เมทินี ปธ.ศาลฎีกาหญิงคนเเรก เปิดภารกิจ 5 ส.อำนวยยุติธรรม ศาลไร้ใบสั่งไม่มีการเมืองแทรก
เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาคนที่ 46 เป็นสุภาพสตรีหญิงคนแรกของประเทศที่ดำรงตำแหน่งประมุขตุลาการ เมื่อครั้งรับตำแหน่งเมื่อ 1 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้ประกาศนโยบาย 5 ด้าน หรือ 5 ส. เสมอภาค-สมดุล-สร้างสรรค์-ส่งเสริม-ส่วนรวม
โดยประธานศาลฎีกาหญิง ได้เล่าที่มานโยบายนี้ว่า นโยบายนี้เป็นการสานต่อจากนโยบายประธานศาลฎีกาก่อนหน้านี้หลายคน ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า นโยบายประธานศาลฎีกาแต่ละยุคขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นมีสถานการณ์อย่างไร บางช่วงมีคดีมากก็เกิดนโยบายเร่งรัดการพิจารณาคดี หรือบางช่วงจะเป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีที่นำไปสู่ ดิจิทัล คอร์ต ก็จะเน้นพัฒนาเทคโนโลยี แต่ทุกนโยบายจะเป็นไปเพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมตามช่วงเวลา
เมื่อปีที่แล้วได้มีโอกาสเข้าไปช่วยทำงานให้ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาขณะนั้น ในการขับเคลื่อนนโยบายการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหา หรือจำเลย ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับการตอบรับจากสาธารณชนดีมาก เรื่องนี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและวิธีคิดของคนที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรม ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลย เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว มีการกำหนดแนวทางและขั้นตอนในการขอปล่อยชั่วคราวให้ง่ายขึ้น มีการดูแลผู้ต้องหา โดยให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพมากกว่าเรื่องหลักทรัพย์หรือหลักประกัน อันเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปทำงานตรงนี้รวมกับประสบการณ์การทำงานรับราชการเป็นผู้พิพากษามากว่า 39 ปี เคยทำงานเกี่ยวกับการจัดวางระบบการพิจารณาคดีมานานจึงนำมาสู่กระบวนการคิดต่อยอด อยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนให้มากขึ้น บางเรื่องก็อยู่ในใจมานานแล้ว จึงนำสิ่งเหล่านี้มาหลอมรวมกันออกมาเป็นนโยบายทั้ง 5 ด้าน
สิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นเรื่องแรกๆ จะเป็นเรื่องของความเท่าเทียมที่จะให้แก่คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ด้วยการสร้างความเป็นธรรม คือ ส.