รีเซต

กรมพัฒน์ฯ จับมือ ธ.ก.ส. ขับเคลื่อนใช้ไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ส่งเสริมอุทัยธานีขอสินเชื่อ

กรมพัฒน์ฯ จับมือ ธ.ก.ส. ขับเคลื่อนใช้ไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ส่งเสริมอุทัยธานีขอสินเชื่อ
มติชน
23 มิถุนายน 2563 ( 14:08 )
48
กรมพัฒน์ฯ จับมือ ธ.ก.ส. ขับเคลื่อนใช้ไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ส่งเสริมอุทัยธานีขอสินเชื่อ

นางสาวปัทมาวดี บุญโญภาส รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยทุเลาเบาบางลง นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้สั่งการให้เตรียมลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนการใช้ไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยลงพื้นที่ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งกรมฯ และ ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานหลักที่ร่วมกันขับเคลื่อนการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดย ธ.ก.ส. เป็น ‘ธนาคารแรก’ ที่เกษตรกรสามารถนำไม้ยืนต้นที่ปลูกบนที่ดินของตนเองมาเป็นหลักประกันการกู้เงินตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจฯ

 

” การประสานความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน จะช่วยผลักดันให้เกษตรกรและประชาชนตระหนักถึงประโยชน์ของการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเอง นอกจากจะช่วยเพิ่มแหล่งออกซิเจนให้ประเทศแล้ว ยังเป็นมรดกให้ลูกหลานในอนาคตอีกด้วย และจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า เกษตรกรและประชาชนให้ความสนใจปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองมากขึ้น หลังจากทราบว่า สามารถนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อเพื่อต่อยอดธุรกิจหรือใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้”

 

นางสาวปัทมาวดี กล่าวว่า  เบื้องต้น กรมฯ และ ธ.ก.ส. เตรียมลงพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ประมาณเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเอง รวมทั้ง ชี้แจงรายละเอียดโครงการธนาคารต้นไม้ของ ธ.ก.ส. และแนวทางการใช้ไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เนื่องจาก เกษตรกรหรือประชาชนที่ต้องการใช้ไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. ต้องเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.และเป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้ ดังนั้น การเข้าใจถึงรายละเอียดและหลักเกณฑ์การขอสินเชื่อที่ชัดเจนจะช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการใช้ประโยชน์จากไม้ยืนต้นที่ปลูกบนที่ดินของตนเอง หรือเริ่มที่จะปลูกไม้ยืนต้นเพื่อการออมในอนาคต นอกจากนี้ จะได้ร่วมกันตรวจวัดและประเมินมูลค่าไม้ยืนต้นของเกษตรกรที่แสดงความประสงค์ขอใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ณ ที่ดินของเกษตรกร ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย” และโอกาสนี้ กรมฯ จะให้คำแนะนำการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปให้มีความทันสมัยตรงความต้องการของตลาด พร้อมบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงามเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึง การขยายช่องทางการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นมากขึ้น

 

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2563) มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 104,571 ต้น เป็นไม้ประเภทยาง ยางพารา ต้นสัก และยูคาลิปตัส มูลค่ารวม 131,051,400 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง