หลักฐานมันฟ้อง! นักวิจัยคาดต้นตอโควิด-19 ไม่ได้มาจากสัตว์ แต่หลุดมาจากแล็บทดลอง
เดือนตุลาคม 2022 ผลงานวิจัยจากคณะกรรมการวุฒิสภาของสหรัฐด้านสุขภาพ การศึกษา แรงงาน และบำนาญ (United States Senate Committee on Health, Education, Labor and Pensions) เพื่อศึกษาทฤษฎีต้นตอของไวรัสโคโรนาถูกตีพิมพ์ออกมา โดยนักวิจัยศึกษาอย่างใกล้ชิดกันมาตลอด 15 เดือน ในแหล่งข้อมูลสาธารณะหลายร้อยแห่ง สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญหลายราย และวิเคราะห์รายงานที่เคยมีก่อนหน้านี้เกี่ยวกับต้นตอของโรคระบาด
สองทฤษฎีหลักที่มีการถกเถียงว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดคือ
- มาจากการระบาดจากสัตว์สู่คนตามธรรมชาติ
- มาจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย
โดยในรายงานได้สันนิษฐานว่า จากการรวมรวมข้อมูลทั้งหมดและวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน มีความเป็นได้มากกว่าที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมีต้นตอมาจากการทดลอง ไม่ใช่การแพร่จากสัตว์ ซึ่งรายละเอียดประกอบการวิเคราะห์โดยย่อมีดังนี้
ทฤษฎีการระบาดจากสัตว์สู่คน
ไวรัสที่เป็นต้นตอของโควิด 19 คือไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นไวรัสตั้งต้นในโรคมากมายที่เกิดขึ้นในสัตว์ นอกจากนี้ เมื่อมองย้อนไป ไวรัสทั้งหมดที่เกิดจากไวรัสโคโรนาและระบาดมาสู่คนล้วนระบาดมาจากการสัมผัสกับสัตว์ทั้งสิ้น อย่างเช่นโรคซาร์ส (SARS) และ เมอร์ส (MERS) ในช่วงที่ผ่านมา เลยเป็นสาเหตุให้นักวิจัยหลายคนเชื่อว่าโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสโคโรนาเหมือนกันนั้น เป็นการระบาดจากสัตว์สู่คน
โดยการระบาดจากสัตว์สู่คน จะต้องเริ่มจากการที่สัตว์ติดเชื้อไวรัสก่อนมาใกล้ชิดกับคน และไวรัสตัวนั้นต้องเป็นสายพันธ์ที่สามารถติดต่อไปสู่คนได้ด้วย หลังจากนั้น เมื่อไวรัสติดต่อมาสู่คนได้แล้ว ไวรัสตัวนั้นก็ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับคนได้ ถึงจะเป็นการแพร่อย่างสมบูรณ์ ซึ่งถ้าปรับตัวไม่ได้ไวรัสก็จะตายไป
ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ทฤษฎีนี้เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงคือข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ที่เป็นพาหะ ซึ่งถึงแม้จะมีข้อสันนิษฐานว่ามาจากค้างคาวเนื่องจากมีการค้นพบไวรัสโคโรนาในค้างคาวในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนตอนใต้ แต่มันก็อยู่ห่างจากอู่ฮั่นซึ่งเป็นเมืองเริ่มต้นของข่าวการแพร่ระบาดอยู่มาก และก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธ์ที่เป็นโควิด-19 หรือใกล้เคียงเลยนอกจากการพบในคน ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์พาหะ และวิธีการแพร่มาสู่คน นั้นยังไม่มีคำตอบ และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าที่มาของการแพร่ไวรัสโคโรนานี้มาจากสัตว์ เพราะข้อมูลยังขาดอยู่มากสำหรับการยืนยันทางสัตววิทยา
ทฤษฎีการระบาดจากแล็บทดลอง
มีตัวอย่างให้เห็นหลายกรณีว่าเคยมีเชื้อไวรัสหลุดออกจากห้องทดลองในอดีต อย่างเช่นไวรัส H1N1 ที่เคยระบาดเมื่อหลายปีก่อน และก่อให้เกิดการแพร่ระบาดระหว่างคนสู่คน รวมไปถึงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เก่าหรือ SARS-CoV ก็เคยมีรายงานว่าหลุดมาจากห้องทดลองในประเทศจีน ไต้หวัน และสิงคโปร์ อีกด้วย
หลักจากการระบาดของโรคซาร์ส ประเทศจีนก็ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาเพื่อคิดค้นวัคซีนป้องกัน ทำให้อู่ฮั่นกลายเป็นศูนย์กลางการวิจัยของโลกเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา โดยเก็บตัวอย่างทดลองจากค้างคาวกว่า 15,000 ตัวที่มีไวรัสที่ใกล้เคียงกับโรคซารส์เพื่อการวิจัย
ในรายงานกล่าวว่ามีรูปภาพของนักวิจัยในปี 2018 ที่ใส่ชุดป้องกันไม่เพียงพอระหว่างทำงาน อย่างเช่นการเพียงใส่หน้ากากอนามัยทั่วไปและถุงมือในขณะที่เก็บตัวอย่างทดลองจากค้างคาว จนไปถึงเจ้าหน้าที่บางคนที่ไม่ใส่หน้ากากหรือถุงมือด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ยังมีรายงานเกี่ยวกับแผนวิจัยที่ถูกเสนอให้กับองค์กรป้องกันสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูง (DARPA) โดยระบุว่าเป็นโครงการวิจัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของไวรัสโคโรนาในการแพร่ไปสู่คน และยังระบุอีกว่าถ้าเกิดการค้นหาไม่สำเร็จ นักวิจัยจะนำเสนอการทดลองที่จะเพิ่มโอกาสในการแพร่สู่คนโดยจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการเกาะติดที่เนื้อเยื่อปอดให้กับไวรัส และใส่จีโนม Furin Cleavage Site ลงไปในไวรัส ซึ่งเป็นจีโนมที่เพิ่มความรุนแรงและเป็นตัวเดียวกันกับที่ค้นพบในไวรัสโควิด-19 อีกด้วย แต่ถึงแม้โครงการนี้สุดท้ายก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจาก DARPA แต่ก็ทางนักวิจัยก็มองว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจเพราะแผนวิจัยที่ถูกเสนอนี้มีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดการระบาด และไวรัสในแผนวิจัยก็มีความคล้ายคลึงกับสายพันธ์ุหลักที่ระบาด
ทั้งนี้ ในปี 2019 ยังมีรายงานเกี่ยวกับศูนย์วิจัยระดับสูงหลายแห่งในอู่ฮั่นที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนไม่เพียงพอจนทำให้มาตรการหลายอย่างที่สำคัญนั้นไม่ถูกทำตามอย่างที่ควร ซึ่งรวมไปถึงมาตรการด้านความปลอดภัยด้วย
ความรวดเร็วในการพัฒนาวัคซีน
หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2019 รัฐบาลมากมายก็ต่างเร่งศึกษาและพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสตัวนี้ให้เร็วที่สุด โดยข้อมูลทางพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุนี้ถูกอัปโหลดขึ้นบนฐานข้อมูลโลกในวันที่ 11 มกราคม 2020 เพื่อให้นักวิจัยศึกษาและนำไปใช้คิดวัคซีน
สหรัฐฯ ได้จัดตั้งโครงการ Operation Warp Speed ประกอบด้วยศูนย์วิจัยต่าง ๆ ที่ช่วยกันศึกษาเพื่อพัฒนาวัคซีน โดยมีเป้าหมายคือพัฒนาสูตรสำหรับ ‘การทดลองทางคลินิกกับมนุษย์ ระยะที่ 1’ ได้ (Phase I human clinical trials) วัคซีนของ แอสตราซิเนก้า-ออกซ์ฟอร์ด (AstraZenca-Oxford) ใช้เวลาทั้งสิ้น 103 วัน ในการพัฒนาไปถึงขั้นตอนนี้ ส่วน จอห์นสัน & จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ใช้เวลาทั้งสิ้น 185 วัน
ในขณะเดียวกันประเทศจีนก็ได้จัดตั้งทีมวิจัยขึ้นมา 4 ทีม เพื่อศึกษาเรื่องนี้ โดยหนึ่งใน 4 ทีมนั้นเป็นทีมที่นำโดยพลตรี เฉิน เหว่ย (Chen Wei) ซึ่งใช้เวลาเพียง 67 วัน เท่านั้น ในการพัฒนาวัคซีนให้เข้าสู้ระยะที่ 1 เหมือนเจ้าอื่น
ความรวดเร็วที่ห่างกันมากขนาดนี้ทำให้นักวิจัยเกิดความสงสัยว่า ทีมวิจัยของจีนทีมนี้ได้ใช้ขั้นตอนอะไรแตกต่างจาก Operation Warp Speed หรือไม่ หรือว่าพวกเขาได้ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์นี้ก่อนวันที่ 11 มกราคม 2020 ซึ่งเป็นวันที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้รับหรือเปล่า?
บทสรุปการคาดการณ์
การมองหาจุดเริ่มต้นและตำแหน่งเวลาที่แน่นอนและเชื่อมั่นได้ว่าถูกต้องนั้นเป็นไปได้ยากเพราะตั้งแต่การระบาดที่อู่ฮั่น ทางการของจีนก็ได้ประกาศห้ามเผยแพร่หรือตีพิมพ์ข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับเชื้อไวรัสนี้โดยไม่ได้รับการตรวจสอบจากรัฐ แต่ถึงแม้ว่าทางการจีนจะออกมายืนยันว่าเคสโควิดรายแรกของโลกคือในช่วงเดือนธันวาคม 2019 แต่ก็ยังมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่เชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่าการระบาดของโควิดเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2019 แล้ว
ถึงแม้การระบาดของไวรัสตัวอื่นก่อนหน้านี้จะทำให้มีความเป็นไปได้ว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้มาจากการที่มนุษย์สัมผัสกับสัตว์เหมือนครั้งก่อน ๆ แต่ในกรณีนี้นักวิจัยระบุว่ามีความเป็นไปได้สูงมากว่าเป็นผลมาจากการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับไวรัสตัวนี้ ข้อสรุปนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะยืนยันอย่างชัดเจน เพียงแต่สรุปถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขของจีนนั้นขาดความโปร่งใสและไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลเพิ่มเติม จึงทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนกว่านี้ได้ ถ้าเกิดมีข้อมูลมากกว่านี้ ข้อสรุปเหล่านี้อาจถูกตรวจสอบและพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ที่มา: HELP