รีเซต

TTB เผยช่วงที่เหลือปีนี้ มุ่งเน้นบริหารต้นทุนการเงิน มุ่งสินเชื่อเช่าซื้อ-ที่อยู่อาศัย

TTB เผยช่วงที่เหลือปีนี้ มุ่งเน้นบริหารต้นทุนการเงิน มุ่งสินเชื่อเช่าซื้อ-ที่อยู่อาศัย
ทันหุ้น
20 ตุลาคม 2565 ( 15:07 )
38

#TTB #ทันหุ้น-ธนาคารทหารไทยธนชาติ หรือ TTB เผยช่วงที่เหลือปีนี้มุ่งเน้นการบริหารต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ และเติบโตสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่ผลดำเนินงานไตรมาส 3/65 มีกำไรสุทธิ 3,715 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า รวม 9 เดือน มีกำไรสุทธิ 10,348 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% หนุนโดยรายได้ที่ยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และการตั้งสำรองฯ ที่ลดลงจากแนวโน้มด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เป็นไปตามแผนและสัดส่วนหนี้เสียที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

 

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ช่วงที่เหลือของปี ธนาคารก็จะยังคงมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ และเติบโตสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่ทีทีบี คอนซูมเมอร์ จะช่วยผลักดันการขยายสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตไปยังฐานลูกค้าปัจจุบันของธนาคาร พร้อมทั้งรักษาวินัยด้านค่าใช้จ่าย และยึดแนวทางการดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบ เพื่อรักษาแนวโน้มเชิงบวกของผลการดำเนินงานในช่วงถัดไป

 

 สำหรับผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือนที่ปรับตัวดีขึ้นนี้ ถือได้ว่าเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกลยุทธ์และแผนการรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ธนาคารได้วางไว้ตั้งแต่เริ่มต้นปี ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ การบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ และการเตรียมความพร้อมสำหรับวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น

 

 ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยเด่นที่ช่วยหนุนผลประกอบการในไตรมาส 3/65 ได้แก่ ด้านรายได้ โดยเฉพาะรายได้ดอกเบี้ยที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลสำเร็จจากการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มดอกเบี้ย เริ่มตั้งแต่การปรับโครงสร้างเงินฝาก ซึ่งธนาคารได้ทยอยเพิ่มสัดส่วนเงินฝากประจำมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพื่อลดการแข่งขันด้านเงินฝากและช่วยในการบริหารต้นทุนทางการเงินเมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศเป็นขาขึ้น นอกจากนั้น ยังได้ปรับพอร์ตการลงทุนให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้มีความคล่องตัวในการปรับการลงทุน เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากภาวะตลาดและทิศทางดอกเบี้ย

 

 ที่สำคัญอีกประการคือกลยุทธ์ด้านสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ การที่สินเชื่อตกเป็นหนี้เสียและมีสัดส่วนหนี้เสียสูงเกินเกณฑ์ควบคุมย่อมมีผลกระทบเชิงลบต่อรายได้ดอกเบี้ย แต่เนื่องจากเราเติบโตสินเชื่ออย่างระมัดระวังมาโดยตลอด เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ จึงทำให้พอร์ตสินเชื่อมีคุณภาพ มีสัดส่วนหนี้เสียที่อยู่ภายใต้เกณฑ์ควบคุมและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม จึงส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อมีแนวโน้มที่ดี

 

 ทั้งนี้ ภายหลังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท. ได้ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.50% ทางธนาคารได้ตอบรับนโยบายดังกล่าว โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเพิ่มขึ้น 0.15% - 0.80% ต่อปี เพื่อเพิ่มประโยชน์และส่งเสริมด้านการออมให้กับลูกค้าในการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ขณะที่ด้านดอกเบี้ยเงินกู้ ทยอยปรับขึ้นในอัตรา 0.20%-0.25% ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลลูกค้าสินเชื่อโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบาง

 

**กำไร Q3/65 โต 58%  

 

ณ สิ้นไตรมาส 3/65 สินเชื่อรวมอยู่ที่ 1,394 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% จากสิ้นปีที่แล้ว ตามการเติบโตสินเชื่อกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิต ด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,374 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากสิ้นปีที่แล้ว หนุนโดยการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำ สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านเงินฝากเพื่อรองรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคาร

 

ด้านรายได้ยังคงแนวโน้มเชิงบวก โดยเฉพาะรายได้ดอกเบี้ย ในไตรมาส 3/65 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 12,968 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลจากการเติบโตสินเชื่อที่มีคุณภาพและการบริหารจัดการต้นทุนด้านการเงิน สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หนุนโดยรายได้ค่าธรรมเนียมการขายประกันและค่าธรรมเนียมกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

 

 ทั้งนี้ ภายใต้การลงทุนด้านดิจิทัลและการเพิ่มจำนวนพนักงานภายในกลุ่มธนาคารตามแผนธุรกิจ ธนาคารยังคงสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,447 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้อยู่ที่ 45% เป็นไปตามกรอบเป้าหมาย

 

 จากปัจจัยด้านรายได้และค่าใช้จ่ายข้างต้น จึงทำให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ (PPOP) ในไตรมาส 3/65 อยู่ที่ 8,963 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% จากปีที่แล้ว รวม 9 เดือน PPOP อยู่ที่ 26,533 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงบริหารจัดการได้ตามเป้าหมาย ส่งผลให้สัดส่วนหนี้เสียอยู่ในเกณฑ์ควบคุมและลดลงมาได้อย่างต่อเนื่องจากระดับสูงสุดในช่วงวิกฤตโควิด-19 ช่วงไตรมาส 3/64 ที่ 2.98% มาอยู่ที่ 2.81% ณ สิ้นปีที่แล้ว และ 2.72% ในไตรมาสล่าสุด ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จึงทำให้แรงกดดันด้านการตั้งสำรองฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า

 

 โดยในไตรมาส 3/65 ธนาคารตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 4,361 ล้านบาท ลดลง 21.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวม 9 เดือน ตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 13,551 ล้านบาท ลดลง 17.9% ส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาส 3/65 อยู่ที่ 3,715 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.5% และรอบ 9 เดือน ปี 2565 อยู่ที่ 10,348 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.8% ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ การตั้งสำรองฯ ในระดับดังกล่าวยังเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงเศรษฐกิจปกติและเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยง สะท้อนได้จากอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อคุณด้อยภาพของธนาคารที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 135% จาก 129% ณ สิ้นปีที่แล้ว ด้านความเพียงพอของเงินกองทุน ยังอยู่ในระดับสูงและเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม โดยอัตราส่วน CAR และ Tier I (เบื้องต้น) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.0% และ 16.0% ณ สิ้นไตรมาส 3/65 สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง