หลังจากอาณาจักรทวารวดีล่มสลายลงในพุทธศตวรรษที่ 16 อาณาจักรเขมรขึ้นมาแทนที่ในบริเวณภาคกลางและภาคอีสานของประเทศไทยในสมัยโบราณ ยุคที่อาณาจักรเขมรรุ่งเรืองมากที่สุดมีอยู่สอง 2 ช่วง คือ ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ยุคพระนคร ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 และสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยุคพระนครหลวง หรืออังกอธม ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงชีวิตของพระองค์ก่อนจะได้ขึ้นครองราชนั้น วิถีชีวิตของพระองค์ส่วนใหญ่อยู่กับการสงครามเป็นหลัก คือรบกับพวกจาม ต่อสู้อยู่ 4 ปีจึงได้รับชัยชนะ เมื่อพระองค์ได้ครองราชแล้ว (พ.ศ. 1724-1761) ทรงสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ ชื่อว่านครธม หรือพระนครหลวง และเป็นช่วงที่บ้านเมืองสงบไม่มีภัยสงคราม แต่ถึงกระนั้นพระองค์ยังมีความพยายามขยายอำนาจไปยังดินแดนต่าง ๆ แต่ไม่ใช้กำลังทหารในการขยายอาณาเขต แต่กลับทรงใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการแผ่อำนาจ และก็ได้ผลดีตามพระประสงค์ ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้น เป็นแผ่นดินที่กษัตริย์นับถือพระพุทธศาสนา ถ้าจะว่ากันง่าย ๆ พระองค์ใช้หลักการของพระพุทธศาสานามาใช้ในการปกครองประชาชน และพระพุทธศาสนาที่พระองค์นับถือนั้น เป็นพระพุทธศาสนาแบบมหายานที่ได้รับมาจากอินเดีย ซึ่งพระพุทธศาสนาแบบมหายานนี้ มีความเชื่อเรื่องแนวทางพระโพธิสัตว์ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นทุกข์ โดยยึดหลักพรหมวิหารเป็นสำคัญเพื่อเป็นสะพานเข้าถึงพระนิพพาน โดยมีเอกลักษณ์เป็นเฉพาะคือ พระโพธิสัตว์บางองค์ยอมช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์เข้านิพพานก่อน ตนเองถึงเข้านิพพานทีหลัง ด้วยแนวคิดทางพระพุทธศาสนาแบบมหายานนี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงนำมาใช้เป็นแนวทางในการครองแผ่นดินอย่างเป็นรูปธรรมคือ 1. การไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า พระองค์ขยายอาณาเขตโดยใช้กำลังทหาร 2. การสร้างโรงพยาบาล หรืออโรคยาศาลาไว้ตามจุดต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งในสยาม และในกัมพูชา 3. การสร้างศาลาที่พักคนเดินทาง หรือครัวมีไฟ ราว 212 แแห่ง 4. ประชาชนมีสิทธิ์เสรีภาพในการดำเนินชีวิต จากหลักฐานคือภาพสลักหินทรายที่ปราสาทบายน 5. พระองค์มีความศรัธทาในพระพุทธศาสนาป็นอย่างมาก คือ - ทรงเปลี่ยนเทวสถานฮินดูเป็นพุทธสถานเช่น ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ต่อเติมปรางค์พรหมทัต มีสองปรางค์ ขวา ซ้าย ก่อด้วยศิลาแลงข้างในประดิษฐานรูปจำลองของพระองค์กับพระมเหสี และได้สร้างพระพุทธรูปนาคปรก ที่ชื่อว่า กัมระเตง ชะคะตะ วิมายะ ประดิษฐานไว้ที่ปราสาทประธาน อันเป็นการแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า - ปราสาทบายน เป็นปราสาทที่พระองค์รับสั่งสร้างขึ้น ซึ่งนักวิชาการคาดว่าสร้างขึ้นภายใต้ความเชื่อทางพระพุทธศาสนามหายาน เพราะมีการสันนิษฐานว่า รูปสลักใบหน้าที่ปรากฏนั้นเป็นใบหน้าของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศรวร ลักษณะการปกครองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จะสังเกตได้ว่า มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระเจ้าอโศกมหาราชอย่างเห็นได้ชัด เริ่มต้นด้วยสงคราม จบลงด้วยพระธรรม มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าพระองค์ได้แบบแผนมาจากพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดีย โดยเล็งเห็นขอดีของการปกครองและขยายอาณาเขตโดยใช้แนวทางของพระพุทธศาสนา การทำสงครามในแต่ละครั้งมีการสูญเสียที่ตามมามากมาย ทั้งกำลังคน ค่าใช้จ่าย อาหารที่ต้องแบ่งให้กับกองทัพ และอื่น ๆ อีกมาก แถมยังมีศัตรูเพิ่ม แรงงานชายมีส่วนสำคัญมาก เพราะผู้ชายเป็นกำลังหลักในการแสวงหาและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ถ้าขาดแรงงานชายจะเกิดผลกระทบต่อเศษฐกิจของประเทศ อีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่ไม่ขยายอาณาเขตด้วยกองทัพคือ การสูญเสียงบประมาณอย่างมากในสงครามก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชทำให้งบประมาณในท้องพระคลังมีไม่เพียงพอ จึงทรงหาทางออกด้วยการนำพระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางการบริหารประเทศ หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคต อาณาจักเขมรก็เสื่อมลงเรื่อย ๆ และก็ถึงการของรัฐสยามเข้ามาเป็นใหญ่ นั้นคือสุโขทัย ภาพถ่ายโดย พงศธร อิ่มอุดม ผู้เขียนบทความ