แรก ความเสมอภาค หน้าที่ศาลเป็นการให้ความเป็นธรรมในการอำนวยความยุติธรรม ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาต่อองค์กรให้มากที่สุด ศรัทธาคือสิ่งสำคัญ การจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นเราก็อยู่ที่งานที่เราได้ทำออกมาโดยมองประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผู้ที่เกี่ยวข้องกระบวนการยุติธรรมต้องได้รับความเป็นธรรมเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนในคดี ไม่ว่าเป็นรัฐหรือเอกชนต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน การทำงานต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ คนที่เกี่ยวข้องในคดีสามารถติดตามความคืบหน้าคดีได้ ตอนนี้ในศาลชั้นต้นสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีแต่ละขั้นตอนได้เเล้ว ต่อไปศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาก็จะต้องมีระบบให้ติดตามความคืบหน้าของคำสั่งหรือคำพิพากษาได้ เช่น จะมีรายละเอียดว่าศาลฎีกาได้รับคำร้องขออนุญาตฎีกาของคู่ความรายนั้นๆ ไว้แล้วหรือไม่ เมื่อใด และส่งกลับให้ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งเมื่อไหร่ สิ่งนี้จะนำมาสู่มาตรฐานระยะเวลาที่จะดูแลให้ประชาชนทุกคนที่มีคดีในศาลได้รับความเสมอภาคจาก ระยะเวลา ปกติคดีใดฟ้องก่อนก็น่าจะเสร็จก่อน แต่เนื่องจากคดีแต่ละคดีในศาลนั้นมีความซับซ้อน มีความยากง่าย และมีรายละเอียดแตกต่างกันไป การจัดระบบให้ทุกคดีผ่านออกไปในช่องทางเดียว เรียงกันไป จะทำให้คดียากไปขวางคดีง่าย จึงต้องมีการจัดระบบการบริหารจัดการคดีที่เหมาะสมเพื่อให้มีช่องทางสำหรับคดีที่สามารถแล้วเสร็จไปได้ง่ายๆ ตรงนี้จะเป็นเรื่องการพัฒนาระบบงานศาลยุติธรรม
อีกอย่างคือเรื่อง การกระจายความยุติธรรม ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลต้องได้รับความยุติธรรมจากศาลเท่าเทียมกับประชาชนที่อยู่ในเมืองหรือจังหวัดใหญ่ ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาว่าจะเปิดศาลเพิ่มเติมที่ไหนได้บ้างที่จะเอื้อมมือไปให้ถึงประชาชนในทุกพื้นที่ บางครั้งการที่ประชาชนต้องเดินทางไกลเข้ามาหาศาลอาจมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ไม่อยากมาศาล และต้องไปตัดสินกันเองหรือหาความยุติธรรมในทางอื่น ที่ไม่ใช่กระบวนการทางการศาล
เราต้องพัฒนางานศาลเพื่อตอบสนองความต้องการประชาชน และเพื่อให้สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างดี เช่น การจัดอัตรากำลังของผู้พิพากษาอย่างเหมาะสมทุกศาล เพราะผู้พิพากษาหากต้องทำคดีจำนวนมากเกินกำลัง ผู้พิพากษาก็เป็นมนุษย์ย่อมมีความเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและสมอง มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้
จะยกระดับสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการขึ้น เดิมงานหลักของสถาบันคือจัดอบรมพัฒนาบุคลากรทั้งผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ แต่อยากเห็นสถาบันนี้เป็นสถาบันทางวิชาการของศาลยุติธรรมอย่างแท้จริง เรามีผู้พิพากษาที่จบปริญญาโท-เอกทั้งในและต่างประเทศมากมาย มีความรู้ความสามารถทางกฎหมายในระดับต้นของประเทศ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้นำศักยภาพของบุคลากรเหล่านี้มาทำให้เกิดประโยชน์ในทางวิชาการอย่างจริงจัง การที่ให้คนกลุ่มนี้มาระดมสมองและค้นคว้าวิจัยสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับประเทศนี้ สถาบันจะต้องขยายปีกออกไปเพื่อทำงานด้านวิชาการ และต่อไปสถาบันจะให้องค์ความรู้แก่บุคคลภายนอกด้วย ถือเป็นการปรับโฉมเพื่อจะเป็นแหล่งความรู้และจะทำให้ใกล้ชิดประชาชนมากยิ่งขึ้นด้วย
