ภาพปกโดยผู้เขียนในอดีตที่เทคโนโลยีและการสื่อสารยังไม่ครอบคลุม วิถีชีวิตของชาวอีสานตามชนบทมักมีความเรียบง่ายและรู้จักประยุกต์ใช้สิ่งของรอบตัว แม้กระทั่งของเล่นเด็ก โดยเฉพาะของเล่นที่ทำให้เกิดเสียง ทั้งเครื่องประกอบจังหวะและเครื่องดนตรีที่สามารถรังสรรค์ขึ้นได้ง่าย ๆ อย่างเช่น 4 เครื่องดนตรีต่อไปนี้ปี่ซังภาพจากpixabayหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวทุ่งนาจะเต็มไปด้วยตอซังข้าว เด็ก ๆ จะตื่นเต้นกับซังข้าว ที่ทั้งหอม ทั้งสามารถนำมาเป็นเมนูอาหารต่าง ๆ ได้ เช่น ต้มซุปซังข้าว นอกจากนี้ซังข้าวยังสามารถนำมาทำปี่ซังข้าว เครื่องเป่าเรียบง่ายที่เด็กอีสานโปรดปราน แม้ว่าปีซังข้าวนี้จะให้เสียงออกมาได้เพียงเสียงเดียว แต่การกำหนดเสียงนั้นสามารถกำหนดได้ด้วยความสั้นยาวของลำซังข้าว ซึ่งปี่ซังข้าวมี 2 แบบ แบบที่ 1 จะทำโดยการขยี้บริเวณต่ำกว่าปล้องของซังข้าว ทำให้เกิดรอยแตกขึ้นโดยรอบ แล้วขยี้ให้เนื้อซังข้าวอ่อน แบบที่ 2 จะใช้มีดฝานบริเวณต่ำกว่าปล้องของซังข้าว แล้วนำมาเป่า ซึ่งบางครั้งก็นำไปลนไฟให้ซังข้าวอ่อนเพื่อให้ง่ายต่อการเป่า เสียงที่ได้จะคล้ายเสียงปี่ผู้ไท แต่เด็ก ๆ มักจะบอกว่าคล้ายเสียงเป็ดเสียมากกว่าปี่ผักบั่วภาพจากpixabayผักบั่วหรือดอกของต้นหอม ผักสวนครัวที่นิยมปลูกบริเวณบ้านเรือน ถูกนำมาประยุกต์ทำเครื่องดนตรีด้วยความสามารถและภูมิปัญญาของเด็กชาวอีสาน ขั้นตอนการทำนั้นทำได้ด้วยการนำผักบั่วไปลนไฟ ให้บริเวณส่วนปลายอ่อน เพียงเท่านี้ก็จะได้เครื่องดนตรีปี่ผักบั่วไว้เป็นของเล่นจากสวนครัวสนูว่าวภาพจากunsplashเป็นเครื่องดนตรีของเล่นสำหรับเด็ก และวัยรุ่น สนูว่าวนี้มีขั้นตอนการทำที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยเริ่มจากการหาใบลาน หรือหวายโทน หากเป็นใบลานจะนำมาอบรีดจนหมาด หากเป็นสายโทนจะนำมาผ่าซีกจนเป็นแผ่นบาง จากนั้นเจาะรูที่ปลายทั้งสองข้างแล้วมัดด้วยเชือกป่านฝั้น ถ่วงเสียงด้วยการติดชันรงค์หรือขี้สูดบริเวณปลาย ปรับความตึงด้วยไม้ไผ่ทำเป็นคันมัดติดกับว่าวจุฬาหรือว่าวปักเป้า เมื่อถูกลมพัดจะเกิดเสียงดังเป็นจังหวะ ซึ่งสนูแต่ละคัน จะให้เสียงที่แตกต่างกันออกไป เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จุดประสงค์ในการติดสนูว่าวไว้บนตัวว่าว ก็เพื่อฟังเสียงในยามค่ำคืนว่าว่าวที่ขึงไว้บริเวณลานบ้านขาดตกสูญหายหรือไม่ หากว่าวลอยกินลมดีก็จะได้ยินเสียงสนูว่าวตลอดคืน หากว่าวขาดหลุดหรือตกเสียงสนูนั้นก็จะหายไป เจ้าของว่าวจะต้องจดจำเสียงสนูของตนเองให้ได้ใบไม้ภาพจากpixabayด้วยความช่างคิดประดิษฐ์ประดอย และความเป็นหมู่ชนที่มีดนตรีในหัวใจของชาวอีสาน แม้กระทั่งในหมู่เด็กก็ยังสามารถนำใบไม้ที่หาได้ในบริเวณบ้านมาเป่าให้เกิดเสียง การเป่าใบไม้นี้ กำหนดเสียงด้วยการเม้มปาก ดันลมหรือตัดลมด้วยลิ้น สามารถให้เสียงที่หลากหลายให้จังหวะสั้นยาวที่แตกต่างกันได้ ตามแต่ทักษะความชำนาญของเด็ก สำหรับผู้ที่มีทักษะความชำนาญ สามารถนำหลักใบไม้ไปประกอบการแสดง การขับร้องฟ้อนรำได้อย่างลงตัวแม้วันเวลาผ่านไปนานสักเท่าใด แผ่นดินอีสานก็ไม่เคยเร้นไร้จากเสียงดนตรี ถึงจะมีการปรับเปลี่ยนพัฒนารูปแบบให้แตกต่างไปจากเดิม แต่สิ่งเหล่านั้นก็ยังสะท้อนถึงความรักในเสียงดนตรีของชาวอีสาน