รีเซต

เชียงใหม่ รับฟังปัญหาสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ ที่ ดอยสะเก็ด หลังชุมชนขอแผนชัด

เชียงใหม่ รับฟังปัญหาสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ ที่ ดอยสะเก็ด หลังชุมชนขอแผนชัด
มติชน
19 มิถุนายน 2564 ( 11:57 )
42
เชียงใหม่ รับฟังปัญหาสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ ที่ ดอยสะเก็ด หลังชุมชนขอแผนชัด

“รัฐพล” ควง “ส.ว.ก๊อง” รับฟังปัญหาสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะมูลค่า 2,000ล้าน ที่ ดอยสะเก็ด หลังชุมชนขอแผนชัดเจน-มีส่วนร่วมบริหารจัดการ นายกอบจ.ลั่นเดินหน้าสร้าง หลังศาลปกครองยกคำร้องระงับสร้างแล้ว แต่ขอเวลาพิจารณาคุณสมบัติ-เงื่อนไขผู้ชนะประกวดราคา 1 เดือน จ่อเซ็นสัญญาหลัง24 มิถุนายนนี้ หากเจรจาต่อรองให้ประโยชน์ชุมชนได้รับผลกระทบสำเร็จ

 

วันที่ 19 มิถุนายน  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ ส.ว.ก๊อง นายากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเรียกร้องของชุมชนที่อยู่รอบโครงการศูนย์กำจัดขยะครบวงจรอบจ. ที่บ้านป่าตึงน้อย หมู่ 1 ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด มีนายกิตติพัฒน์ กะวังนายอำเภอดอยสะเก็ด นายเสฏฐวัจน์ เสทธะยะ ส.อบจ.อ.ดอยสะเก็ด เขต1 สมชาติ วัฒนากล้า ผู้อำนวยการสำนักการช่าง อบจ. นายไกรศักดิ์ จันทรสุกรี ผู้จัดการศูนย์จัดการขยะแบบครบวงจร อบจ. ในนามบริษัทวีพีเอ็น คอลเล็กชั่นส์ จำกัด พร้อมผู้นำชุมชนและชาวบ้าน เข้าร่วมกว่า 100 คน โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง

 

 

นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า โรงงานกำจัดขยะดังกล่าว บริษัทวีพีเอ็น คอลเล็กชั่นส์จำกัด เข้ามาบริหาร และใช้ระบบคัดแยกฝังกลบขยะ เมื่อปี 2548 หรือ 16ปีแล้ว เพื่อรองรับขยะพื้นที่โซนกลาง 4 อำเภอ คือ ดอยสะเก็ด สันทราย สันกำแพง และแม่ออน สามารถรองรับขยะได้วันละ 300 ตัน แต่มีปริมาณขยะเข้าสู่โรงกำจัดเฉลี่ยวันละ 100 ตันเท่านั้น มีพื้นที่กำจัดและกลบฝังรวม 40 ไร่ซึ่งบ่อขยะมีความสูง 5 เมตร คาดปริมาณขยะเต็มบ่อกลบฝังถึงพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงได้

 

นายรัฐพล กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้มารับฟังข้อร้องเรียนชาวบ้าน ถึงข้อกังวลการบริหารจัดการขยะ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขและตอบสนองความต้องการชุมชน โดยให้มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งเชียงใหม่ ได้ทำบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำหนดพื้นที่กำจัดขยะ 3 โซน คือ โซนเหนือ ที่เทศบาลตำบลเวียงฝาง อ.ฝาง โซนกลางอบจ. อ.ดอยสะเก็ด และโซนใต้ ของเทศบาลตำบลบ้านตาล ซึ่งเป็นพื้นที่ของเอกชน ดังนั้นทุกพื้นที่ต้องบริหาร จัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อชุมชนโดยเร็วที่สุด ภายใต้หลักชุมชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะเป็นผู้เสียสละให้นำขยะนอกพื้นที่มากำจัดกลบฝังได้

 

 

 

จากนั้น ที่ประชุมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการความชัดเจนแผนบริหาจัดการขยะ ซึ่ง อบจ.มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบโรงงานขยะได้ พร้อมขอมีส่วนร่วมบริหารจัดการศูนย์กำจัดขยะเนื่องจากมีการทิ้งขยะติดเชื้อจากโควิด อาทิ หน้ากากอนามัย และวัสดุทางการ
แพทย์ ซึ่งปะปนมากับขยะทั่วไป อาจมีแพร่เชื้อดังกล่าวไปสู่ชุมชนได้ ประกอบกับบ่อกลบฝังใกล้เต็มแล้ว จึงเรียกร้องให้ อบจ.ก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะโดยเร็วพัฒนาระบบสาธารณูปโภค อาทิ ถนน ไฟฟ้า บ่อดาบาล ให้ครบทุกชุมชนด้วย

 

นายพิชัย กล่าวว่า มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ มูลค่า 2,000 ล้านบาท ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยตั้งราคากลางที่ 1,800 ล้านบาท ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข หรือทีโออาร์แล้ว โดยยึดหลักประชาชนได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ซึ่งได้จัดประกวดราคาสร้าง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกปลัด อบจ. เป็นผู้ดำเนินการแต่ได้ยกเลิกไป ส่วนครั้งที่ 2 มีผู้ซื้อซองประกวดราคา 7 ราย แต่มีผู้เสนอราคาเพียงราย
เดียวเท่านั้น ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ 7 ราย ซึ่งเป็นของ อบจ. 4ราย และอาจารย์มหาวิทยาลัย อีก 3 ราย

 

 

“การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ ได้รับความเห็นขอบจากกระทรวงมหาดไทย แต่มีผู้ซื้อซองประมูล หรือผู้มีส่วนได้เสียบางราย ฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ ให้ระงับการก่อสร้างดังกล่าว ซึ่งได้ไปชี้แจงต่อศาลแล้ว และศาลได้ยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย นอกจากนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ได้เข้ามาตรวจสอบโครงการดังกล่าวแล้ว หลังมีผู้ยื่นซองประกวดราคาสร้าง วันที่ 24พฤษภาคมที่ผ่านมา อบจ. คณะกรรมการขอเวลาพิจารณาคุณสมบัติและเงื่อนไขผู้ได้รับการประมูลดังกล่าว 1 เดือน จนถึงวันที่ 24 มิถุนายนนี้ ก่อนประกาศว่าเป็นผู้ได้รับการประมูลสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะหรือไม่ เนื่องจากอยู่ระหว่างการต่อรองการให้ประโยชน์กับ อบจ. และชุมชนที่อยู่รอบศูนย์กำจัดขยะดังกล่าวอย่างไรบ้าง ถ้าทุกอย่างถูกต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว เพื่อประโยชน์ชาวเชียงใหม่ต่อไป” นายพิชัย กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายพิชัย ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าว ทำให้ผู้นำชุมชน ต่างพึงพอใจการแก้ปัญหาดังกล่าว จากนั้นนายรัฐพล นายพิชัย และผู้นำชุมชน ได้ไปตรวจโรงงานคัดแยก และบ่อกำจัดกลบฝังขยะที่อยู่ภายในศูนย์ดังกล่าว เพื่อรับทราบถึงปัญหาแท้จริง และหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้กระทบชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง