‘ปศุสัตว์’ เผยส่งออกเนื้อไก่รับอานิสงส์โควิด ครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 5 แสนตัน
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์มีหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริมการส่งออกสินค้าเนื้อไก่ ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงในปัจจุบัน ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูแลการผลิตเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดส่งออกเนื้อไก่ครึ่งปี 2564 เพิ่มขึ้นจำนวน 5 แสนตัน มูลค่า 56,000 ล้านบาท
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมฯ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ไม่ให้ปนเปื้อนกับสินค้า จึงมีนโยบายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำบับเบิ้ลแอนด์ซี ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคควบคู่ไปกับการดำเนินการตามมาตรการของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวดตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มมาตรฐานจีเอพี โรงฆ่าสัตว์และโรงแปรรูปที่ถูกสุขอนามัย มาตรการป้องกันโควิด ในโรงงานมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านพนักงาน 2.ด้านสถานที่ผลิต และ 3.ด้านสินค้า
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวอีกว่า สำหรับโรงงานที่พนักงานตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดอาจได้รับผลกระทบเนื่องจากถูกสั่งปิดและขาดแรงงาน ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่อาจได้รับผลกระทบจากการรอนำไก่เข้าเชือดซึ่งโรงงานในบางจังหวัดถูกสั่งปิดเป็นเวลาสั้นๆ 5-7 วัน แต่บางจังหวัดอาจถูกสั่งปิด 14 วันไก่จะมีน้ำหนักมากและถูกกดราคา สำหรับการส่งออกมีเพียงจีนที่แสดงความกังวล นอกจากยังไม่มีหน่วยงานของประเทศผู้นำเข้าของต่างประเทศได้แสดงความกังวลมาแต่อย่างใด
“หากพบว่าโรงงานใดที่ตรวจพบคนงานติดเชื้อ กรมฯ ต้องชะลอการส่งออกชั่วคราวตามข้อกำหนดจีน ดังนั้น หากไทยสามารถควบคุมการระบาดของโควิดในภาพรวมได้ พนักงานหายป่วยกลับมาทำงาน รวมถึงการมีแรงงานเข้ามาชดเชย ก็เชื่อมั่นว่าในปี 2564 ยอดส่งออกเนื้อไก่จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3% เมื่อเทียบกับปี 2563 หรือที่ปริมาณ 1,219,909 ตัน มูลค่า 141,786 ล้านบาท อย่างแน่นอน” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว