รีเซต

'ปศุสัตว์' ยืนยันไก่ไทยปลอดภัย ย้ำถ้าพบเสี่ยงโควิดจะไม่อนุญาตจำหน่าย แนะทานแบบปรุงสุก

'ปศุสัตว์' ยืนยันไก่ไทยปลอดภัย ย้ำถ้าพบเสี่ยงโควิดจะไม่อนุญาตจำหน่าย แนะทานแบบปรุงสุก
มติชน
26 กรกฎาคม 2564 ( 10:31 )
33
'ปศุสัตว์' ยืนยันไก่ไทยปลอดภัย ย้ำถ้าพบเสี่ยงโควิดจะไม่อนุญาตจำหน่าย แนะทานแบบปรุงสุก

 

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรณีที่มีการพบการติดเชื้อโควิด-19 ในโรงเชือดไก่ อาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ประจำโรงงานตรวจสอบ ควบคุมขบวนการผลิตในโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ปีกเพื่อการส่งออกทุกแห่งให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิดของกรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค และส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี

 

นายสัตวแพทย์สรวิศระบุว่า กรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในโรงงาน และตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด โดยมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านพนักงานที่ต้องสัมผัสอาหาร มีการเฝ้าระวังสุขภาพของตนเองและต้องผ่านการตรวจโรคโควิด-19 ก่อนเข้าปฏิบัติงาน 2) ด้านสถานที่ผลิต ให้รักษาความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิต (GMP) โดยมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 3) ด้านความปลอดภัยของสินค้า ให้ตรวจสอบควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวดที่สำคัญมีการเก็บตัวอย่างตรวจการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสินค้า อุปกรณ์ สิ่งแวดล้อม จุดสัมผัสและจุดเสี่ยงในอาคารผลิต เพื่อประกันการปลอดเชื้อ โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าเนื้อไก่ส่งตรวจวิเคราะห์หาเชื้อโควิด-19 ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ โดยเก็บตัวอย่างเนื้อไก่ทุกวันผลิต (lot)

 

นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวอีกว่า หากพบสินค้าที่มีความเสี่ยง หรือปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 กรมปศุสัตว์จะไม่อนุญาตให้ทำการจำหน่ายหรือส่งออกเนื้อไก่ดิบ จึงขอให้ประชาชนสบายใจได้ ไม่ต้องกังวลว่าเนื้อไก่จะมีเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อน อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ขอแนะนำตามที่มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน ให้ผู้บริโภครับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้วเพราะความร้อนในระดับปรุงสุกสามารถทำลายเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคอื่นๆ ที่อาจมีปนเปื้อนอยู่ในเนื้อสัตว์ได้

 

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังสนับสนุนการทำบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค เนื่องจากโรงงานมีขอบเขตพื้นที่ชัดเจน เมื่อพบการติดเชื้อในโรงงานก็สามารถคัดแยกผู้ติดเชื้อออก เพื่อให้โรงงานดำเนินการได้ภายใต้การควบคุมโรค ดังนั้น การใช้วิธีให้แรงงานทำงานและพักอาศัยอยู่ภายในโรงงาน ซึ่งการจัดการด้วยวิธีบับเบิลแอนด์ซีลมีข้อดีกว่าการปิดโรงงานเป็นระยะเวลานานที่จะส่งผลกระทบต่อสายการผลิต การส่งออก การขาดแคลนสินค้าบริโภค เกษตรกรผู้เลี้ยง และเศรษฐกิจของประเทศ ในอนาคต

 

โอกาสนี้กรมปศุสัตว์ขอเชิญชวนผู้บริโภคเลือกซื้อวัตถุดิบเนื้อสัตว์และไข่สดจากสถานที่จำหน่ายที่ได้รับรอง “ปศุสัตว์ OK” เนื่องจากสามารถมั่นใจสินค้าว่าสอบย้อนแหล่งที่มาได้ เนื้อสัตว์ผลิตจากโรงฆ่าสัตว์ที่มีสุขลักษณะที่ดี ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559

 

รวมทั้งต้นทางของเนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP ซึ่งคัดเฉพาะสัตว์มีสุขภาพดีส่งผลิตต่อโดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยตรงผ่านทาง Application DLD 4.0 หรือที่สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กลุ่มควบคุมโรงฆ่าสัตว์ โทร 0-2653-4444 ต่อ 3141

ข่าวที่เกี่ยวข้อง