รีเซต

สปสช. เคาะจ่ายเบื้องต้น 4 แสน หญิงรับวัคซีนโควิดเสียชีวิต ที่สงขลา

สปสช. เคาะจ่ายเบื้องต้น 4 แสน หญิงรับวัคซีนโควิดเสียชีวิต ที่สงขลา
มติชน
5 มิถุนายน 2564 ( 13:51 )
53
สปสช. เคาะจ่ายเบื้องต้น 4 แสน หญิงรับวัคซีนโควิดเสียชีวิต ที่สงขลา

 

ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 สงขลา เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ระดับเขตพื้นที่ เขต 12 สงขลา ได้ร่วมกันพิจารณาเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ก่อนจะเห็นพ้องร่วมกันที่จะอนุมัติการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ใน จ.สงขลา เป็นจำนวน 4 แสนบาท

 

 

สำหรับผู้เสียชีวิตรายนี้ ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกในวันที่ 14 พ.ค. 2564 และไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ในช่วง 30 นาทีแรก สองวันถัดมาคือในวันที่ 16 พ.ค. 2564 เริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย ถัดจากนั้นอีก 3 วัน คือวันที่ 19 พ.ค. 2564 เกิดอาการวูบ จึงได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิครินทร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา จนกระทั่งในวันที่ 22 พ.ค. 2564 เริ่มเกิดอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และหมดสติในวันที่ 27 พ.ค. 2564 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

 

ทพ.วิรัตน์ กล่าวว่า ทางคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่าเจตนารมณ์ของประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในข้อที่ 3 ระบุว่า เงินช่วยเหลือเบื้องต้นคือเงินที่จ่ายให้กับผู้รับบริการ ทายาท หรือผู้อุปการะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากวัคซีนโควิด-19 โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด

 

 

 

ทั้งนี้ จากกรณีนี้ถือว่าเป็นอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่จากเจตนารมณ์ของประกาศที่ตั้งใจบรรเทาความเดือดร้อนให้กับทายาทหรือผู้อุปการะโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด เนื่องจากผู้เสียชีวิตเป็นเสาหลักของครอบครัว คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติจ่ายเงินจำนวน 4 แสนบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว

 

 

อนึ่ง การพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหาย จากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สปสช.เขต 12 สงขลา แล้วจำนวน 10 ราย ผลการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 8 ราย รวมเป็นเงิน 537,000 บาท เป็นอาการเจ็บป่วยปานกลาง จำนวน 1 ราย เป็นอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาล 6 ราย และเสียชีวิต 1 ราย (400,000 บาท)

 

 

ด้าน พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาฯ เขต 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ได้พิจารณาคำร้องของญาติผู้ป่วยที่มีอาการโคม่าหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 มิ.ย. 2564 ควบคู่ไปกับผลการสอบสวนโรค ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ลงความเห็นว่าไม่ได้เป็นผลมาจากวัคซีน แต่ในแง่การช่วยเหลือทางสังคมในเบื้องต้น ทางอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาจ่ายเงินจำนวน 7.5 หมื่นบาท

 

 

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า กรณีนี้ผู้ป่วยยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และได้รับการผ่าตัดไปแล้ว 2 รอบ แต่ผู้ป่วยยังอยู่ในอาการโคม่า โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า สาเหตุเกิดจากรอยโรคเดิมที่เป็นอยู่ ซึ่งก็คือโรงเส้นเลือดสมองโป่งพอง

 

 

“ผู้ป่วยรายนี้สิทธิประกันสังคม ซึ่งทางประกันสังคมก็จะดูแลอย่างต่อเนื่องต่อไป แต่อย่างไรก็ตามทางเราก็จะยังคงประสานงานกับทางญาติของผู้ป่วย ซึ่งถ้าเขาไม่พอใจก็สามารถยื่นอุทธรณ์มาได้” พญ.ลลิตยา กล่าว

 

 

ทั้งนี้ หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย ในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะช่วยเหลือจำนวนเท่าใดนั้น เป็นการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ตามภาวะความรุนแรง
สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. โทร. 1330

ข่าวที่เกี่ยวข้อง