สวัสดีชาวอิสานสายเลาะ หรือจะเรียกว่าขาเลาะก็ได้ วันนี้ผมไปตระเวนเลาะบ้านมาเผอิญไปเห็นต้นบักมี่ หรือภาษาทางภาคกลางว่าต้นขนุน ก็ทำให้นึกถึงเรื่องอาหารการกินที่เราได้จากต้นบักมีนี้ และให้นึกไปถึงลูกเล็ก ๆ ที่งอกออกมาจากขั้วขนุนขั้วเดียวกัน แต่มันไม่สามารถเจริญเติบโตได้ คนอิสานเลยลูกขนุนลูกเล็ก ๆ นี้ว่า “หำบักมี่” ฮา ฟังดูออกจะน่าเกลียดหรือสัปดน แต่ว่าคนอิสานบ้านผมเขาเรียกว่าอย่างนี้จริง ๆต้นขนุนเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่นิยมปลูกไว้ประจำในเรือกสวนไร่นาโดยทั่ว ๆ ไป หรือแม้แต่ตามบ้าน ต้นขนุนนี้ให้ประโยชน์มากมาย เช่นลูกอ่อน ๆ เราสามารถนำไปต้มทำซุบบักมีก็อร่อยและมันเป็นอาหารพื้นบ้านที่เราชาวอิสานได้กินกันบ่อย ๆ หรือแม้แต่เอาขนุนที่ต้มสูกแล้วไปแกงใส่ปลาย่าง อันนี้ก็อร่อย ยิ่งขนุนสุก อันนั้นยิ่งยอดของความอร่อย เพราะขนุนสุกทั้งหอมทั้งหวาน ผมว่าใคร ๆ คงพอจะนึกออกถึงรสชาติของขนุนได้ อย่างเราชาวอิสานบ้านนอกนี้ ผมว่าคงจะเคย ๆ กินกันแทบทุกคน ไม่ว่าจะลูกอ่อนลูกแก่ ทีนี้มาพูดถึงรสนิยมอีกอย่างที่คนอิสานชอบกินจากต้นบักมี่ นั่นก็คือ การกินหำบักมี่ ฮ่า คือลูกเล็ก ๆ ที่งอกออกมาตามรอบ ๆ ขั้วขนุนวิธีกรรมการกินหำบักมี่นี้ อิสานเรียกว่าการกินเมี่ยงหำบักมี่ ส่วนประกอบอื่น ๆ นอกจากหำบักมี่ อาจจะมีใบมะละกอ แจ่วบอง มดแดงส้มที่เราหาได้ตามธรรมชาติ หรืออาจะเสริมด้วย มะขามสด วิธีกินหำบักมี่นี้ก็คือ ซอยลูกขุนเล็ก ๆ ตามขวาง ห่อด้วยใบมะละกอ เติมแจ่วบอง มดแดงส้มที่ให้รสเปรี้ยวหรืออาจะเป็นมะขามสดหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นก็ม้วนห่อใบมะละกอรอบสิ่งละอันพันละน้อยนั้นเป็นคำยัดใส่ปากเคี้ยว กร๋วม ๆ ๆ ได้ทั้งรสเผ็ดของแจ่วบอง รสฟาดจากหำบักมี่และรสเปรี้ยวจากมดแดงส้มหรือมะขาม เรียกว่าการกินเมี่ยงหำบักมี่นี้เป็นที่ชื่นชอบของนักเปิบชาวอิสาน และมันเป็นอาหารที่แสนอร่อยและหากินยากการกินเมี่ยงแบบนี้จะนิยมกินในหน้าร้อนแล้งครับ ช่วงที่มดแดงส้มเริ่มออกไข่ พอไปแหย่ไข่มดแดงตามโคกตามป่ามา เรามักจะได้ตัวมดแดงส้มที่มีรสชาติเปรี้ยว ๆ แถมมาด้วยเสมอ ก็เลยนำมดแดงพวกนั้นมากินเมี่ยงเสียเลย หรือจะกินในฤดูอิ่น ๆ ก็สามารถทำได้แล้วแต่ความชอบ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ประเพณีกินหำบักมี่นี้มักเกิดตอนช่วงหน้าร้อนครับผม แหม เล่ามาแล้วชักเปรี้ยวปาก นึกอย่างจะกินหำขึ้นมาแล้ว ฮ่า เรื่องและภาพโดยผู้เขียน ลูกอิสาน