จังหวัดเชียงใหม่ ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านนาที่รุ่งเรืองมาก่อน มีการสร้างวัดในรูปแบบเฉพาะของตัวเอง และหลายวัดก็สร้างแบบผสมผสานกับอิทธิพลด้านศิลปะจากอาณาจักรอื่น เช่น ล้านช้าง พุกาม ขึ้นอยู่กับช่วงนั้นว่าใครมีอิทธิพลเหนือใคร แต่ก็มีอยู่หลายวัดเช่นเดียวกัน แม้จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรล้านนา แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์การสร้างวัดในรูปแบบของตนเองอย่างเหนียวแน่น ดังเช่นตัวอย่างวัดที่ผมจะพาไปชมครั้งนี้ก่อนเข้าเรื่องอัตลักษณ์ของการสร้างวัด ผมขอเกริ่นนำชาวปะโอ(ต่องสู้)สักหน่อยว่า คือใคร มาจากไหนและสำคัญยังไงกับเชียงใหม่ปัจจุบัน ประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของชาวปะโอ(ต่องสู้)อยู่ที่ประเทศเมียนมาร์ ภายใต้เขตปกครองตนเองปะโอ(Pa-O Self-Administered Zone หรือ PAZ) มีประชากรราว 600,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่เมืองสี่แส่ง โหโปง ป๋างลอง และตองจี ในพื้นที่รัฐฉานตะวันออกและกระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคต่าง ๆ ของเมียนมาร์ในช่วงที่อังกฤษเข้ามารุกรานพม่า ชาวปะโอถูกปราบปราม จึงอพยพเข้ามาในล้านนาตั้งชุมชนอาศัยเรียงรายอยู่ตามเส้นทางอพยพและรอบนอกเชียงใหม่ บางส่วนเข้ามาทำงานกับบริษัททำไม้ร่วมกับคนไทใหญ่ จนมีฐานะมั่งคั่ง ช่วยบูรณะวัดวาอารามในเชียงใหม่หลายแห่ง ทำมาค้าขายย่านถนนท่าแพช้างม่อยตลอดลำน้ำปิงวัดที่ผมจะพามาชมวันนี้ คือ “วัดหนองคำ” วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่และสวยงามวัดหนึ่งของเชียงใหม่ ตั้งอยู่ห่างจากตลาดต้นลำไยหรือตลาดวโรรส(กาดหลวง) ไปทางทิศตะวันตกราว 700 เมตร ชื่อวัดนั้น สันนิษฐานว่าตั้งชื่อตามหนองน้ำที่น่าจะเกิดขึ้นจากการขุดดินมาปั้นเป็นก้อนอิฐเผาเพื่อเอาก่อกำแพงเมืองชั้นนอกของเวียงเชียงใหม่ในอดีตไม่ปรากฏข้อมูลการสร้างแน่ชัด รู้แต่เพียงว่า ในปี พ.ศ. 2380 มีชาวปะโอ(ต่องสู้) ทำอาชีพพ่อค้าไม้ ได้พร้อมใจกันขายช้าง 7 เชือกต้นทุนในการสร้างวัด ด้านนักวิชาการประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ยืนยันจากการสืบค้นว่า เป็นวัดที่ชาวปะโอสร้างและได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้งสิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวปะโอ ได้แก่โบสถ์ เดิมนั้นมียอดสูงซ้อนกันประมาณ 5 ชั้น แต่ได้ชำรุดเสียหายและถูกรื้อไปแล้วสร้างขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2445 มีความกว้าง 10 เมตร ยาว 12 เมตร เป็นอาคารคอนกรีต ก่ออิฐถือปูน ไม่มีช่องฟ้า ใบระกา หางหงส์ ต่างจากวัดอื่น ๆ ในล้านนาทั่วไป ด้านนอกผนังทั้งสี่ด้าน มีภาพจิตรกรรมสวยงามน่าชมพระพุทธรูป ในโบสถ์ มีพระพุทธรูป 3 องค์ องค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน มีพระวรกายสีขาว นั่งในท่าขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ซ้ายขวางพัดหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาคว่ำบนพระชานุด้านขวา หน้าตักกว้าง 1.5 เมตร สูง 2.5 เมตร เป็นพุทธศิลป์ในแบบชาวปะโอโดยเฉพาะวิหาร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2460 กว้าง 21 เมตร ยาว 30 เมตร เป็นสถาปัตยกรรมครึ่งตึกครึ่งไม้ มี 2 ชั้น ชั้นด้านล่างก่ออิฐถือปูนจนถึงผนังด้านนอก ชั้นบนด้านในเป็นอาคารไม้ ครึ่งโรงธรรมครึ่งเป็นที่อาศัย โดยปีกทางด้านซ้ายมือแบ่งเป็นห้อง ๆ ให้พระเณรอยู่จำวัด ปีกทางขวามือเป็นอาสน์สงฆ์ พื้นที่ตรงกลางซึ่งเป็นโถงปูด้วยแผ่นไม้สัก ใช้สำหรับทำกิจกรรมและพิธีทางศาสนา ประตูและหน้าต่างโดยรอบทำจากไม้ ลวดลายเรียบง่าย มีช่องระบายอากาศอยู่สุดผนังด้านบนที่ติดกับหลังคา ผนังด้านข้างทำจากไม้ มีช่องให้เลื่อนเปิด-ปิด เรียกว่า ฝาไหล ชั้นล่างของวิหารใช้เป็นที่เก็บสิ่งของต่าง ๆจิตรกรรมฝาผนัง ด้านวิหารในมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ การสร้างบารมี ด้านนอกเป็นลวดลายแต่งแต้มตัวโบสถ์และปูนปั้นในแบบชาวปะโอ เช่น เทพ สัตว์และลายไม้เถา สำหรับที่วิหารนั้น บนเพดานและตามฝาผนัง มีภาพจิตรกรรมงดงามเช่นกัน มีการเว้นช่องแสง และมีพระพุทธรูปจากไม้แกะสลักฝีมือละเอียดอ่อนช้อยสวยงามมากศาลาหอฉัน กว้าง 16 เมตร ยาว 18 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2387 เป็นอาคารในแบบปะโอ ก่ออิฐถือปูน ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนองค์ใหญ่เจดีย์ ที่สร้างเมื่อปี พ.ศ.2389 สูงประมาณ 21 เมตร กว้าง 9.50 เมตร เป็นศิลปะผสมระหว่างปะโอกับล้านนา คือ ฐานสี่เหลี่ยม ชั้นบนเป็นรูประฆังคว่ำ บัวหงาย ชั้นกลางภายในทำเป็นห้องเก็บรักษาพระไตรปิฎก มีซุ้มจระนำทั้งสี่ด้าน ด้านตะวันออก มีบันไดขึ้นไปถึงห้องที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ที่มุมเจดีย์ทั้งสี่ประดิษฐานรูปปั้นสิงห์ โดยช่างฝีมือชาวปะโอและชาวไตร่วมกันก่อสร้างการเข้าไปวัดนอกจากเพื่อทำบุญแล้วหรือเที่ยวชมแล้ว การได้เรียนรู้เรื่องเล่าประวัติความเป็นมาและเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องจิตรกรรม ศิลปะ ปฎิมากรรม สถาปัตยกรรม สัญลักษณ์ ที่อยู่ตามจุดต่าง ๆ ภายในวัด จะทำให้การเข้าวัดสนุกมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้และสืบองค์ความรู้ทางความเชื่อ ค่านิยมและภูมิปัญญาในเชิงช่างศิลป์ เพราะวัดมีอะไรอีกมากที่เรายังไม่รู้นั่นเอง ที่อยู่ : 182 ถนนช้างม่อย ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่เปิดให้เข้าชม : 08.00-17.00 น.สิ่งน่าสนใจ : โบสถ์/จิตรกรรมฝาผนัง/วิหาร/พระพุทธรูป/งานช่างไม้/ลวดลายเพดาน/เจดีย์ ภาพประกอบทั้งหมดถ่ายโดยผู้เขียน