ในแต่ละช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่น หมายถึงการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่งเสมอ ทั้งแนวคิด การกระทำ กระบวนการต่าง ๆ และสภาพเเวดล้อม โดยมีมนุษย์เป็นผู้กำกับตลอดเส้นทางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ความเป็นนครรัฐก็เช่นเดียวกันเพราะสังคมมนุษย์แต่ก่อนอยู่กันเป็นกลุ่มแบบชนเผ่า ซึ่งมีเล็กบ้างใหญ่บ้างขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร เมื่อคนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และเกิดการขยายตัวของประชากรเป็นระดับสังคมการมีผู้นำจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อเป็นตัวแทนของสังคมในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบแบบแผนเพื่อความอยู่รอดของสังคมที่ตนเองดูแล เมื่อสังคมเจริญเติบโตขึ้นสิ่งที่ตามมาคือกฎกติกาในการปกครอง และการตั้งสังคมของตนเองขึ้นเป็นนครรัฐ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการขยายดินแดนเพื่อเพิ่มอำนาจและทรัพยากรในสิ่งที่ดินแดนของตนเองไม่มี นั้นหมายถึงสงคราม สงครามกับความเป็นนครรัฐเป็นสิ่งที่ควบคู่กันมาในสมัยโบราณ เพราะนอกจากจะแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือดินแดนอื่นแล้ว สิ่งที่จะได้ตามมาคือแรงงานคนจากฝ่ายตรงข้ามที่จับได้ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน รวมทั้งทรัพยากรอื่นในเมืองที่ผู้ชนะสงครามจะได้มา ยิ่งได้รับอิทธิพลความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ฮินดูจากทางอินเดียเข้ามาด้วยแล้ว การขยายอำนาจด้วยการสงครามยิ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครอง หรือกษัตริย์ต้องกระทำเพราะในบริบทของศาสนาพราหมณ์ฮินดูถือเป็นหน้าที่ของวรรณะกษัตริย์ที่ต้องขยายดินแดน รัฐไทยรัฐแรกแน่นอนว่าใคร ๆ ก็นึกถึงรัฐสุโขทัยเพราะเป็นรัฐไทยรัฐแรกที่ยืนยันได้ว่าชนชาติไทยเป็นผู้ปกครอง อาณาจักรสุโขทัยเริ่มต้นราชวงศ์เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 สิ้นสุดอาณาจักรช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 รวมความเป็นอิสระได้ร้อยกว่าปี ต่อมาเมืองสุโขทัยถูกรวมเป็นอาณาจักรเดียวกับอยุธยาในปี พ.ศ. 2127 เมื่อสมเด็จพระสรรเพชญที่ 2 หรือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนะศึกที่แม้น้ำสะโตง และสั่งให้เทครัวจากเมืองเหนือทั้งหมดเขามาในกรุงศรีอยุธยาซึ่งสุโขทัยก็เป็นหนึ่งในเมืองที่ต้องเทครัว อาณาจักรอยุธยาเรืองอำนาจขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 โดยราชวงศ์อู่ทองโดยมีสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เป็นปฐมกษัตริย์ อาณาจักรอยุธยาครองความเป็นใหญ่อยู่ถึง 417 ปี มีพระมหากษัตริย์อยู่ 33 พระองค์ (รวมขุนวรวงศาธิราช เพราะท่านอยู่ในราชวงศ์อู่ทองถือเป็นหนึ่งในสิทธิ์ที่จะได้ครองราชย์) ความเป็นรัฐอยุธยาในหลาย ๆ บริบททางประวัติศาสตร์ การกำเนิดเมืองในแต่ละเมืองจะเป็นการซ้อนกันระหว่างอาณาจักร เพราะก่อนที่ประเทศไทยจะรวมเป็นหนึ่งเดียวแบบในปัจจุบันได้นั้น ในสมัยโบราณประเทศสยามแบ่งออกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อยกระจายกันอยู่ตามพื้นที่ นั่นก็แสดงว่ารัฐอยุธยานั้นได้เกิดขึ้นมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 มานานแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าในระหว่างที่สุโขทัยเรืองอำนาจ รัฐอยุธยาได้ถือกำเนิดแล้วแต่การเริ่มก่อตั้งรัฐจะอยู่ในช่วงใดนั้นยังหาคำตอบไม่ได้ แต่มีการกล่าวถึงรัฐที่อยู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าอยู่รัฐหนึ่งคือ "อโยธยา" มีข้อสันนิษฐานของผู้รู้ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ว่ารัฐนี้มีถิ่นฐานอยู่ที่ด้านนอกของเกาะเมืองอยุธยา แถวบริเวณตรงข้ามพาณิชย์นอกหรือมหาวิทยาลัยราชมงคลวิทยาเขตหันตรา ทางทิศตะวันตก แต่ขอบเขตของของรัฐที่ชัดเจนยังไม่สามารถกำหนดได้ รัฐอโยธยานี้เป็นรัฐหนึ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เป็นรัฐเดียวกับอยุธยาและเป็นรัฐอยู่มาแต่เดิมในบริเวณนี้นานมาแล้ว แต่ไม่ทราบว่ารัฐนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาใด แต่พบว่าบริเวณพื้นที่ของการตั้งถิ่นฐานพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดีช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ที่ตีความกันว่าเป็นที่ตั้งของรัฐอโยธยามีการใช้พื้นที่มาอย่างยาวนาน ต่อมาช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 กษัตริย์อยุธยาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองได้ย้ายเมืองเข้ามาตั้งใหม่ในเขตบริเวณเกาะเมืองในสมัยปัจจุบัน และสร้างพระราชวังอยู่ในพื้นที่ของเกาะเมือง มีหลักฐานหนึ่งที่สนับสนุนเหตุผลคือข้อความที่บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาใจความว่า "ศักราช ๗๑๕ ปีมะเส็ง เบญจศก (พ.ศ. ๑๘๙๖) วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑ ค่ำ เพลา ๒ นาฬิกา ๕ บาท ทรงพระกรุณาตรัสว่า ที่พระตำหนักเวียงเหล็กนั้นให้สถาปนาพระวิหารและพระมหาธาตุเป็นอารามแล้ว ให้นามชื่อ วัดพุทไธศวรรย์" นั่นหมายความว่ามีการย้ายเมืองเข้ามาในเกาะที่มีแม่น้ำล้อมรอบ (เจ้าพระยา ป่าสัก) และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็น "อยุธยา" สาเหตุที่ต้องย้ายก็ด้วยที่ว่าชัยภูมิพื้นที่ของเกาะที่มีแม่น้ำล้อมรอบสามารถเป็นปราการป้องกันข้าศึก เพราะการที่ตั้งราชธานีอยู่ด้านนอกเป็นที่ราบลุ่มและเปิดโล่งนั้นไม่มีความปลอดภัยในการรักษาเมือง ด้วยสาเหตุนี้จึงตีความได้ว่า เมืองอโยธยาถูกรุกรานจากอาณาจักรที่อยู่รอบด้านอยู่หลายครั้ง จึงมีความจำเป็นต้องทิ้งเมืองมาสร้างเมืองใหม่คือ อยุธยาในปัจจุบัน และเมื่ออาณาจักรสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง รัฐอยุธยาขึ้นมาเป็นใหญ่ก่อตั้งขึ้นเป็นอาณาจักร และต่อมาก็กลืนเมืองสุโขทัยมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา สาเหตุหนึ่งที่สุโขทัยเสื่อมอำนาจก็เพราะ อยุธยาเข้าไปแทรกแซงระบบการเมืองการปกครองโดยใช้นโยบายทางด้านกองทัพ เรื่องของการเกิดนครรัฐนั้นในพื้นที่หรือภูมิภาคหนึ่ง ๆ มีได้หลายเมืองหลายรัฐอย่างเช่น ในสมัยอาณาจักรทวารวดีช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ในช่วงเวลานี้ทวารวดีเรืองอำนาจอย่างมากในระดับอาณาจักร แต่ก็มีรัฐเขมรอยู่ร่วมในช่วงเวลานี้แต่ยังไม่สามารถผลักดันตัวเองเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ได้ ต่อมารัฐเขมรสามารถทำสงครามเอาชนะอาณาจักรทวารวดีได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เขมรก็เข้ามาเป็นใหญ่เหนืออาณาจักรทวารวดีและตั้งรัฐของตนเองเป็นอาณาจักร จากนั้นรัฐทวารวดีจึงลดบทบาทลงและถูกกลืนเป็นอาณาจักรเขมรไปในที่สุด ภาพถ่ายโดย พงศธร อิ่มอุดม ผู้เขียนบทความ