วิธีแก้ปัญหาส้วมเต็ม ทำไงดี ถังส้วมไม่ซึม ปัญหาบ้านๆ ช่วงหน้าฝนบ้านใหม่ไม่มีส้วมไม่สามารถขอบ้านเลขที่ได้ค่ะ! และต่อให้บ้านมีส้วมแล้วแต่ส้วมดันมาแตกหรือเต็มก็อยู่ไม่ได้อีกเหมือนกันค่ะ! เรื่องส้วมๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่สามารถเพิกเฉยได้ ทำบ้านประตูหน้าต่างไม่ได้ตามแบบคนในบ้านยังอยู่ได้ แต่ถ้าส้วมเต็มนั้นต่อให้บ้านสวยวิวดีแค่ไหนก็ต้องหาทางจัดการก่อนจึงจะอยู่ต่อได้ค่ะ และส้วมเต็มเป็นสิ่งที่หลายคนสงสัยมาตลอดและอยากมีทางรอดทางออกให้ตัวเองเอาไว้จัดการตอนส้วมเต็ม แต่หลายคนก็มองภาพไม่ออกว่าทำไมส้วมเต็ม!? เพราะอย่างน้อยถ้ารู้ว่าสาเหตุคืออะไรกันแน่ก็ยังทำให้รู้ว่าขั้นตอนต่อไปคืออะไรที่สามารถทำได้จริงไหมค่ะ? ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ส้วมกำลังเต็มค่ะ เฮ่ย!!ไม่ใช่‼️😄 เป็นคนหนึ่งที่รู้ว่าทำไมส้วมเต็มค่ะ เพราะมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับส้วม การจัดการสิ่งปฏิกูลและการจัดการน้ำเสียมาค่ะ จะพูดว่าแค่หลับตาก็มองทะลุถังส้วมเลยก็ได้😄 ส้วมเต็มจริงๆ แล้วคำนี้ถ้าพูดใหม่ให้คนธรรมดาเข้าใจง่ายๆ นั้น ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้หมายถึงสิ่งปฏิกูลเต็มค่ะ เพราะถ้าสิ่งปฏิกูลสามารถลดปริมาณลงได้จากการย่อยสลายของจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ แต่เป็นน้ำเต็มในถังที่เต็มและน้ำรักษาระดับของตัวเองต่างหาก‼️ และน้ำเต็มสามารถอธิบายต่อได้ดังนี้ค่ะ ปกตินั้นถังส้วมถังเกรอะแบบเก่าตามบ้านเราแบบเดิมๆ เลยนะคะ อาจสร้างใหม่แต่ยึดหลักการเดิมก็ได้ หลักการเดิมอาศัยการซึมได้ของน้ำในดินที่อยู่บริเวณรอบๆ ถังส้วมค่ะ ลองนึกภาพตามนะคะ....พอเราเข้าส้วมเสร็จ ราดน้ำจะทำให้มีน้ำส่วนหนึ่งรวมกับสิ่งปฏิกูลไหลเข้าไปในถังส้วมไปแทนที่พื้นที่ว่างภายในถัง ต่อจากนั้นสิ่งปฏิกูลจะถูกแยกออกเป็น 3 สถานะ คือ ตะกอนหนัก ตะกอนแขวนลอยและตะกอนที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ จากนั้นสิ่งปฏิกูลถูกย่อยสลาย โดยการย่อยสลายในถังส้วมเป็นแบบไม่ใช้อากาศค่ะ การย่อยสลายสารอินทรีย์แบบนี้ทำให้ได้ก๊าซที่มีกลิ่นเหม็นรบกวน ช่างจึงต่อท่อระบายอากาศไว้จากถังส้วม ปกติท่อระบายอากาศนี้ต้องอยู่สูงกว่าระดับที่คนเราจะสามารถรับสัมผัสก๊าซเหม็นๆ นั้นได้ค่ะ ซึ่งหลายบ้านก็ต่อผิดอีกนะคะ‼️ จึงมีกลิ่นเหม็นรบกวนเป็นระยะๆการย่อยสลายสารอินทรีย์ในถังส้วมเกิดจากจุลินทรีย์ตามธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากสิ่งปฏิกูลเป็นหลักค่ะ และอาจมีถังส้วมบางบ้านที่สามารถมีจุลินทรีย์จากในดินช่วยในการย่อยสลายสารอินทรีย์ด้วยจากที่ก้นถังไม่ได้เทพื้นคอนกรีตเอาไว้ค่ะ หากการย่อยสลายตามธรรมชาตินี้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมจะทำให้สิ่งปฏิกูลเปลี่ยนรูปไปเป็นก๊าซจึงทำให้สิ่งปฏิกูลค่อยๆ ลดจำนวนลงและหายไปนั่นเองค่ะ แต่น้ำในถังจะหายไปก็ต่อเมื่อน้ำมีการซึมได้ในดินบริเวณรอบถังส้วมค่ะ และน้ำนี้ก็มีเส้นทางการหายไปต่ออีก เช่น หายไปจากพืชในบริเวณดังกล่าวดูดซึมไปใช้ หรืออาจไหลลงไปในชั้นน้ำใต้ดินก็ได้ เราจึงพบว่าถังส้วมจะต้องอยู่ห่างจากแหล่งตามใช้ตามธรรมชาติไม่น้อยกว่า 30 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้แหล่งน้ำใต้ดินเกิดการปนเปื้อนด้วยจุลินทรีย์ค่ะปกตินั้นในทางปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมหากต้องมีการวางถังส้วมถังเกรอะหรือถังที่ทำหน้าที่ในลักษณะที่กำจัดบางสิ่งบางอย่างร่วมกับการซึม เช่น บ่อดักไขมัน จะต้องทำการตรวจสอบหาการซึมได้ของดินก่อนเสมอ เพื่อนำมาคำนวณขนาดของถังเกรอะให้สอดคล้องกับของเสียที่จะเข้ามาภายในถัง โดยดินแต่ละชนิดมีความสามารถในการซึมได้ที่ต่างกันค่ะ และถ้าดินมีคุณสมบัติการซึมได้น้อยเราจะต้องปรับปรุงคุณภาพของดินเพื่อรองรับการซึมได้ของน้ำก่อน หรือใช้หลักการอื่นร่วมด้วย เช่น การวางท่อใยหินในแนวนอนให้สามารถกระจายน้ำไปในบริเวณรอบๆ จากบ่อดักไขมันและปกคลุมด้วยหินคลุกขนาดเล็ก เพื่อเป็นเพิ่มอัตราการซึมได้ของดินร่วมกับอาศัยการระเหยของน้ำค่ะ ซึ่งบ้านเราแต่ละคนในแต่ละจังหวัดดินก็ต่างกัน จึงพบว่าการเต็มของส้วมในแต่ละบ้านไม่พร้อมกันค่ะ การที่ส้วมเต็มจากที่ดินซึมไม่ได้แล้วหรือซึมได้น้อยลงสามารถพบเห็นได้บ่อยในช่วงหน้าฝนค่ะ เพราะดินอิ่มตัวด้วยน้ำตลอดเวลา จากสถานการณ์นี้ทำให้ในตอนหลังมาเราอาจพบว่ามีถังส้วมถังเกรอะแบบใหม่ติดตามบ้านสมัยใหม่ ที่มีลักษณะหน้าตาเป็นถังกลมสีดำถูกนำมาฝังลงไปในดินแทนวงคอนกรีตรูปแบบเดิมที่มีต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับถังเกรอะแบบใหม่ค่ะโดยในส่วนของถังส้วมสมัยใหม่นี้ยังอาศัยการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบไม่ใช้อากาศเหมือนเดิมค่ะ แต่ส่วนแรกของถังมีสื่อชีวภาพที่ทำหน้าที่ให้แบคทีเรียเกาะจับและทำงานอยู่ภายในถังเพิ่มขึ้นมาค่ะ จากนั้นมีปลายท่อฝั่งตรงข้ามของถังส้วมแบบนี้ทำหน้าที่เป็นท่อน้ำออกค่ะ และโดยส่วนมากช่างมักจะปลายท่อส่วนนี้ไหลลงในท่อรับน้ำเสียของระบบรวบรวมน้ำเสียแบบรวมของเทศบาลหรือชุมชนที่เราอยู่อีกต่อหนึ่งค่ะ จึงพบว่าถังส้วมแบบใหม่นี้โอกาสเต็มน้อยกว่าจากการทำงานตามปกติของถังส้วมเองนะคะ เพราะในบางกรณีอาจเต็มเพราะขยะอุดตันซึ่งจะไม่เกี่ยวกับกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์และการซึมได้ของดินค่ะ ถ้าขยะอุดตันก็ต้องไปแก้ปัญหาเรื่องขยะค่ะ ซึ่งจะเป็นคนละส่วนกันกับการจัดการสิ่งปฏิกูลในถังส้วม โดยการจัดการขยะง่ายที่สุดก็คือ อะไรที่จับติดมือถือว่าเป็นขยะให้เอาไปจัดการแบบขยะค่ะแนวทางการแก้ไขส้วมเต็มในช่วงหน้าฝนสำหรับคนที่มีพื้นที่ว่างในบ้าน คือ ให้ขุดต่อท่อใยหินจากถังส้วมไปยังบริเวณที่สามารถซึมได้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการซึมได้ของถังส้วมค่ะ แต่หลายบ้านมีปัญหาเพราะพื้นที่บ้านจำกัดพอดีๆ กับตัวบ้าน แถมยังเทคอนกรีตปิดทับหมดแล้วจึงไม่มีที่ให้ขุด ดังนั้นแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุดเมื่อส้วมเต็มก็คงหนีไม่พ้นต้องดูดส้วมเท่านั้นค่ะ โดยรถดูดส้วมจะดูดส้วมและนำไปกำจัดในที่ๆ เหมาะสม ตัวอย่างของสถานที่กำจัดสิ่งปฏิกูลที่ถูกต้องตามหลักอนามัยสิ่งแวดล้อมอยู่ที่เทศบาลนนทบุรีค่ะ ที่เป็นการบำบัดสิ่งปฏิกูลตามแนวทางโครงการพระราชดำริ ที่นี่มีถังทั้งหมดจำนวน 31 ใบ ซึ่งถังทั้งหมดไม่ได้เชื่อมต่อหากันเลย จากนั้นรถดูดส้วมจะนำสิ่งปฏิกูลมาทิ้งในแต่ละถังตามวันที่ 1-31 ของแต่ละเดือนค่ะ พอครบกำหนดมารอบใหม่เจ้าหน้าที่เทศบาลจะเปิดระบายถังที่ 1 ต่อไปเรื่อยตามวันเวลาที่เปลี่ยนไป ในถังที่ว่านี้อาศัยการย่อยสลายสิ่งปฏิกูลแบบไม่ใช้อากาศ หมักแบบไร้อากาศอย่างน้อยเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วันค่ะ จึงจะสามารถเปิดระบายตะกอนที่ไม่สามารถย่อยสลายได้แล้วออกทิ้ง โดยของเสียที่เหลือจากการย่อยสลายถูกระบายไปที่ลานตากตะกอนที่เป็นลานทรายและทำให้แห้งด้วยการตากแดดค่ะ ส่วนน้ำเสียจากถังส่วนนี้ถูกรวบรวมไปที่บ่อรวบรวมน้ำเสียและทำการบำบัดอีกรอบก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมค่ะ ตะกอนจากสิ่งปฏิกูลที่แห้งแล้วทางเทศบาลขายให้กับชาวสวนค่ะ ซึ่งตะกอนนี้สามารถนำมาใช้ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้เพราะให้ธาตุไนโตรเจนสูงค่ะอย่างไรก็ตามการจะทำให้ส้วมเต็มช้าลงนั้นยังพอเป็นไปได้ค่ะ โดยต่อไปนี้คือแนวทางที่สามารถทำได้ทันที- ไม่ทิ้งขยะ ถุงยางอนามัย ผ้าอนามัยหรือสิ่งที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ง่ายลงไปในส้วมค่ะ หลายคนอาจมีคำถามเรื่องกระดาษชำระว่าทิ้งลงได้ไหม!? ขอตอบจากประสบการณ์ตรงที่ได้เห็นการทิ้งกระดาษชำระลงในถังส้วมมานะคะ และข้อมูลนี้เป็นคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาของผู้เขียนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลว่า กระดาษชำระที่มีความหนาแน่นต่ำ‼️ ไม่ทำให้ส้วมตันค่ะและพบว่าสามารถละลายได้จนมีขนาดเล็กลงในถังส้วมได้ กระดาษชำระที่มีความหนาแน่นต่ำนี้ดูได้จากการลองฉีกด้วยมือค่ะ ถ้าสามารถฉีกขาดได้ทันทีแบบง่ายๆ ก็สามารถใช้ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วกระดาษกลุ่มนี้เป็นกระดาษชำระที่มีราคาถูกค่ะ- เพิ่มอัตราการย่อยสลายสารอินทรีย์ในถังส้วมด้วยการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียภายในถัง ที่ต้นทุนต่ำสุดและง่ายสุดคือการเทจุลินทรีย์อีเอ็มค่ะ โดยสามารถใช้ได้ทั้งแบบหัวเชื้อเข้มข้นและอีเอ็มที่นำมาขยายและใช้ตามบ้านเรือนค่ะ- งดการเทน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีความเข้มข้นสูงลงไปในส้วม ถึงแม้ว่าตอนเราล้างห้องน้ำและตอนเราใช้ห้องน้ำเราอยากเห็นห้องน้ำสะอาดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ในถังส้วมกลับต้องการแบคทีเรียที่มีชีวิตเพื่อการย่อยสลายสารอินทรีย์ค่ะ ซึ่งการเทน้ำยาทำความสะอาดที่มีความเข้มข้นมากทำให้สภาวะภายในถังถูกรบกวนตลอดเวลา จึงใช้เวลานานกว่าปกติในการย่อยสลายสิ่งปฏิกูล และจากที่ถังส้วมเราไม่ได้ใหญ่มหึมาและในขณะที่ในทุกๆ วันมีสิ่งปฏิกูลใหม่เข้ามาตลอดจึงทำให้ถังส้วมเต็ม เพราะถ้าคุณผู้อ่านไปดูที่จุดกำจัดสิ่งปฏิกูลของเทศบาลนนทบุรีนั้น ถังเพียงช่องเดียวใหญ่มากเมื่อเทียบกับถังส้วมบ้านเราค่ะ - ตรวจสอบว่าถังส้วมปิดมิดชิด ไม่มีน้ำฝนไหลเข้ามาปะปนภายในถัง มีถังแตกร้าวหรือเปิดฝาถังทิ้งไว้ไหม เพราะถ้าเป็นแบบนั้นจะทำให้กระบวนการย่อยสลายสิ่งปฏิกูลเกิดขึ้นได้ไม่สมบูรณ์ค่ะ จากที่ถังส้วมใช้หลักการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบไม่ใช้อากาศ คำว่า ไม่ใช้อากาศแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือต้องปิดฝาถังให้มิดชิดค่ะ- ติดตั้งท่อระบายอากาศให้สูงกว่าระดับที่คนเราสามารถรับสัมผัสกลิ่นเหม็นได้ การมีท่อระบายอากาศนอกจากจะทำให้กลิ่นเหม็นไปที่ชอบๆ แล้ว ยังทำให้ก๊าซต่างๆ ไม่สามารถย้อนกลับเข้ามาในอาคารได้ด้วย ถ้าคุณผู้อ่านเคยสังเกตนะคะเวลากดชักโครกหรือราดส้วมจะมองเห็นน้ำเดือด‼️ นั่นเป็นสัญญาณบอกว่าการระบายก๊าซที่ถังส้วมทำได้ไม่มี ปกติก๊าซต่างๆ จะหาทางออก เพราะโดยธรรมชาติของก๊าซเบาและจะลอยขึ้นที่สูงเสมอค่ะและทั้งหมดคือเนื้อหาสาระว่าทำไมส้วมเต็ม แนวทางการแก้ไขและการดูแลส้วมแบบง่ายๆ ที่คนธรรมดาสามารถทำได้ค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นต่อให้มีบางคนบอกว่าบ้านเขาส้วมไม่ค่อยเต็มก็ตาม แต่ถึงจุดๆ หนึ่งเขายังมีความจำเป็นต้องได้สูบส้วมค่ะ เพราะขนาดโรงพยาบาลหรือสถานที่ๆ มีระบบบำบัดน้ำเสียของตัวเองที่มีถังเกรอะขนาดใหญ่ยังมีความจำเป็นต้องสูบตะกอนที่สะสมอยู่ด้านล่างถังออกไปทิ้ง เพราะเป็นตะกอนที่ไม่สามารถย่อยสลายได้อีกแล้ว อีกทั้งยังมีพวกดินทรายต่างๆ ที่ไปทำให้พื้นที่ภายในถังส้วมลดน้อยลงไปวันละเล็กวันละน้อยค่ะ ซึ่งเวลาสูบตะกอนชุดนี้จริงๆ เราจะใช้รถดูดสูบเหมือนกันค่ะแต่จะใช้ท่อหย่อนลงไปที่ก้นถังและสูบตะกอนที่ก้นถังเท่านั้นทำคล้ายกับเราใช้ไดโว่สูบตะกอนในบางที่นั่นเองค่ะ แต่สำหรับบ้านเรือนทั่วไปตะกอนที่ก้นถังมีน้อยมากเพราะตะกอนส่วนนี้ต้องใช้เวลากว่าจะเกิด เราจึงพบว่าบางบ้านต้องสูบส้วมเพราะถูกจำกัดด้วยพื้นที่ภายในถัง ที่ไม่สนับสนุนให้ภายในถังมีระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการย่อยสลายสิ่งปฏิกูลด้วยกระบวนการแบบไม่ใช้อากาศ เพราะถ้าคำนวณจริงๆ ถังจะใหญ่มากซึ่งเราจะไม่ทำเพราะด้วยต้นทุนและพื้นที่ภายในบ้านที่ถูกจำกัดค่ะเครดิตภาพประกอบบทความถ่ายภาพโดย ผู้เขียนออกแบบหน้าปกบทความใน Canvaบทความอื่นที่น่าสนใจระบบรวบรวมน้ำเสียชนิดต่างๆ และข้อดีข้อเสียที่พบได้ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลแบบติดกับที่ หน่วยบำบัดที่ทำให้น้ำเสียดีขึ้นการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียด้วยจุลินทรีย์แบบใช้อากาศเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !