นักวิชาการ สวน รองผู้ว่าสุราษฎร์ฯ หลังถกปัญหาอ่าวบ้านดอน แนะยึดหลักธรรมาภิบาล
นักวิชาการ สวน รองผู้ว่าสุราษฎร์ฯ หลังถกปัญหาอ่าวบ้านดอน แนะยึดหลักธรรมาภิบาล
วันที่ 1 ก.ค. นายวรา จันทร์มณี นักวิชาการอิสระ อดีตเลขาส่วนตัวอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีปัญหาที่อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฏร์ธานี โดยเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีเวทีการหารือ นโยบายสาธารณะอ่าวบ้านดอน ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “กระบวนทัศน์และกระบวนการในการจัดการพื้นที่สาธารณะทางทะเลอ่าวบ้านดอน อย่างมีส่วนร่วม ยั่งยืน และเป็นธรรม” โดยมีนายนายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี ประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน กล่าวเปิดเวที
โดนนายวรา ระบุว่า ขอใช้สิทธิพาดพิงที่นายสุทธิพงษ์ ที่พูดว่า “แล้วเสือกมีหลายท่านที่สนับสนุนว่าทะเลเป็นของสาธารณะ น่าอายมั้ย โดยเฉพาะนักวิชาการบางท่าน” ผมเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่นายสุทธิพงษ์ กล่าวถึง ขออธิบายว่าไม่ได้เสือก เพราะปัญหาอ่าวบ้านดอนไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หรืออ่าวบ้านดอนไม่ใช่เขตอิทธิพลส่วนตัวของใคร
อ่าวบ้านดอนเป็นปัญหาสาธารณะที่กระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ทั้งที่ทำอาชีพประมงและผู้บริโภค รวมถึงกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต ความสงบสุข มาตรฐานนิติธรรมสังคม ตนในฐานะนักวิชาการจึงมีสิทธิทักท้วงวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ มีหลายประเด็นที่ฟังรอง ผวจ.สุราษฎร์ธานีพูดแล้วไม่สบายใจ ไปจนถึงหนักใจ โดยขออภิปรายดังนี้
สิ่งที่ตนไม่เห็นด้วยลำดับแรกคือ ประเด็นที่นายสุทธิพงษ์ บอกว่า ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา ไม่ทราบว่า นายสุทธิพงษ์ เรียนจบรัฐศาสตร์หรือไม่ ถ้าจบ จบมาจากสถาบันไหน แต่เท่าที่นายสุทธิพงษ์ พูด นายสุทธิพงษ์ ไม่เข้าใจวิชารัฐศาสตร์ เราเรียนตั้งแต่ปรัชญาการเมืองไปจนถึงการบริหารจัดการ ไม่มีปรัชญาการเมืองไหนสอนให้กะล่อนไร้หลักการ
รัฐศาสตร์สอนเรื่องธรรมาภิบาล (Good Governance) การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อันต้องประกอบด้วยหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ หลักความคุ้มค่า แถมยังสอนเรื่องบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ครอบคลุมไปถึงเรื่องคุณธรรมในการปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรม ไปจนถึงโพชฌงค์ 7 หนทางแห่งการตรัสรู้
ผมรู้สึกไม่สบายใจกับท่าทีและคำพูดของคนระดับรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่แสดงต่อสาธารณะ รู้สึกถูกคุกคามและไม่ปลอดภัย ท่านใช้คำพูดรุนแรง และมีคำผรุสวาทนานา เช่น คนระยำไม่กี่คน หน้าด้าน เสือก”
ตรรกะที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ สับสนระหว่างหลักนิติธรรมกับหลักลอย พูดว่า นักข่าวคนหนึ่งบอกว่าทะเลเป็นของสาธารณะ ทะเลอ่าวบ้านดอนทุกคนก็เข้าไปได้ แต่มันกระทบกระเทือนสิทธิคนอื่นมั้ย นายสุทธิพงษ์ พยายามอธิบายว่า ทะเลทุกที่ล้วนถูกจับจอง โดยยกตัวอย่างทะเลเพชรบุรีว่า ทะเลเป็นของสาธารณะ แต่อยากให้คนพูดพาไปเก็บหอยที่เพชรบุรี ผมไม่ได้สนับสนุนผู้ประกอบการ และบอกว่า คุณธรรม จริยธรรม มันหายไปไหน
และคำพูดที่ว่า “ความจริงผมควรจะมีเป็นพันไร่ เพราะตอนนั้นผมเป็นรักษาการนายอำเภอ” และ “ถ้าสำนึกรักบ้านเกิดจริง คุณลองไปอยู่สักเดือนสองเดือน กล้ารึเปล่า” “ผมฟังแล้วน่ากลัวมาก และเป็นเครื่องตอกย้ำว่ากรณีปัญหาหอยอ่าวบ้านดอนที่คาราคาซังมานับ 10 ปี ไม่ธรรมดา มากด้วยอิทธิพล และเริ่มไม่แน่ใจว่า ตกลง รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรัทธาในกฎหมายหรือกฎหมู่
คำพูดที่ท่านบอกว่า “คุณจะไปเสนอรัฐบาล ไม่มีทาง อย่าคุยเลย” “คนไทยเราทำอะไรตามใจคือไทยแท้” “ผมบอกพวกคุณ ถ้าเอาตามกฎหมาย ข้าราชการในประเทศไทยอาจติดคุกกันหลายคน” ผมฟังแล้วเหมือนกับว่ารองผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เชื่อในหลักนิติธรรม การที่นายสุทธิพงษ์ บอกว่า “ผมรับราชการ ทำงานก่อน 8 โมงเช้าทุกวัน” มันไม่ได้สะท้อนอะไร
แม้ว่าท่านจะมาก่อน 6 โมงเช้า กลับ 2 ทุ่ม หรือนอนศาลากลาง ก็ไม่รู้ว่าท่านทำอะไร การใช้เวลามากหรือขยันไม่ได้เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลของงาน หากท่านเข้าใจวิชารัฐศาสตร์จริงจะไม่พูดเช่นนี้ และ ท่านตำหนิเรื่องคนใส่เสื้อกล้ามไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องเปลือก เป็นรูปลักษณ์ภายนอก และเป็นค่านิยมของตัวท่านเองที่ใช้อำนาจในฐานะรองผู้ว่าราชการจังหวัด “ไล่” ประชาชน แต่ท่านกลับจะลดหย่อนให้แก่ผู้ที่จับจองทะเลซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะประกอบกิจการส่วนตัว
ทุกท่านครับ นี่เป็นแค่ตัวอย่าง ขอให้ท่านฟังคลิปเอง ผมแน่ใจว่าสิ่งที่พวกเรา นักวิชาการ ประชาชน และสื่อมวลชน กำลังผลักดัน คือการทำให้การทำประมงในจังหวัดสุราษฎร์ฯ โปร่งใสขึ้น และได้ทำตามที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอ คือ ขอร้องอย่าทำให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเสียหายไปกว่านี้หรือตกต่ำลงอีกเลย หวังว่ารองผู้ว่าราชการจังหวัดคงเข้าใจ และยึดในหลักธรรมาภิบาล หลังจากนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีคงเข้าใจคำว่าหลักรัฐศาสตร์มากขึ้น”
“สุดท้ายผมขอให้ข้อสังเกตว่า เราควรยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจไปที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้แล้ว ประชาชนควรตระหนักถึงปัญหานี้ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือลุกขึ้นสู้ ตรวจสอบชี้ให้เห็นจุดบกพร่อง ผลักดันให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจังเสียที
เพราะไม่อย่างนั้นเราจะมีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กินอำนาจ และถือสิทธิขาดให้คุณให้โทษไปอย่างนี้ไม่จบสิ้น “เวลาชาวบ้านมีปัญหากับนักการเมืองท้องถิ่น หรือข้าราชการ ที่อยู่ในสายนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ทำอะไรไม่ได้ ไร้อำนาจต่อรอง เพราะเขาก็เป็นพวกกันหมด
ในที่สุดก็ถูกกลั่นแกล้งกดดันรังแกสารพัด จะไปร้องศูนย์ดำรงธรรมเหรอ ศูนย์ดำรงธรรมก็ไม่ได้ให้ความเป็นธรรม เพราะศูนย์ดำรงธรรมถูกกำกับโดยนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดนั่นเอง ขออนุญาตเสือกแค่นี้ก่อนนะครับ แล้ววันหลังจะมาเสือกอีก ขอบคุณครับ”