รีเซต

คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก อายุ 2,000 ปี ใช้วงแหวนประดับเพชรพลอยจำลองจักรวาลย่อส่วน

คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก อายุ 2,000 ปี ใช้วงแหวนประดับเพชรพลอยจำลองจักรวาลย่อส่วน
ข่าวสด
13 มีนาคม 2564 ( 21:16 )
88

 

กลไกช่วยคำนวณทางดาราศาสตร์ของชาวกรีก หรือ "กลไกแอนติคีเทรา" (Antikythera mechanism) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคอมพิวเตอร์แบบแอนะล็อกเครื่องแรกของโลก ยังคงเป็นปริศนาอยู่ว่ามันทำงานอย่างไร จึงสามารถบอกวันเวลา ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ และคำนวณเส้นทางการโคจรของดวงดาวได้อย่างละเอียด เกินกว่าระดับความก้าวหน้าของวิทยาการในยุคโบราณ

ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (ยูซีแอล) ของสหราชอาณาจักร ซึ่งได้พยายามศึกษาวิเคราะห์และประกอบสร้างกลไกดังกล่าวขึ้นมาใหม่เผยว่า สามารถไขปริศนาเรื่องกลไกการทำงานของมันได้บางส่วน โดยพบว่าเข็มชี้ทิศทางจำนวนมากบนหน้าปัด อาจไม่ได้เป็นเครื่องหมายแทนตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้า แต่เพชรพลอยที่ประดับบนวงแหวนหมุนได้ต่างหากที่ทำหน้าที่นี้ 

กลไกแอนติคีเทราซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึง 2,000 ปี ถูกค้นพบเมื่อปีค.ศ. 1901 ในซากเรือจมที่นอกชายฝั่งเกาะแอนติคีเทราของกรีซ โดยพบเป็นซากผุพังแตกหักของอุปกรณ์ทำจากสัมฤทธิ์ 82 ชิ้น บรรจุอยู่ในกล่องไม้ขนาด 30 เซนติเมตร มีมือจับสำหรับหมุนใช้งานที่ด้านข้าง มีเฟืองใหญ่น้อยที่ทำงานสัมพันธ์กันมากกว่า 30 ตัว แต่ส่วนประกอบกว่าสองในสามของอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นเมื่อราว 100 ปีก่อนคริสตกาลนี้ ได้สูญหายไปเสียแล้ว

 

AFP
เศษชิ้นส่วนที่ผุพังของกลไก Antikythera mechanism ซึ่งพบที่ซากเรือจมนอกชายฝั่งเกาะแห่งหนึ่งของกรีซ

 

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ระบุว่า ผลการวิเคราะห์โครงสร้างภายในของกลไกแอนติคีเทราด้วยเครื่องซีทีสแกน และการถอดความจารึกที่ด้านข้างของกลไกก่อนหน้านี้ ทำให้พบว่าการทำงานของมันบางอย่างมีลักษณะแตกต่างออกไปจากองค์ความรู้แบบกรีกโบราณ เช่นวงจรการเคลื่อนที่ของดาวศุกร์และดาวเสาร์ที่ใช้เวลารอบละ 462 ปี

 

หลักฐานใหม่ดังกล่าวชี้ว่า อุปกรณ์นี้อาจใช้หลักการคำนวณทางดาราศาสตร์ที่ประยุกต์มาจากแนวคิดของนักปรัชญา "พาร์เมนิดีส" (Parmenides) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้ทีมผู้วิจัยได้ทดลองประกอบสร้างกลไกแอนติคีเทราที่สมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ ในรูปของแบบจำลองคอมพิวเตอร์สามมิติ โดยเติมชิ้นส่วนที่สูญหายเพื่อให้มันมีโครงสร้างที่สนับสนุนกลไกการทำงานตามหลักดาราศาสตร์ของพาร์เมนิดีส

 

Prof Tony Freeth / UCL
แบบจำลองสามมิติของกลไก Antikythera mechanism ที่นักวิจัยยุคปัจจุบันได้พยายามประกอบสร้างขึ้นมาใหม่

ศาสตราจารย์ โทนี่ ฟรีต หนึ่งในผู้นำทีมวิจัยของยูซีแอลบอกว่า มีความมั่นใจในแบบจำลองที่สร้างขึ้นใหม่ว่าน่าจะใกล้เคียงกับกลไกแอนติคีเทราของจริง เพราะสามารถบรรจุชิ้นส่วนทั้งหมดลงในกล่องบรรจุกลไกของเดิมได้พอดี ทั้งการประกอบสร้างครั้งใหม่ก็ยังทำให้พบว่า เข็มชี้ทิศทางจำนวนมากบนหน้าปัดที่ดูคล้ายเข็มนาฬิกา อาจไม่ได้เป็นเครื่องหมายแทนตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้า แต่เพชรพลอยต่างขนาดที่ประดับบนวงแหวนหมุนได้หลายวงต่างหากที่ทำหน้าที่นี้

"มันเป็นระบบกลไกที่งดงาม ซึ่งครั้งหนึ่งชาวกรีกโบราณใช้มันคำนวณหาผลลัพธ์ทางดาราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นจากแนวคิดทฤษฏีต่าง ๆ แทนที่จะใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์ด้วยมือ อันที่จริงแล้วมันคือเครื่องพยากรณ์นั่นเอง" ศ. ฟรีตกล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง