สวัสดีครับ! วันนี้ผู้เขียนจะมาให้ความรู้ในหัวข้อ ความสำคัญของเพลงสาธุการ ในการเล่นดนตรีไทย ผู้เขียนได้ถอดบทความและสรุปใจความมาให้เพื่อนได้ศึกษา ที่มาจากเพจ Thai Music Group สำนักการสังคีต กรมศิลปากร (คลิปที่มา) https://web.facebook.com/watch/?v=576863839900536 นำมาถ่ายทอดให้เพื่อนได้ศึกษาในรูปแบบการอ่านบทความ ไปติดตามกันได้เลยครับ เพลงสาธุการ นั้น คุณครูไชยะ ทางมีศรี ตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย สำนักการสังคีตกรมศิลปากร ได้กล่าวในคลิปที่มาไว้ว่า สาธุ เป็นภาษา บาลี แปลว่า ชอบแล้ว ดีแล้ว ควรแล้ว เราจะเห็นได้ว่าเวลาพระท่านรับโมทนาบุญมักจะได้ยินคำว่า สาธุ เพื่อรับความเป็นสิริมงคล คำว่า สาธุการ นั้นจุงหมายถึง กิจการงานที่เป็นมงคล ในความเป็นมงคลนี้เอาเข้าตัวเราก็ได้ หรือนำไปสู่คนอื่นก็ได้ ความมงคลทั้งหลายนั้นจึงหมายถึงคุณความดี จึงสรุปได้ว่า เพลงสาธุการดังขึ้นหรือบรรเลงขึ้นที่ใด เป็นการบอกว่าที่ตรงนั้นหรืองานตรงนั้นจะมีกิจการมงคลเกิดขึ้นแล้ว ทำไม ? ผู้ที่เริ่มเรียนดนตรีไทยจะต้องเริ่มเรียนเพลงสาธุการ เป็นเพลงแรก โดยเฉพาะนัดดนตรีที่เริ่มเรียนในเครื่องมือปี่พาทย์ (ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ปี่ใน) เพลงสาธุการนั้น ได้ชื่อว่าเป็นเพลงเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายมาจนถึงรัตนโกสิทร์ตอนต้น โบราณจารย์ได้คัดเลือกไว้ว่า เป็นเพลงที่มีความเป็นมงคล ควรแก่การคารวะกราบไว้ เวลาจะทำกิจการมงคลใด ๆ ที่มีการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เพลงสาธุการ จะถูกปะโคมขึ้น เป็นการคาราวะ ทำให้เกิดความสิริมงคล เพลงสาธุการนั้น ยังเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงและยังเป็นเพลงเบื้องต้นสำหรับผู้ที่จะฝึกหัดดนตรีไทย ในวัฒนธรรมดนตรีของไทยจะใช้เพลงสาธุการเป็นเพลงแรก ฝึกหัดฆ้องวงใหญ่ก่อนที่จะเรียนเพลงอื่น ๆ โดยผู้เรียนจะต้องผ่านการครอบหรือยกครูและเพลงสาธุการยังถูกนำไปใช้ในพิธีกรรมงานบุญ บุญพิธี รัฐพิธี ศาสนพิธี ราชพิธีต่าง ๆ หลังจากเริ่มฝึกหัดเพลงสาธุการ ด้วยฆ้องวงใหญ่เป็นชิ้นแรกแล้ว ก็จะเรียนเพลงในชุดโหมโรงต่อไป จนถึงขั้นเพลงเดี่ยวอวดฝีมือต่าง ๆ ตัวอย่าง เพลงสาธุการ ฆ้องวงใหญ่ https://www.youtube.com/watch?v=LxJhmRPsPmM&t=304s ยังมีข้อมูลอีกด้านเกี่ยวเพลงสาธุการ จากข้อมูลเอกสารหลักฐานรวมถึงนักวิชาการด้านดนตรีไทย ต่างให้ความเห็นตรงกันว่า เพลงสาธุการนั้นมีมานานแล้ว ตำนานความป็นมาเพลงสาธุการ มีตำนานได้กล่าวไว้ในคัมภีร์พรหมประวัติภาคที่ 6 ความว่า เมื่อครั้งโลกบังเกิดพระสัมพัญญูผู้รู้แจ้ง ซึ่งสรรพสิ่งทั่งปวง ทรงพระนามว่า พระตัณหังกโร เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์แรก ที่โปรดเวไนยสัตว์ได้พระนิพพาน มีผู้คนและปวงเทพต่างพากันไปซักถามความ สงสัยในเหตุการณ์ต่างๆ จนเป็นที่เลื่อมใสเคารพบูชายิ่ง พระศิวะทรงทราบ จึงได้ตรัส ชักชวนเหล่าเทพเทวะไปกราบบังคมทูลท้าวมหาพรหมบรมมหาเทวราชให้ทรง ทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว พระมาตุภูมิทรงทราบ จึงใคร่จะประลองฤทธิ์เพื่อพิสูจน์ ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงหรือไม่ พระมาตุภูมิได้นำทวยเทพทั้งหลายไปยังสำนักของพระศาสดา เพื่อขอประลองฤทธิ์กับพระพุทธเจ้า โดยใช้วิธีการผลัดกันซ่อนหา เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง ท้าวมหาพรหมทรงไปซ่อนเร้นกาย ณ ที่ใด พระพุทธเจ้าทรงทายถูกทุกแห่งไป คราวนี้เป็นแหล่งสุดท้าย พระมาตุภูมิแปลงพระวรกายเท่าตัวริ้นลงไปอยู่ในซอกหินในใต้ทะเลลึก ถามพระพุทธเจ้าว่าอยู่ ณ ที่ใด พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า อยู่ใต้ทะเลลึก จนครบ 1 ชั่วโมง ครบตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ถึงคราวพระพุทธเจ้าไปซ่อนบ้าง พระมาตุภูมิทรงเนรมิตให้แสงสว่างโดยทั่วไปในโลกมนุษย์นี้แม้จะมีธุลีเท่าจุลินทรีย์ ก็มองเห็น พระพุทธเจ้าทรงแสดงอิทธิปฏิหาริย์ขึ้นไปประทับในมุ่นเมาลีแห่งพระเศียรท้าวมหาพรหม พระมาตุภูมิทรงตรัสถามพระพุทธเจ้าอยู่ณ แห่งใดจึงมองไม่เห็น พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า อยู่ตรงนี้ท้าวมหาพรหมก็หาทราบได้ว่าอยู่ ณ ที่ใด ถามเช่นนี้ 7 ครั้งก็หาทราบที่ซ่อนไม่ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า มหาบพิธอยากรู้ ให้ชูพระหัตถ์ขึ้นมาเหนือเศียรเกล้าเมาลีเมื่อทรงกระทำตามนั้นพระหัตถ์พระองค์ ได้สัมผัสพระเพลาพระสัมพัญญูเจ้า ท้าวพระพรหมจึงเปล่งพระสุรเสียงว่า พุทโธ โลเก อุปปันโน (พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก) ทรงถวายดอกอุบลวรรณาเป็นราชบัลลังก์ และทรงตรัสสั่งให้พระปรคนธรรพบรรเลงเพลงถวาย โดยเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ ณ บัดนั้น ใช้เวลา 5 อึดใจ จึงสำเร็จ พระมาตุภูมิทรงตรัสเรียก เพลงสาธุการ เป็นกิจพิธีบูชาพระศาสดาสืบมา (นิ่ม โพธิ์เอี่ยม, 2541: 146-149) ส่วนอีกตำนานหนึ่งเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ในระยะปฐมโพธิกาล กิตติศัพท์เกียรติคุณของพระพุทธเจ้าเลื่องลือไปทั่วทุกศานุทิศ ทั้งบนโลกมนุษย์และสวรรค์วันหนึ่งพวกเทพบุตรเทพธิดาต่างพากันลงมาจากสวรรค์ มาเฝ้าสดับพระธรรมเทศนาในที่เฉพาะพระพักตร์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนเกือบหมดทวยเทพในเมืองสวรรค์ ครั้งถึงเวลาพระอิศวรตรัสถาม พระนนทีจึงทูลให้ทรงทราบ พระอิศวรทรงกริ้วทวยเทพเป็นอันมาก จึงพลอยกริ้วพระพุทธเจ้าด้วย จึงตรัสชวนพระอุมาและพระนนทีพร้อมด้วยเหล่าเทพบริวาร เสด็จลงมายังเมืองมนุษย์เห็นเหล่าทวยเทพ ต่างนั่งสดับพระธรรมเทศนาสงบอยู่ ไม่แสดงอาการเอาใจใส่ต่อพระองค์ผู้เป็นใหญ่ พระอิศวรจึงทรงนิรมิตนาฏยสภาขึ้น ณ ที่ใกล้ๆ พระวิหารอันเป็นธรรมสภาที่พระพุทธเจ้ากำลังประทานธรรมเทศนาอยู่แล้วองค์พระศิวะพร้อมด้วยพระอุมาและ พระนนทีกับเทพบุตรอัปสรบริวารที่ตามเสด็จมาก็บรรเลง ดนตรีมี่ตระหลบ เต้นตาณฑพระบำสวรรค์ จับคู่อยู่พัลวัน สลับกันแลตระการ จอมผาอุมาเจ้า ออกหน้าเหล่าบริวาร รำรับขับประสาน นนทิการตีตะโพน ซัดแขนแอ่นอุระ ป๊ะเท่งป๊ะจังหวะโทน เยื้องกายส่ายเอวโอน อ่อนแขนโยนยะยรรยง จอมเขารำเล้าโลม อุมาโน้มน้อมอรองค์ อายเอียงเมียงม่ายทรง เบือนพักตร์บงองค์ภูบาล แซ่เสียงสำเนียงร้อง สนั่นห้องก้องกังวาน เฉื่อยฉ่ำสำเนียงหวาน ซร้องประสานกับดนตรี งามทรงองค์อมร เอี่ยมอาภรณ์สำอางศรี งามสภาอ่ารุจี แจ่มรัศมีมณีฉัน อำนาจพระศาสดา เป็นมหาอัศจรรย์ เทวฤทธิ์รังสฤษฎิ์สรรค์ อันมหันต์มโหฬาร ไม่กลบลบพระฤทธิ์ พระมุนิศวราจารย์ รังสีที่บันดาล ไม่แผ่ซ่านถึงสภา ทิพย์สำเนียงเสียงสนั่น ก็ไม่ลั่นตลอดมา รูปร่างสำอางตา มิได้ปรากฏแก่ใคร ต่างนั่งฟังสัทธรรม ไม่ระส่ำระสายใจ สำราญบานฤทัย ด้วยเลื่อมใสศรัทธาธาร ฯ พระอิศวรทรงเห็นดังนั้น ก็ประหลาดพระทัย จึงเสด็จเข้าไปในพระวิหาร ประดิษฐานพระองค์อยู่ตรงพระพักตร์พระพุทธเจ้า แล้วตรัสต่อว่าท้าทายให้มา ประลองฤทธิ์กัน ด้วยวิธีซ่อนหา พระพุทธองค์ก็ทรงรับคำท้า แล้วมีพระดำรัสว่า ท่านเป็นคนท้าทายเราก่อน ขอให้ท่านไปซ่อนก่อน แล้วเราจะค้นหา พระอิศวร จึงนิรมิตพระองค์เป็นธุลีละออง ปลิวไปซ่อนพระองค์อยู่ในเมล็ดรัตนะ ซึ่งประดับอยู่ บนยอดพรหมพิมาน พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบด้วยญาณ แล้วบันดาลด้วยพุทธานุภาพ ให้พุทธบริษัทที่ประชุมอยู่ในธรรมสภานั้นมองเห็นด้วย พระอิศวรทูลขอโอกาสซ่อน อีก 2 ครั้ง ก็ประทานพุทธานุญาต ครั้งที่ 2 พระอิศวรลงไปซ่อนพระองค์อยู่ใต้บาดาล ครั้งที่ 3 เสด็จไปซ่อนอยู ่ในยมโลก พระพุทธเจ้าก็ทรงค้นพบ แล้วบันดาลให้พุทธบริษัทเห็นด้วยพุทธานุภาพทุกครั้ง ครั้งถึงคราวพระพุทะเจ้าซ่อนบ้าง ทรงนิรมิตพระกายเล็กเป็นละอองปรมาณูปลิวไปติดอยู่ ณ ปลายพระเกศาพระอิศวร พระอิศวรทรงเปล่งพระรัศมีฉายแสงส่องสว่างไปทั่วทิศานุทิศ ค้นหาทุกหนทุกแห่ง ก็ไม่พบองค์พระพุทธเจ้าจำเป็นต้องจำนน ประกาศพระวาจายอมแพ้แก่พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าพระอิศวรยอมแพ้แล้ว ก็ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีออก มาจากที่ซ่อนให้ทรงทราบ แม้พระอิศวรจะพ่ายแพ้แล้วก็ยังทรงแสดงทิฐิมานะอยู่ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งในเรื่องนี้เพื่อจะให้คลายทิฐิมานะ พระพุทธเจ้าจึงยังไม่ ยอมไม่เสด็จลง จากพระเศียรเกล้าของพระอิศวร พระอิศวรตรัสเชิญเสด็จให้ลง ก็ทรงปฏิเสธ มีพระพุทธดำรัสว่า ถ้ายอมแพ้จริงให้พระอิศวรนำเอาดุริยางค์ดนตรี มาบรรเลงถวายอัญเชิญเสด็จ พระอิศวรจึงจำเป็นต้องหาปัญจดุริยางค์ดนตรีมาขับ ประโคมถวายเป็นพุทธบูชา ด้วยเพลง “สาธุการ” พระพุทธเจ้าเสด็จลงด้วยเหตุนี้ จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมา (ธนิต อยู่โพธิ์, 2498: 48-52) จากตำนานเพลงสาธุการข้างต้น สิ่งที่ปรากฏจากทั้งสองเรื่อง มีทั้งเหมือนกัน และแตกต่างกัน กล่าวคือ ประเด็นเรื่องการกำเนิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การประลองฤทธิ์ วิธีการซ่อนหาและการสรรเสริญด้วยเพลงสาธุการ มีความ คล้ายคลึงกัน หากแต่ตัวเล่าเรื่องมีคลาดเคลื่อนกันดังนี้ เรื่องนี้ธนิต อยู่โพธิ์(2498) ได้ชี้แจงเพิ่มเติม จากคำบอกเล่าของคุณครู หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เรื่องคู่ซ่อนหาของพระพุทธเจ้านั้น ควรเป็นท้าวมหาพรหมจึงจะเหมาะสมกว่า เพราะเป็นเทพในทางพระพุทธศาสนา จากคำชี้แจงข้างต้นแสดงให้เห็นชัดว่า เพลงสาธุการมีบทบาทต่อพระพุทธศาสนามากกว่าพราหมณ์ฮินดูถึงแม้เรื่องราวจะเกี่ยวพันกับความเป็นมาตามความเชื่อของฮินดูก็ตาม แต่นักดนตรีไทยก็ให้ความสำคัญกับทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาหลักของชาติและเชื่อได้ว่าเพลงสาธุการที่กล่าวถึงในตำนานคงไม่ใช่ทำนองเพลงอย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ เรื่องตำนานเพลงสาธุการ เป็นเพียงฐานความคิดต่อไปในการประพันธ์เพลงสาธุการและการสื่อความหมายของบทเพลงเพื่อนำไปใช้ในพิธีกรรมหรือกิจกรรมต่างๆ ภายในสังคมไทยเพลงสาธุการ (เต็มวง) https://www.youtube.com/watch?v=qPKv4o_uEaAขอบคุณรูปภาพจาก : รูปที่ 1.https://www.youtube.com/watch?v=8ajrqGGL_9A&t=1913s รูปที่ 2.https://www.youtube.com/watch?v=LxJhmRPsPmM&t=304s รูปที่ 3.https://f.ptcdn.info/760/063/000/pqtqw57l11So30HEpUF-o.jpg รูปที่ 4. https://www.youtube.com/watch?v=qPKv4o_uEaA รูปที่ 5. อาบุ๊ค(ผู้เขียน) รูปที่ 6.http://www.eachofthedays.com/ (ภาพปก)