รีเซต

ท่าเรือคลองวาฬ งบสร้าง 429 ล้าน ถูกปล่อยทิ้งร้างนาน 16 ปี จนชำรุด

ท่าเรือคลองวาฬ งบสร้าง 429 ล้าน ถูกปล่อยทิ้งร้างนาน 16 ปี จนชำรุด
มติชน
28 กุมภาพันธ์ 2565 ( 11:36 )
57

ข่าววันนี้ 28 กุมภาพันธ์ นางบุญเยี่ยม วินิจ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลคลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่าเทศบาลมีความพร้อม มีงบประมาณเพียงพอ เพื่อรับมอบการถ่ายโอนภารกิจโครงการท่าเรือร่องน้ำคลองวาฬ มูลค่า 429 ล้านของกรมเจ้าท่า หลังจากสร้างเสร็จในปี 2549 ถึงปัจจุบันนาน 16 ปี พบว่าที่ผ่านมาไม่มีองค์กรใดของรัฐเป็นเจ้าภาพบริหารจัดการ ล่าสุดสภาเทศบาลจะพิจารณาหลักเกณฑ์ จะต้องตรวจสอบว่าสภาเทศบาลในอดีต เคยให้ความเห็นกับโครงการนี้อย่างไร เพื่อรับมอบโครงการดังกล่าวให้ชาวประมงในพื้นที่ใช้ประโยชน์ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวประมงจะร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเร่งรัดให้หาแนวทางใช้ประโยชน์จากท่าเรือ หลังจากที่ผ่านมากรมธนารักษ์รับมอบโครงการจากกรมเจ้าท่า

 

นายอุดร โพธิ์พ่วง ผู้ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หลังจากท่าเรือสร้างเสร็จ ถูกปล่อยทิ้งให้สิ่งปลูกสร้างชำรุดนานกว่า 16 ปี ล่าสุดได้รับแจ้งจากทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แจ้งว่ากรมเจ้าท่าได้จัดสรรงบประมาณ 19.4 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงท่าเรือ นอกจากนั้นทราบว่าที่ผ่านมากรมเจ้าท่าต้องใช้งบประมาณรายปีเพื่อขุดลอกร่องน้ำที่ตื้นเขิน ทำให้เรือประมงพาณิชย์สามารถเข้าจอดเทียบท่าได้บางฤดูกาล ขณะที่ท่าเทียบเรือแห่งนี้ปกติควรยื่นออกไปในทะเลอีกราว 100 เมตร หลังจากใช้เวลาก่อสร้างโครงการนานกว่า 3 ปี ประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนในการแสดงความคิดเห็น

 

นายทิวา ศุภจรรยา ผู้อำนวยการสถาบันถิ่นฐานไทย อดีตนักวิชาการด้านธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์ทมหาวิทยาลัย อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า จากการสำรวจทางธรณีวิทยาพบว่า ท่าเรือคลองวาฬช่วงน้ำทะเลลดลง เดิมชายหาดเป็นแนวค่อนข้างตรง ต่อมาเมื่อมีการสร้างท่าเรือ และเขื่อนกันคลื่นในทะเล ทำให้แนวชายหาดมีความเปลี่ยนแปลง มีการงอกของชายฝั่งและชายหาดบางส่วนถูกน้ำทะเลกัดเซาะ จากการไหลเวียนของน้ำทะเล ทำให้กรมโยธาธิการต้องออกแบบวางแผนใช้งบสร้างเคลื่อนกันคลื่น เพื่อป้องกันความเสียหายในระยะยาวในพื้นที่ชายฝั่ง

 

“ การก่อสร้างท่าเรือคลองวาฬเป็นตัวอย่างการศึกษาทางวิชาการที่น่าสนใจ หากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้รอบคอบ ก็ไม่ควรสร้างให้สิ้นเปลืองงบประมาณทั้งโครงสร้างคอนกรีต กองหินขนาดใหญ่ในทะเล และการใช้งบรายปีเพื่อขุดลอกทรายที่ตื้นเขิน ดังนั้นกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า กรมธนารักษ์ ผู้บริหารระดับจังหวัดควรให้ความสนใจเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนมากเพื่อปรับปรุงท่าเรือ อาคารสำนักงาน และต้องวางแผนเพื่อป้องกันผลกระทบกับชายฝั่งในระยะยาว “นายทิวา กล่าว

 

มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงานจากพรรคเพื่อไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบท่าเรือดังกล่าว เนื่องจากก่อสร้างเพื่อส่งเสริมกิจการท่าเรือ สนับสนุนส่งเสริมการขนส่งทางน้ำและลดต้นทุนโลจิสติกส์ มีการก่อสร้างอาคารที่ทำการศุลกากร แต่ไม่พบว่ามีการใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คณะทำงานจึงเก็บข้อมูลหลักฐานแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนงานพัฒนาให้ชัดเจน โดยศึกษาข้อกฎหมายผลักดันให้ท่าเรือคลองวาฬเป็นจุดเชื่อมโยงการเดินเรือของนักท่องเที่ยวด้านทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่หัวหิน พัทยา ระยอง และอีกหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทย นอกจากใช้เพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำในธุรกิจประมง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง