ตไม่ว่าจะเป็นการตกแต่ง หรือการบรรยายกิจกรรมต่างๆเชื่อมโยงกับทางมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นสำหรับใครที่ต้องการยื่นหลายๆที่ อย่าลืมที่จะใส่ใจข้อนี้กันด้วยน้าทุกๆคำอธิบายของเรามาจากประสบการณ์จากปีที่ผ่านๆมาของเราเองค่ะ อย่างไรก็ตาม แต่ละบุคคลอาจมีความคิด มุมมองต่อการทำพอร์ตที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นแนะนำให้น้องๆนำข้อมูลเหล่านี้ไปดัดแปลงให้เข้ากับตนเองค่ะ เพราะสุดท้ายสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องการ ก็คือเห็นตัวตนของน้องๆนั่นเองค่ะ ขอเป็นกำลังใจน้อยๆให้ทุกๆคนที่กำลังเตรียมตัวกันอยู่นะคะ (っ^▿^)เครดิตรูปภาพภาพปก: นักเขียน/canva.comภาพที่ 1: Krivec Ales/Pexelsภาพที่ 2: Pixabay/Pexelsภาพที่ 3: JESHOOTS.com/Pexelsภาพที่ 4: Anete Lusina/Pexelsอัปเดตข่าวสาร และแหล่งเรียนรู้หลากหลายแบบไม่ตกเทรนด์ บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !