รีเซต

ชัชชาติ หนุน กทม. เมืองแห่งสตรีทฟู้ด ย้ำจุดยืนต้านรัฐประหาร อยู่ข้างประชาชน

ชัชชาติ หนุน กทม. เมืองแห่งสตรีทฟู้ด ย้ำจุดยืนต้านรัฐประหาร อยู่ข้างประชาชน
มติชน
13 พฤษภาคม 2565 ( 16:16 )
70

ข่าววันนี้ เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 พฤษภาคม ที่ตึกข่าวสด มติชนทีวี เชิญ 4 ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจากโพลมติชน ทีวี ได้แก่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สังกัดพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สังกัดอิสระ และ น.ต.ศิธา ทิวารี สังกัดพรรคไทยสร้างไทย มาร่วมเวทีเสวนา “คุณถามมา… (ผู้สมัคร) ผู้ว่า กทม. ตอบ” จัดเต็ม 20 คำถามสุดเฉียบ จาก 20 คนกรุงเทพฯ อาทิ นายธงทอง จันทรางศุ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บิทคับ, ธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ ผู้ส่งเสริมศักยภาพผู้พิการ, มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่, อ๋อม-สกาวใจ พูนสวัสดิ์ นักแสดง ฯลฯ

 

นายชัชชาติ ได้ตอบคำถามชุดแรกในปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยถามว่าเรื่องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของกรุงเทพมหานคร ว่า กรุงเทพมหานครมีเงื่อนไขจำกัดเป็นจำนวนมากในเรื่องงบประมาณ หัวใจการทำงานกรุงเทพมหานครให้มีประสิทธิภาพได้ก็ต้องร่วมกับคนอื่น หน่วยงานอื่น จึงต้องเริ่มจากความเข้าใจก่อนว่า มีปัญหาอย่างไร ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเส้นเลือดฝอย ทางเดินทางน้ำ สุขอนามัย ดังนั้นต้องเข้าใจกฎระเบียบด้วยว่ามีอย่างไร และต้องมีครีเอทีฟในการแก้ปัญหา การขนส่ง ควันดำ ไซด์งานก่อสร้าง

 

ข้าราชการ ลูกจ้าง ของกรุงเทพมหานครมี 80,000 คน ดูว่าจะต้องเป็นผู้นำมีความยุติธรรมโปร่งใส ระบบแต่งตั้งต้องยุติธรรม ไม่ใช่ใช้เงินซื้อตำแหน่ง สวัสดิการพนักงานกวาดขยะ ก็ต้องมีความยุติธรรมต่อเขา เพื่อให้เขาดูแลประชาชน เพื่อพวกเราดูแลประชาชน การร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น จราจรในท้องที่ใกล้เคียง กรุงเทพมหานคร ต้องมีหน่วย ซิงเกิ้ลคอมมานเซ็นเตอร์ เป็นเจ้าภาพจริงจังในการดูแลช่วยกัน ร่วมงานตำรวจ ขนส่ง รถไฟฟ้า ขสมก. ภาคประชาสังคม ภาคราชการ ก็ต้องให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ในทรัพยากรที่มี

 

 

ด้านคำถามชุดปัญหาคุณภาพชีวิตและบริการ มีคำถามว่า มีแนวทางในการช่วยเหลือคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร นายชัชชาติ กล่าวว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมาเราเห็นกลุ่มเปราะบาง เด็กพิการซ้ำซ้อนที่ผู้ปกครองต้องดูแลเมื่อครอบครัวไม่มีรายได้ก็ลำบาก กรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการที่อยู่บริเวณอนุสาวรีย์ก็เดินทางลำบาก ดังนั้นสิทธิขั้นพื้นฐาน ของผู้พิการจะต้องมีโดยเฉพาะเส้นทางที่เดินกับพาหนะที่ใช้ ที่จะต้องออกแบบสำหรับทุกคน ทางลาดเหมาะสม ทางสโลบที่ดี ทางเท้าที่มีปุ่มอักษรเบลสำหรับผู้ชายไม้เท้า ทางเท้า สัญญาณสำหรับคนหูหนวก

 

“ซึ่งเหล่านี้ทางกรุงเทพมหานคร ต้องเตรียมให้พร้อม ติดลิฟต์เพิ่มให้กับการเดินทางบีทีเอสโดยต้องมีมาตรฐาน กรุงเทพมหานครที่จะต้องเดินรถเมล์เองบางส่วนต้องมีรถเมล์ที่ให้บริการแก่คนพิการ เพิ่มจำนวนให้เหมาะสม อบรมแท็กซี่ เพื่อให้บริการและความช่วยเหลือ มีเครือข่ายดูแลได้ การให้บริการสาธารณะที่เหมาะสม เช่น ห้องน้ำสาธารณะที่ผู้พิการสามารถใช้เป็นการบริการขั้นพื้นฐาน การให้บริการโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร ต้องเพิ่มให้มากขึ้น”

 

 

ถามถึงปัญหาเศรษฐกิจและการทำกิน ที่ถามว่า มีนโยบายทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งสตรีทฟู้ดให้ดังไปทั่วโลกอย่างไร นายชัชชาติ กล่าวว่า สตรีทฟู๊ด คืออาหารที่เรากินประจำวันที่ราคาไม่แพงและอยู่ใกล้ที่ทำงาน ซึ่ง 80% ยังมีความจำเป็น ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ หลักการที่สำคัญ สตรีทฟู๊ด ต้องอยู่ได้โดยไม่เบียดเบียนทางเท้าและต้องมีคุณภาพที่ดีสะอาด 171 จุดที่ผ่อนผันในขณะนี้ ต้องเริ่มจากการลงทะเบียนผู้ค้า และให้ความรู้ว่าสตรีทฟู๊ดที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไร ดำเนินการอย่างไร จะต้องตั้งคณะกรรมการร่วมกันกับคนในพื้นที่ เจ้าของห้องแถว คนหาบเร่ คนเดินเท้า คนในชุมชนมีความต้องการแตกต่างกัน ให้ชุมชนมีส่วนตัดสินใจดูแล เพื่อความเข้มแข็งในแต่ละพื้นที่ เช่น ซอยอารีย์ ที่มีการรวมตัวกันของทุกส่วนที่ดำเนินการได้เป็นอย่างดี และยังมีที่ของรัฐของเอกชนหลายแห่ง ที่สามารถทำฮอกเกอร์เซ็นเตอร์ได้ กรุงเทพมหานครอาจจะช่วยเสริมได้ ทำเป็นโอทอปเซ็นเตอร์

 

เมื่อถึงชุดคำถามปัญหาทั่วไป มีคำถามที่ว่า แนวคิดและนโยบายที่จะทำให้กรุงเทพมหานครรองรับความหลากหลายทางเพศได้ นายชัชชาติ กล่าวว่า คนหลากหลายทางเพศ คือ LGBTQ ซึ่งความหลากหลายเป็นสิ่งสำคัญของสังคมไม่ว่าจะมีมากหรือน้อย เราต้องดูแลทุกคน ซึ่งกรุงเทพมหานครต้องเริ่มจากความเข้าใจว่า กลุ่มหลากหลายทางเพศคืออะไร ต้องการอะไร เพราะหลายอย่างทุกคนไม่เข้าใจว่าเขาต้องการอะไร และเมื่อเข้าใจแล้วจะต้องเตรียมให้บริการเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของเขา เช่น ต้องการห้องน้ำแยกหรือไม่ หรือต้องการห้องน้ำแบบไหน เราต้องเข้าใจและต้องดูแล คลินิกพิเศษต้องการหรือไม่ และต้องให้พื้นที่ปลอดภัยกับเขา โซนสีรุ้ง เป็นย่านของความหลากหลายทางเพศได้หรือไม่ เพื่อเป็นพื้นที่ที่มีอิสระ หรือกรุงเทพมหานครมีเดือนหนึ่งที่เป็น Pride Month สักเดือน โดยอาจจะติดธงสีรุ้งหน้าที่ว่าการกรุงเทพมหานคร ในช่วงนั้น นอกจากนี้ในเรื่องของความปลอดภัยก็ต้องมี

 

 

ส่วนคำถามในรอบสอง มาจากชาวกรุงเทพมหานคร ที่ถามว่า ปัญหารถติดทุกเส้นทาง มีนโยบายใดที่จะแก้ปัญหานี้ ทำได้จริงในระยะเวลาเท่าไหร่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหารถติด คือ ระบบขนส่งสาธารณะไม่ดี จึงต้องปรับปรุงถนน และ ระบบขนส่ง กรุงเทพมหานครต้องยึดคืนพื้นผิวถนน จากการขุดรถไฟฟ้า กรุงเทพมหานครต้องลงทุนเรื่องเทคโนโลยีเพื่อบริหารการจัดการไฟจราจร รถไฟฟ้าสายสีเขียวเราต้องต่อสู้เพื่อนำประโยชน์คืนให้ประชาชน ราคาถูก เชื่อมโยง ได้โดยตั๋วใบเดียว ต้องดูขยาย เส้นทางขสมก. รวมถึงคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าวได้หรือไม่ เป็นเส้นเลือดฝอยที่ทำให้เราเข้าสู่เส้นทางหลักได้ ส่งเสริมการใช้จักรยาน ซ่อมพื้นผิวฟุตบาธ สร้างทางเลือกให้ประชาชน เมืองจะได้คล่องตัวขึ้น รถติดน้อยลง

 

สำหรับคำถามจาก ผู้ประกอบอาชีพพ่อค้าแม่ค้าขาย ที่ถามว่า จะจัดการอย่างไรกรณี หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ริมฟุตบาท ให้ขายอยู่ที่เดิม ได้อย่างไร นายชัชชาติ กล่าวว่า ถ้าจะขายอยู่ที่เดิมก็ต้องดูว่าเหมาะกับการขายหรือไม่ ต้องดูความเหมาะสมว่าฟุตบาธเพียงพอที่จะตั้งหาบเร่แผงลอยหรือไม่ และต้องมีแนวปฏิบัติชัดเจน ต้องพูดความจริงกัน อย่าเพียงแค่พูดเอาใจพ่อค้าแม่ค้าเท่านั้น จากนั้นต้องลงทะเบียน มาตรการการจัดสรรที่ขายก็ต้องชัดเจน เป็นธรรม ถ้าไม่โปร่งใสจะมีปัญหาเรื่องการจัดการ นอกจากนี้ต้องมีความสะอาด เรื่องสาธารณสุขและความปลอดภัย ให้กรรมการในเขตร่วมดูแลกันเอง ถ้าจุดไหนฟุตบาธใช้ไม่ได้จะต้องหาที่ให้เขา เช่น ที่เอกชน ที่ราชการที่ยังพอมีว่างอยู่

 

เมื่อถามถึงการจัดการขยะในคลอง นายชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีแม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก สาเหตุน้ำเสีย คือการทิ้งขยะลงคลอง ชาวบ้านมักบ่นว่าการเก็บขยะมาไม่ถี่ ดังนั้นเรื่องการเก็บขยะต้องสม่ำเสมอ กรุงเทพมหานครต้องเข้าไปดูแล เข้มงวดกับคนที่ทิ้งลงน้ำ ร่วมกับ ควบคุมมลพิษเข้าตรวจบ่อบำบัดน้ำเสีย ที่เป็นต้นตอปล่อยมลพิษ จะต้องนำน้ำเสียทั้งหมดไปบำบัดในบ่อบำบัดน้ำเสียรวม กรุงเทพมหานครอาจต้องทบทวนการบำบัดน้ำเสียในภาพรวม การเปิดระบายน้ำเป็นเรื่องใหญ่ เพื่อฟลัดให้น้ำดีไล่น้ำเสีย

 

 

ส่วนคำถามสุดท้ายจากพิธีกรถามว่า ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร แล้วมีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แล้วรัฐบาลใช้กำลัง ฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา โล่กระบอง เข้าสลายการชุมนุม หรือถ้าชุมนุมมากจนมีการรัฐประหาร ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร มีจุดยืนอย่างไรกับเรื่องนี้ นายชัชชาติ กล่าวว่า หน้าที่ของผู้ว่ากรุงเทพมหานครต้องดูแลคนกรุงเทพทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะคิดเห็นอย่างไร เห็นต่างจากรัฐบาลอย่างไร พรบ.ชุมชนสาธารณะ จะต้องอำนวยความสะดวก เก็บขยะ ห้องน้ำ น้ำดื่ม แพทย์ฉุกเฉิน กล้องซีซีทีวี ความปลอดภัย ต้องดูแลให้เต็มที่ กรุงเทพมหานคร จะต้องเตรียมพื้นที่ชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 9 ของพรบ.ชุมนุมเพื่ออำนวยความสะดวก เวลาชุมนุมก็มาชุมนุมได้เลย ไม่ต้องไปขออนุญาตตำรวจ ถ้ามีเหตุการณ์รัฐประหาร แพทย์ของกรุงเทพมหานครจะต้องเตรียมพร้อมทั้งหมด รถพยาบาลฉุกเฉิน จะต้องเต็มที่ ดูแลประชาชน ไม่ใช่ดูแลคนล้อมปราบประชาชน

 

“22 พฤษภาคม ครบรอบปฏิวัติพอดี เราไม่สนับสนุนการรัฐประหาร แต่เรายืนข้างประชาชน ไม่สนับสนุนการปฏิวัติเพราะผิดขั้นตอนประชาธิปไตย จะยืนข้างประชาชนไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง