รีเซต

ประชาธิปไตยในโลกการเงิน ตัวอย่างที่โลกอื่นควรเดินตาม ? โดย เศรษฐา ทวีสิน

ประชาธิปไตยในโลกการเงิน ตัวอย่างที่โลกอื่นควรเดินตาม ? โดย เศรษฐา ทวีสิน
มติชน
18 กันยายน 2564 ( 08:34 )
16
ประชาธิปไตยในโลกการเงิน ตัวอย่างที่โลกอื่นควรเดินตาม ? โดย เศรษฐา ทวีสิน

 

Democratisation เป็นศัพท์ที่ค่อนข้างจะแปลเป็นภาษาไทยได้กระดากปากพอสมควร ถ้า google ดูจะได้คำแปลตรงตัวก็คือ “การทำให้เป็นประชาธิปไตย” ซึ่งเมื่อคำนี้ถูกพูดขึ้นมาในวงสนทนของพี่น้องชาวไทยก็มักจะเลี้ยวเข้าเรื่องการเมืองเสียทุกที ทั้งๆ ที่ศัพท์คำนี้ในภาษาอังกฤษถูกใช้ในหลายบริบท

 

 

แต่ก็ไม่ต้องแปลกใจที่ศัพท์คำนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในช่วงที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในสังคมเรามากขึ้น ในเมื่อโลกดิจิตัลให้อำนาจเราในการควบคุมหลายๆ เรื่องผ่านการกระดิกนิ้วบนหน้าจอ ยิ่งทำให้มนุษย์เราทุกคนมีความรู้สึกว่าทุกการกระดิกนิ้วนั่นคือการแสดงสิทธิ์บางอย่างบนแพล็ตฟอร์ม และกลไกของสารบบนั้นจะมีการแสดงผลให้เราเห็นว่า “เรามีตัวตน เสียงของเราถูกได้ยิน ได้รับการยอมรับจากระบบแล้ว และถูกนำไปประมวลผลรวมเพื่อนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เหมาะสม” นี่คือพื้นฐานของระบอบที่มีความเป็น

 

 

“ประชาธิปไตย” ไม่ใช่เฉพาะด้านการเมืองแต่ในบริบทอื่นๆ ก็ด้วย

โลกของการเงิน เป็นโลกหนึ่งที่ถูก “รบกวน” (ถ้าศัพท์หรูภาษาฝรั่งก็ disrupt) โดยกระบวนการ “ทำให้เป็นประชาธิปไตย” เช่นกัน ซึ่งถ้าให้ผมเขียนเป็นวลีสวยๆ ก็น่าจะหมายถึง “การกระจายอำนาจและสิทธิ์ในการบริหารธุรกรรมการเงินการลงทุนให้คนธรรมดาสามัญ เพื่อที่ทุกคนที่มีสิทธิ์นั้นๆ จะได้เท่าเทียมกัน ไม่มีใครยืนอยู่เหนือกว่าหรือมีสิทธิ์มากกว่าใคร”

 

 

ย้อนไปในประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย Charles Merrill หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลงทุนชื่อดังพยายามผลักดันให้ชนชั้นกลางของอเมริกาเริ่มลงทุนแต่ขาดองค์ความรู้ เลยทำใบปลิวง่ายๆ อธิบายเรื่องการลงทุนแจก และเป็นบริษัทวอลล์สตรีทรายแรกที่เปิดสาขาในเมืองเล็กๆ เพื่อเข้าถึงชาวบ้านได้มากขึ้น

 

 

หรือปัจจุบัน เราคงได้ยินชื่อแพล็ตฟอร์มซื้อขายหุ้นชื่อ “โรบินฮู้ด” ที่เป็นข่าวดังเมื่อต้นปี แพล็ตฟอร์มโรบินฮู้ดถือเป็นตัวอย่างของการกระจายอำนาจให้นักลงทุนอย่างดีอันหนึ่งด้วยการไม่เก็บค่า “ฟี” หรือค่าบริการในการซื้อขายหุ้นซึ่งทำให้มีลูกค้าใหม่เข้ามาใช้แพล็ตฟอร์มถึงกว่า 13 ล้านราย และยังเป็นแพล็ตฟอร์มที่ริเริ่มการซื้อขาย “แยกย่อย” หุ้นแบบมีเงินแค่ 1 ดอลลาร์ก็สามารถเป็นเข้าของหุ้นได้ง่ายๆ ก็เป็นตัวอย่างของการสร้างโอกาสให้คนธรรมดาเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้นและเท่าเทียมกันมากขึ้น

 

 

หรืออย่างกรณี GameStop ที่เกิดจากการรวมหัวกันของรายย่อยที่ต้องการทวงคืนความเป็นธรรมโดยการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวเพื่อดันให้ราคาพุ่งขึ้นสูงสวนทางกับที่ขาใหญ่ต้องการทำให้ขาใหญ่ขาดทุนกันกระจาย นี่เป็นตัวอย่างการทวงคืนสิทธิ์และแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการกระจายอำนาจให้นักลงทุนอย่างเท่าเทียมกันแล้ว จะไม่มีใครได้เปรียบใครอีกต่อไป เพราะเมื่อทุกคนเท่าเทียมกัน ย่อมมีการเพ่งเล็งถึงความโปร่งใส และนำมาซึ่งมติของเสียงส่วนมากว่าจะจัดการอย่างไรตามครรลองของแนวคิดประชาธิปไตย

 

 

เมื่อระบบและเทคโนโลยีสามารถสร้างความโปร่งใสและเอื้อให้เกิดความเท่าเทียมกันได้มากขึ้น แน่นอนว่าบทบาทของตัวกลางจะเริ่มหมดไป ตัวกลางก็มีทางเลือก 2 ทาง ทางแรกคือพยายามสร้างข้อจำกัดและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะขัดขวางกระบวนการสร้างความเป็นประชาธิปไตยและกระจายอำนาจสู่มวลชน (นักลงทุน) หรือทางเลือกที่สองก็คือต้องตามน้ำไปโดยพิจารณาบทบาทของตัวเองเสียใหม่ และพยายามหาบทบาทใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทของโลกแห่งความเป็นประชาธิปไตย ยกตัวอย่างธนาคารแห่งชาติหลายๆ ที่เริ่มพิจารณาการออก Central Bank Digital Currency หรือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนที่ต้องการระบบการเงินที่ดีขึ้น

 

 

การสนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจในการบริหารธุรกรรมการเงินการลงทุนให้คนธรรมดาสามัญ สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงความมั่งคั่งเป็นเรื่องที่เราควรสนับสนุน เพราะเป็นพื้นฐานหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างเสมอภาคครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง