รีเซต

“อนุทิน” เผยร่าง มาตรการความปลอดภัยบุคลากรแพทย์ 6 ข้อ ต้องใช้ของมีมาตรฐาน ห้ามขาดมือ

“อนุทิน” เผยร่าง มาตรการความปลอดภัยบุคลากรแพทย์ 6 ข้อ  ต้องใช้ของมีมาตรฐาน ห้ามขาดมือ
มติชน
17 เมษายน 2563 ( 14:22 )
131
1
“อนุทิน” เผยร่าง มาตรการความปลอดภัยบุคลากรแพทย์ 6 ข้อ  ต้องใช้ของมีมาตรฐาน ห้ามขาดมือ

 

 มาตรการความปลอดภัยโควิด-19 เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ(สช.)  กระทรวงสาธารณสุข  นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข(สธ.)  ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางสาธารณสุข ครั้งที่ 1  เพื่อการพิจารณาออกมาตรการการให้ความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ทางการสาธารณสุขภาคส่วน เนื่องในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

 

นายอนุทิน กล่าวว่า จะต้องมีมาตรการรักษาบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความปลอดภัยอย่างมากที่สุดเพื่อไปให้บริการ ดูแลประชาชนต่อไป   คณะกรรมการได้มีการพิจารณาร่างประกาศและความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19   ว่า 1.ให้สถานพยาบาลทุกแห่งรวมทั้งสถานที่ให้บริการทางสาธารณสุขแก่ประชาชน  ให้ความสำคัญและประกาศเป้าหมายความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุขทุกคนในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19  2.มีแนวทางปฎิบัติเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกิดจากการรวบรวมองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในระบบสาธารณสุขทุกภาคส่วน เพื่อให้บุคลากรเหล่านั้นสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ด้วยความมั่นใจ

 

3.จัดให้มีหน้ากากอนามัยชนิดทางการแพทย์ให้มีความเพียงพอสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขทุกคนและบริหารหน้ากากอนามัยชนิด N95  รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันให้มีสำรองพร้อมใช้อย่างเหมาะสม   4. บุคลากรทางสาธารณสุขที่ปฎิบัติหน้าที่ทุกคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ/สงสัยว่าจะติดเชื้อ   โควิด-19 จะได้รับการคัดกรองและตรวจ หากพบว่ามีการติดเชื้อจะได้รับการรักษาอย่างดีทันที รวมถึงการตรวจคัดกรองผู้สัมผัสใกล้ชิดในครอบครัวด้วย 5.มีหลักประกันคุ้มครองดูแลและเยียวยาบุคลากรสาธารณสุขที่ติดเชื้อโควิด-19    จากการปฎิบัติหน้าที่ และ 6.ให้มีช่องทางการสื่อสารให้ความรู้และสร้างความมั่นใจแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในการปฎิบัติหน้าที่ รวมถึงรับฟังเสียงสะท้อนและความต้องการเพื่อดูแลและสนับสนุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์   จริง

 

“ขอย้ำว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข  ไม่ใช่เพียงบุคลากรของสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ทางการสาธารณสุขผู้ให้บริการ   ที่รวมไปถึงเภสัชกร เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย    ทันตแพทย์ ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ที่เป็นบุคลากรให้การบริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทุกคน  ” นายอนุทิน กล่าว


นายอนุทิน กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก(WHO) ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของ บุคลากรทางสาธารณสุข  โดยยึดหลักว่า “จะไม่เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย หากบุคลากร สาธารณสุขไม่มีความปลอดภัย ” และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์   จึงต้องควบคุมป้องกันและบริหาร ดูแลบุคลากรทางสาธารณสุขให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้   เป้าหมายของประเทศไทย คือ “บุคลากรปลอดภัย มีแนวทางมั่นใจ อุปกรณ์พร้อมใช้ สงสัยตรวจได้ เจ็บไข้รักษาทันที คุ้มครองชีวีใส่ใจทุกคน  ” คณะกรรมการฯ มีแนวทางและความเห็น จึงประกอบมาเป็นมาตรการและแนวทางขึ้น โดยใช้หลักการทั่วไปเพื่อให้ครอบคลุมในส่วนของการปฎิบัติงาน และทุกหน่วยงานสามารถนำไปประยุกต์ เพิ่มเติมใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ มากที่สุดในหน่วยงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล

 

เมื่อถามว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น และจะต้องมีมาตรฐานในการใช้งาน  ในขณะนี้ประเทศไทยมีความเพียงพอหรือไม่  นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้มีความเพียงพอและบริหารได้ และใช้ทุกช่องทางที่มีอยู่ในการหาเพิ่ม  เติม ประเทศไทยเป็นผู้ซื้อรายใหญ่และมีระบบการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง หากเรามีการเลือกใช้เวชภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานก็เป็นการสร้างความมั่นใจในสินค้าเหล่านั้น  ด้วย

 

“ขอให้ความมั่นใจว่า เราจะไม่มีวันเอาของที่จะไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ใช้เป็นอันขาด จะต้องมีความเพียงพอและนโยบายชัดเจนว่าของเรานี้จะขาดมือไม่ได้  ” นายอนุทิน กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง