จังหวัดขอนแก่นขึ้นชื่อว่าเป็น “ศูนย์รวมผ้าไหม” ซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็จะมีลวดลายผ้าไหมอันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและมีความสวยงามแตกต่างกันไป อย่างที่ชุมชนบ้านหนองบัวน้อย ในอำเภอพล ก็ได้มี "ผ้าไหมลายฮีตสิบสอง" เป็นลวดลายอันขึ้นชื่อ ซึ่งภายในหมู่บ้านหนองบัวน้อยนั้นยังถือเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ที่เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับการทอผ้าและร่วมทำกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย บ้านหนองบัวน้อยตั้งอยู่ที่ตำบลโสกนกเต็น อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านมีอาชีพหลักคือการทำนา อาชีพเสริมคือการรับจ้าง ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการทอผ้า ชุมชนแห่งนี้ถือว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้วิถีชุมชน เนื่องจากในหมู่บ้านมีแหล่งเรียนรู้ที่ถ่ายทอดและเผยแพร่จากคนเฒ่าคนแก่ให้แก่ผู้ที่สนใจหรือนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นชุมชน OTOP นวัตวิถีที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการทอผ้าไหม โดยเฉพาะผ้าไหมลายฮีตสิบสอง ซึ่งเป็นการทอผ้าไหมที่สอดคล้องกับวีถีของชุมชนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวอีสาน คือ การยึดถือฮีตในการดำรงชีวิต ซึ่งคำว่า “ฮีต” มาจากคำว่า “จารีต” หมายถึงสิ่งที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ชาวอีสานจะเรียกว่า “จาฮีต” โดยแต่ละเดือนทั้ง 12 เดือน จะมีจารีตหรือประเพณีที่ถือเป็นแนวประพฤติปฏิบัติในเดือนนั้น ๆ จนเกิดเป็นคำว่า “ฮีตสิบสอง” หรือประเพณี 12 เดือนนั่นเอง แต่ละเดือนจะมีฮีตหรือประเพณีที่ชาวอีสานให้ความสำคัญ และแต่ละหมู่บ้านจะมีการกำหนดวันทำบุญประจำเดือน โดยในวันนั้นทุกคนจะแต่งกายอย่างประณีต ด้วยผ้านุ่งผืนที่ดีที่สุดและสวยงามที่สุดเข้าร่วมงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผ้าไหม เพราะคนอีสานเชื่อว่าผ้าไหมเป็นผ้าชั้นสูง ต้องมีงานสำคัญจึงจะได้นำมานุ่ง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นการทอผ้าลวดลายเฉพาะสำหรับงานบุญประจำเดือนนั้น ๆ ขึ้น เรียกว่า ผ้าไหมฮีตสิบสองลวดลายบนผ้าไหมนั้น ได้ถูกออกแบบให้มีความสวยงาม ซึ่งเกิดขึ้นจากจินตนาการของชาวบ้านประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ โดยผ้าไหมแต่ละลายจะมีชื่อเรียกและลวดลายที่มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับงานบุญประเพณีที่สำคัญในแต่ละเดือน (ในภาพจะเรียงลำดับจากขวาไปซ้าย) ดังนี้เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม "ลายข้าวหลามตัด" งานบุญเข้ากรรม เป็นพิธีกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอาบัติ ซึ่งชาวบ้านก็จะมีการนำข้าวและอาหารไปถวายที่วัด ผ้าไหมจะมัดเป็นลายข้าวหลามตัด เพราะช่วงนี้ชาวบ้านจะถวายข้าวหลาม ซึ่งทำจากข้าวที่พึ่งเก็บเกี่ยวใหม่แด่พระสงฆ์เดือนยี่ บุญคูณลาน "ลายขันหมากเบ็ง" หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์ไปเทศน์ที่ลานนวดข้าว และมีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญพระแม่โพสพ เพื่อเป็นการขอบคุณและขอให้ในปีต่อไปได้ผลผลิตมาก ผ้าไหมจึงใช้ไหมมัดหมี่โบราณชื่อลายขันหมากเบ็งน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ในการบูชาของชาวอีสานเดือนสาม บุญข้าวจี่ "ลายนกกระยางขาว" เป็นช่วงปลายฤดูหนาว โดยมีตำนานเกี่ยวกับนางสุชาดา ซึ่งเป็นชายาของพระอินทร์ ไม่ค่อยได้ทำบุญ บำเพ็ญกุศล ต่อมาได้เกิดมาเป็นนางนกกระยางขาว พระอินทร์ทรงมาโปรด และได้สั่งสอนให้บำเพ็ญกุศล เพื่อจะได้กลับไปเสวยสุขดังเดิม ชาวบ้านจึงทอผ้าไหมลายนกกระยางขาวขึ้น เพื่อใช้สวมใส่ในงานบุญประจำฮีตเดือนนี้เดือนสี่ บุญผะเหวดหรือบุญมหาชาติ "ลายขันหมากเบ็งใหญ่" บุญผะเหวดหรือบุญมหาชาติถือเป็นงานบุญใหญ่ ต้องใช้เครื่องบูชาชั้นสูง ชาวบ้านจะเตรียมเครื่องถวายพร้อมขันหมากเบ็งที่มีขนาดใหญ่และมากกว่าบุญเดือนยี่ ลายผ้าไหมจึงเป็นภาพขันหมากเบ็งขนาดใหญ่ ที่มีความซับซ้อนกว่าลวดลายของบุญเดือนยี่เดือนห้า บุญสงกรานต์ "ลายขาเปีย" บุญสงกรานต์ เป็นการทำบุญวันขึ้นปีใหม่ของไทยแต่โบราณ มีการสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ขอพรจากผู้เฒ่าผู้แก่และญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะรวมตัวกันเพื่อทำบุญตักบาตร ก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งลายขาเปีย หมายถึง การไขว้ การเกี่ยวพัน แสดงถึงความผูกพันของชาวบ้าน เมื่อถึงเดือนห้า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ให้กลับมารวมกันเช่นนี้เดือนหก บุญบั้งไฟ "ลายดอกแก้วน้อย" บุญบั้งไฟจะจัดก่อนฤดูทำนา ด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นการขอฝน และขอให้ข้าวในนาอุดมสมบูรณ์ ก่อนจุดบั้งไฟจะมีการแต่งขันห้า บูชาแถน ในพานบูชาจะมีดอกไม้สีขาว ชื่อดอกทองพันชั่ง ซึ่งคนอีสานเรียกว่า ดอกแก้ว ลายซิ่นฮีตนี้จึงมัดเป็นลายดอกแก้ว สีที่ใช้มักจะเป็นสีเขียว ซึ่งแสดงถึงพืชพรรณกำลังอุดมสมบูรณ์เดือนเจ็ด บุญเบิกบ้านหรือบุญซำฮะ "ลายฟันเลื่อย" บุญเบิกบ้านหรือบุญซำฮะ อยู่ในช่วงเดือนที่กำลังเข้าสู่ฤดูฝน ถือเป็นช่วงเริ่มต้นการทำนา คำว่า ซำฮะ หมายถึง ชำระ เป็นการชำระสิ่งที่ไม่ดีออกไปก่อนที่จะทำสิ่งดี ๆ ลายฟันเลื่อย สื่อถึงอุปกรณ์การลงนา ใช้ในการถางป่าถางหญ้าให้โล่ง ให้เกลี้ยง เพื่อให้ข้าวในนาที่กำลังจะปลูกได้ผลดีเดือนแปด บุญเข้าพรรษา "ลายหมากหญ้าหยุมหรือหมากจับหยุม" ช่วงเข้าพรรษา เป็นช่วงที่พระสงฆ์ต้องจำพรรษาอยู่ประจำวัดเป็นเวลา 3 เดือน ความเป็นมาของลายนี้ กล่าวถึงสตรีที่แฟนบวชเป็นพระ ต้องจำพรรษาในวัดถึง 3 เดือน เธอจึงต้องคอยไปส่งอาหารให้พระ ต้องเดินลัดเลาะไปตามคันนา มีโคลนกระเด็นใส่ มีหญ้าเจ้าชู้ติดตามชายผ้าซิ่น ลวดลายจึงออกมาเป็นดอกดวงเล็ก ๆ และนิยมใช้สีคล้ำคล้ายสีโคลนเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน "ลายเครือกาหลง" บุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว ผ้าซิ่นลายเครือกาหลง เป็นการมัดลายจากธรรมชาติป่าอีสานสมัยโบราณ เนื่องจากเดือนเก้าเป็นเดือนที่ฝนตกชุก ป่าไม้ใบหนา จนแม้แต่อีกายังบินหลงรัง ลายผ้าจะมัดเป็นลายที่ละเอียดซับซ้อนเหมือนเครือไม้ในป่าโบราณเดือนสิบ บุญข้าวสาก "ลายสายก่องข้าว" บุญข้าวสาก เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย โดยเฉพาะญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีการทำสลากให้พระจับ เพื่อจะได้ถวายของตามสลากนั้น และชาวบ้านก็จะนำข้าวปลาอาหารไปทำบุญที่วัดในตอนเช้า และนำห่อข้าวสากไปวางไว้บริเวณวัด เพื่อให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้วมารับอาหารและบุญที่อุทิศให้ ลายผ้าเป็นลายที่ผูกมาเพื่อให้นึกถึงญาติผู้ล่วงลับนั้นว่า หากไม่ไปทำบุญ บรรดาญาติเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับ และไม่ได้กินข้าว กลายเป็นผีอดอยาก สะพายตะกร้าและก่องข้าวมายืนร้องไห้ เพราะลูกหลานไม่ทำบุญอุทิศให้เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา "ลายล่าย" บุญออกพรรษาเป็นวันครบกำหนดหลังจากที่พระภิกษุจำพรรษาครบ 3 เดือน ลายผ้าที่ใช้คือ ลายหมี่ล่าย ซึ่งมีตำนานเล่าว่า มีหญิงชายคู่หนึ่ง เป็นคู่รักกัน แต่ฝ่ายชายต้องไปเป็นทหาร สาวคนรักก็ทอผ้ารอคนรักกลับมา แต่เมื่อกลับมาแล้ว แม่ฝ่ายชายก็ได้ขอให้ไปบวชต่อ แล้วก็ไม่ได้ลาสิกขาเสียที หญิงคนนั้นจึงได้แต่รอต่อไป ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หมี่ล่ายคอยอ้ายบ่มา” โดยมีเทคนิคการผูกให้ลายงอเข้าคล้ายเครือเถาดอก บ้างก็บอกว่าลายหมี่ล่ายเป็นลายที่ทอแล้วจะเอียงไปเรื่อย ๆ เหมือนคนทอใจเหม่อลอยคิดถึงแต่ชายหนุ่มที่ตัวเองเฝ้ารอ แต่บ้างก็บอกมีลักษณะเหมือนน้ำตาเทียนที่เกาะอยู่กับต้นเทียนพรรษา ที่ถูกจุดมาตลอดระยะเวลาเข้าพรรษาเดือนสิบสอง บุญกฐิน "ลายโซ่ตาข่าย" บุญกฐิน เป็นการถวายผ้าจีวรแด่พระสงฆ์ซึ่งได้จำพรรษาแล้ว เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 นิยมถวายผ้าไตรจีวร พร้อมเครื่องอัฐบริขารและเครื่องไทยทาน ชาวอีสานถือว่าบุญกฐินเป็นบุญที่สำคัญที่สุด ผู้ใดได้ร่วมบุญจะได้ด้อานิสงส์แผ่ไปทุกภพทุกชาติ ลายโซ่ตาข่าย ภาษาอีสานเรียกว่า ดาง ก็หมายถึง ผลบุญที่แผ่กระจายไปเป็นวงกว้างนั่นเองนี่เป็นเพียงรายละเอียดคร่าว ๆ ของที่มาลายผ้าไหมฮีตสิบสองแต่ละลวดลายเท่านั้น ความจริงแล้วรายละเอียดของแต่ละลาย และงานประเพณีที่สำคัญแต่ละเดือนมีความลึกซึ้งกว่านี้มาก หากได้ไปฟังคนในหมู่บ้านเล่าเอง จะรู้สึกได้ถึงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและทอผ้าแต่ละลายออกมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าผ้าแต่ละผืนนั้นนอกจากจะสวยงามแล้ว ยังแฝงเรื่องราวที่สอดคล้องกับวิถีวิตของคนในชุมชนเอาไว้ด้วยนอกจากผ้าไหมฮีตสิบสองที่ได้รู้จกกันไปแล้วนั้น ภายในหมู่บ้านยังมีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนที่จะมาเป็นผ้าไหมที่สวยงาม ว่าต้องผ่านกรรมวิธีอะไรบ้าง ซึ่งที่นี่ก็มีให้ได้เรียนรู้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอนเลย ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การสาวไหมเพื่อนำเส้นไหมออกมา การนำเส้นไหมไปผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยวิธีการต่าง ๆ จนกระทั่งนำไปทอออกมาให้เป็นลวดลายที่ต้องการเนื่องจากคนในหมู่บ้านนี้ ส่วนใหญ่จะมีการทอผ้าไหมกันเกือบทุกบ้านอยู่แล้ว เราจึงสามารถเดินเข้าไปเยี่ยมชม หรือไปเรียนรู้ ไปสอบถามข้อมูลความรู้ต่าง ๆ จากชาวบ้านผู้ทอผ้าอยู่ตามบ้านกันได้เลย ซึ่งขอบอกเลยว่าทุกคนน่ารักมาก ๆ ยิ้มแย้มแจ่มใส ใจดี และเป็นกันเอง ยินดีต้อนรับเราทุกคนที่เข้าไป และอยากจะให้ข้อมูลกับเราเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนที่ทอผ้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีอายุค่อนข้างมากแล้ว ท่านจึงยินดีและดีใจ ถ้าหากว่ามีคนอยากจะเข้าไปเรียนรู้ เพราะจะเป็นการสืบสานการทอผ้าไหมให้คงอยู่ต่อไปเมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็อยากจะเชิญชวนให้ทุกท่านได้เข้าไปลองสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านหนองบัวน้อยกันดูนะคะ ไปเรียนรู้ความเป็นอยู่ จารีต ประเพณี วัฒนธรรมต่าง ๆ ของคนในท้องถิ่น และที่สำคัญไปเรียนรู้เกี่ยวกับการทอผ้าไหม และเรื่องราวต่าง ๆ ที่แฝงไว้ในผืนผ้าที่เรียกว่า ผ้าไหมฮีตสิบสอง เพราะว่าผ้าไหมถือเป็นภูมิปัญญาที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสิ่งอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม หรือด้านวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ การเรียนรู้เกี่ยวกับการทอผ้าไหมจึงเป็นการเรียนรู้วิถีชุมชนไปด้วยนั่นเอง ซึ่งนี่อาจจะทำให้เราหลงรักในความเป็นท้องถิ่นอีสานไปเลยก็ได้(ภาพประกอบทั้งหมดโดย : ผู้เขียน)