การสร้างความมีส่วนร่วม เร็วๆ นี้สำนักประธานศาลฎีกาได้เปิดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นของผู้พิพากษาและบุคลากรที่เป็นข้าราชการศาลจากทั่วประเทศเพื่อให้มีส่วนในการพัฒนางานศาล คนที่จะพัฒนาศาลได้ไม่ใช่คนที่เป็นผู้บริหารอยู่ในปัจจุบันเท่านั้นแต่ต้องเป็นคนที่จะเข้ามาในอนาคตด้วย ทุกความเห็นทางสำนักประธานศาลฎีกาจะแยกเป็นกลุ่ม แล้วก็นำเสนอมายังประธานศาลฎีกา จากนั้นจะดูว่าความเห็นใดที่เป็นประโยชน์และทำได้ก็จะนำมาปฏิบัติ บางส่วนก็ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป การทำเช่นนี้จะส่งผลให้มีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ลดช่องว่างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก หรือผู้บริหารกับผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาล
คดีเกี่ยวกับการชุมนุมเข้าสู่การพิจารณาของศาลได้ให้แนวกับผู้พิพากษาอย่างไร
เรื่องนี้ถามมาก็ดีแล้ว ทั้งการออกหมายจับ/หมายเรียก การฝากขังผัดฟ้อง ตลอดจนการพิจารณาคดีของศาลล้วนต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งยังมีข้อบังคับประธานศาลฎีกา คำแนะนำ และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ ผู้พิพากษาเดินตามแนวนี้คือเป็นไปตามกฎหมายมาโดยตลอด คดีแต่ละคดีหรือคนที่ถูกจับมาแต่ละคน ศาลไม่ได้มองว่าเป็นใคร ชื่ออะไร แต่พิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดี ข้อหา สภาพความผิด ตลอดจนคุณสมบัติของผู้กระทำผิด เช่น เป็นเด็ก ไม่เคยทำผิด เป็นนักเรียน หรือเป็นคนที่กระทำความผิดซ้ำ เคยหลบหนีมาก่อน คือดูไปตามรูปเรื่อง แต่ละเรื่อง จะเห็นว่ามีความหลากหลายของคำสั่งของศาล มีทั้งให้ปล่อยชั่วคราวบ้าง ขังไว้ก่อนบ้าง บางคดีมีการอุทธรณ์คำสั่งไป ศาลสูงก็มีคำสั่งทั้งให้ประกันบ้าง ไม่ให้บ้าง แล้วแต่รายละเอียดของแต่ละคดี ว่ากันไปตามรูปเรื่อง ตรงนี้บางคนก็จะดูว่ามีคำสั่งไม่เหมือนกัน ขอให้ทราบว่าเนื้อหาของคดี เเต่ละคดีเรื่องราวมันไม่เหมือนกัน บางทีข้อกล่าวหาเล็กๆ น้อยๆ มาฝากขัง ไม่มีเหตุ ศาลก็ยกคำร้องฝากขังไปเลยก็มี
การขอออกหมายจับก็เช่นกัน ถ้ายังมีตัวตนไม่ได้หายหรือหลบหนีไปไหน ศาลก็อาจให้ออกหมายเรียกมาก่อน ถ้ายังไม่มาก็ค่อยพิจารณาเรื่องหมายจับ ทุกอย่างมีขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติ เเต่เวลาที่ออกข่าวไปไม่มีรายละเอียดของพฤติการณ์ ไม่มีรายละเอียดของข้อหาที่ถูกกล่าวหา ไม่มีรายละเอียดของคำร้องพนักงานสอบสวนที่เสนอมาต่อศาลให้คนทั่วไปได้รับทราบ กรณีที่มีการคัดค้านการประกัน ศาลอาจไต่สวน ว่าเขาคัดค้านเพราะอะไร ถ้าศาลเชื่อตามเหตุผลว่าจะมีการหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยาน เข้าตามเหตุผล ป.วิอาญา ศาลอาจใช้ดุลพินิจไม่ให้ประกันก็ได้
บางครั้งอยู่กับสถานการณ์ พฤติการณ์แห่งความผิดที่กล่าวหาในแต่ละช่วงเวลาด้วย ถ้าศาลพิจารณาพฤติการณ์คนที่เกี่ยวข้อง ดูแล้วน่าเชื่อว่าจะหลบหนีแน่ ก็ไม่ให้ประกัน แต่ถ้าดูแล้วก็ไม่ได้ไปไหน ยังไปเรียนหนังสือ ยังไปสอบอยู่ก็ให้ประกันไป การให้ประกันมีทั้งเรียกหลักประกัน ไม่เรียกหลักประกัน หรือมีผู้มาประกันด้วยบุคคลก็พอแล้ว เป็นไปตามข้อหา เป็นไปตามแนวทาง เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับทั้งหมดไม่มีอะไรผิดแผกแตกต่าง ถ้าเรื่องเหมือนกันศาลออกในแนวเดียวกัน ดังนั้น เชื่อว่าเราอยู่ตรงกลาง จะมีคนส่วนหนึ่งชื่นชมเวลาเราปล่อยตัวผู้ต้องหา ศาลดีเลิศประเสริฐศรีเป็นที่พึ่งได้ แต่พอไม่ให้ประกันก็มาอีกแบบ ซึ่งเราเข้าใจโลกว่าคนเราต้องดูผลที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นหลัก ถ้าดีกับตัวเองก็รู้สึกดี แต่ถ้าไม่ดีจะขอบ่นก่อน แต่ถ้าได้มานั่งคิดอีกสักพักก็จะคิดได้ว่ามันถูกของศาลท่านนะที่สั่งมาอย่างนี้ ก็ใช่แล้วนี่ แต่โดยสภาวการณ์ เวลา โอกาส สิ่งเร้า อาจมีบ้าง แต่จะเห็นว่าศาลไม่ได้ตอบโต้ หรืออธิบายตรงนี้เลย แต่เราจะเอางานของเราที่ทำไป ที่สั่งไปพร้อมการให้เหตุผลเป็นเครื่องพิสูจน์ไปเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน การที่เราให้ประกันบางทีเราก็โดนตำหนิเหมือนกัน แล้วเราจะอยู่ตรงจุดไหนดี เราต้องไม่หวั่นไหว หากทำถูกต้องแล้ว ฉะนั้น เราต้องอยู่จุดที่เรายึดมั่นมาตลอด โดยที่ไม่ต้องไปคิดว่าจะมีใครตำหนิติเตียน หรือใครมาชื่นชม คือจุดที่อยู่ตรงกลาง ศาลต้องไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง ส่วนตัวผู้พิพากษาจะมีความคิดเห็นอย่างไรเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เมื่อท่านทำงานต้องอยู่ตรงกลาง ไม่ให้ความคิดเห็นทางการเมือง หรือนักการเมืองแทรกซึมได้
ในการพิจารณาคดีทุกเรื่องไม่ว่าจะเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่เกี่ยวก็ตาม ได้ยืนยันกับผู้พิพากษาเสมอว่าไม่มีใบสั่งของใคร ไม่มีคำขอจากใคร ท่านผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลพินิจได้ แต่ในการจะใช้ดุลพินิจนั้นๆ ท่านต้องให้เหตุผลไปให้ชัดเจนให้เขาอ่านแล้วเข้าใจว่าเราพิจารณาจากอะไร เพราะเหตุใด คำสั่งในแต่ละเรื่องต้องมีเหตุผล ซึ่งเหตุผลของผู้พิพากษาเรารับได้หมด ดุลพินิจของศาลไม่ใช่การทำตามอำเภอใจ แต่จะเกิดจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และผ่านการปรึกษาโดยมีองค์คณะในการพิจารณา มีการตรวจทานเพื่อมิให้เกิดความผิดพลาด แล้วที่สุดผลออกมาตามนั้น โดยส่วนตัวไม่เคยมีใครมาขออะไร เคยพูดกับผู้พิพากษาเมื่อมีโอกาสเสมอว่าถ้าเราเที่ยงตรงและอยู่ตรงกลาง จะไม่มีปัญหา
บทบาทที่ศาลจะเข้ามาแก้ไขปัญหาสถานการณ์การเมืองจะทำได้แค่ไหน
ศาลมีกรอบอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ อยู่ หน้าที่หลักคือการพิจารณาพิพากษาคดี คงไม่ออกไปกรณีที่ยังไม่มีคดี แต่เมื่อมีคดีมาแล้วเรามีหน้าที่ต้องทำคดีตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนผลคำพิพากษาจะเป็นบวกเป็นลบ เป็นคุณเป็นโทษกับใครขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหาทำอะไร ทำตามที่ถูกกล่าวหาอันเป็นองค์ประกอบความผิดที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่
ถ้ารู้จักดิฉัน จะรู้ว่าเป็นคนตรงไปตรงมา และมีความชัดเจนตั้งแต่ต้น ซึ่งได้บอกผู้พิพากษามาตลอดว่าท่านไม่ต้องห่วงว่าเราจะแทรกแซง เมื่อเราบอกผู้พิพากษาว่าเราไม่แทรกแซงก็ต้องไม่ให้ใครมาแทรกแซงเรา ถึงจะมีใครมาพูดอะไร
เมื่อมีจุดยืนเช่นนี้แล้วจะไม่เกิดผลอะไร อยากให้ดูว่าเวลามีคดีขึ้นมาศาลจะทำงานลักษณะไหน อย่างไร เชื่อว่ามีคนติติงบ้าง ในเมื่องานของเราเริ่มต้นจากคนสองฝ่ายที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกัน ไม่ได้รักกัน คือมีข้อพิพาทกันมา มีอดีตประธานศาลฎีกาท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า งานของเราต้องพิจารณาเรื่องที่คนสองฝ่ายพิพาทกัน คนหนึ่งว่าเเบบนั้น อีกคนว่าเเบบนี้ เวลาเราตัดสินอะไรไปจะมีผลกระทบกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ดังนั้น ย่อมจะต้องมีคนไม่พอใจ ไม่รักเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
คนที่เป็นผู้พิพากษาจะรู้ว่า เวลาเราตัดสินให้โจทก์ชนะ โจทก์จะสรรเสริญ ส่วนจำเลยก็จะตำหนิติเตียนหรือโกรธเคือง ยิ่งถ้าเราตัดสินกรณีที่บางคนชนะแต่ได้ไม่เต็มฟ้อง คือ จำเลยได้ส่วนหนึ่ง โจทก์ได้ส่วนหนึ่ง เราก็อาจถูกตำหนิด้วยความไม่พอใจจากทั้งสองฝ่ายด้วยซ้ำ ตรงนี้มันเป็นเรื่องความเคยชินเข้าใจได้ แต่ที่เรายืนอยู่ได้ก็เพราะงานของเราตอบความสงสัยของคนได้ด้วยเหตุผลในคำวินิจฉัย ถ้าคุณมีใจเป็นธรรม ตัดความผูกพันกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกไป แล้วมองจากข้างนอกเข้าไป จะเห็นว่าการที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาแต่ละเรื่องนั้นโอเคหรือไม่ ถ้าไม่โอเค ยังไม่พอใจ ก็มีศาลชั้นอุทธรณ์และศาลฎีกา ตรวจสอบทบทวนได้ตามกฎหมาย
ดังนั้น จึงอยากให้ผู้สนใจมาเรียนรู้กระบวนการขั้นตอนการทำงานของศาลว่าแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร เชื่อว่าถ้ารู้แล้วจะหมดคำถามต่อการทำงาน แต่จะให้ผลการทำงานถูกใจทุกคนนั้นก็ต้องยอมรับไม่มีทางเป็นไปได้
ดิฉันขอเน้นว่า ศาลต้องใช้กฎหมายทุกฉบับที่มีอยู่ในการทำงาน เราเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย เมื่อมีการฟ้องกล่าวหาว่าผู้ใดทำผิดกฎหมาย เราต้องพิจารณาว่ากฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะคาดหมาย หรือจะมีธง มีอะไรไว้ล่วงหน้าในการทำงาน ทุกคดีต้องเป็นไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในการพิจารณา จะไม่มีความผิดและไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้
ชาลินี แก้วคงคา
สุวัฒน์ ปัญจวงศ์