8 วิธีพัฒนาการอ่านของตัวเอง เพื่อเพิ่มการรับรู้มากขึ้น | บทความโดย Pchalisa ผู้เขียนมองว่าการอ่านกลายเป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนควรมี ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตามแต่ เพราะการอ่านไม่เพียงแต่ช่วยให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น แต่ยังช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการจินตนาการอีกด้วย และถ้าจะพูดว่าการอ่านเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน ก็คงจะไม่ผิดค่ะ และการอ่านที่ดีจะช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นได้ด้วย พัฒนาทักษะการสื่อสาร และเพิ่มพูนความคิดสร้างสรรค์ได้อีกเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การอ่านยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจและลดความเครียดได้นะคะ ที่หลายคนอาจเคยรู้สึกว่าการอ่านเป็นเรื่องน่าเบื่อ หรือทำได้ไม่นานก็รู้สึกเหนื่อยล้า แต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะมาแนะนำวิธีการพัฒนาการอ่าน ให้สนุกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผู้เขียนก็ปรับใช้อยู่ประจำค่ะ จนตอนนี้เป็นคนที่อ่านหนังสือและกิจกรรมนี้ก็เกิดเป็นปกติธรรมดาในทุกวันไปแล้วค่ะ ดังนั้นถ้าคุณผู้อ่านลองนำวิธีการในนี้ไปปรับใช้แล้วล่ะก็ รับรองว่าจะมองภาพออกมาขึ้นและอ่านได้ทุกวันเหมือนผู้เขียนแน่นอน งั้นอย่าช้าที่จะอ่านให้จบค่ะทุกคน ดังนี้ 1. กำหนดเป้าหมายการอ่าน การกำหนดเป้าหมายที่ว่านี้จะเกี่ยวข้องกับ การเลือกหนังสือ คือ ต้องเลือกหนังสือที่ตรงกับความสนใจและระดับความรู้ของตัวเองก่อนค่ะ อย่างในกรณีของผู้เขียนนั้นส่วนมาก มักอ่านหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาเชิงบวก จากนั้นให้กำหนดจำนวนหน้าที่อยากอ่านต่อวันค่ะ หรือเวลาที่ใช้ในการอ่าน คือทั้งหมดนี้มันเป็นเป้าหมายของเราว่าต้องทำอะไรประมาณไหน สิ่งนี้จะเป็นเหมือนแผนที่นะคะ เลยทำให้เราเริ่มต้นการอ่านได้ง่าย สำหรับผู้เขียนมีกำหนดการอ่านจากเวลาค่ะ ได้กี่หน้าก็ช่าง ถ้าครบกำหนดคือจบและเลิกอ่านทันที โดยในตอนหลังมาชอบอ่านหนังสือในแอป Amazon Kindle ค่ะ เพราะในแอปนี้จะติดตามความคืบหน้าการอ่านของเราด้วย คือแอปจะบันทึกทุกอย่าง ทำให้เรารู้ด้วยว่าเรามีความรู้ใหม่ประเด็นไหนไปบ้างแล้วได้ง่ายๆ 2. สร้างบรรยากาศที่เหมาะสม ปกติผู้เขียนชอบอ่านหนังสือก่อนจะนอนค่ะ แต่บางทีก็อ่านตอนกลางวันบ้างแต่ไม่บ่อย ซึ่งการอ่านได้ดีนั้นต้องหาสถานที่สงบนะคะ เลือกมุมที่เงียบสงบและไม่มีสิ่งรบกวน ควรใช้แสงสว่างที่พอเหมาะ ไม่สลัวเกินไปหรือสว่างจ้าเกินไป หากต้องจดหรือขีดเส้นใต้ เน้นข้อความอะไรก็ตามแต่ ก็ควรเตรียมปากกา ดินสอหรือปากกาไฮไลท์ เพื่อจดบันทึกหรือขีดเส้นใต้ข้อความสำคัญให้พร้อมค่ะ สำหรับผู้เขียนนั้นมักเปิดโหมดพื้นสีดำในแอป Amazon Kindle ค่ะ ขยายตัวหนังสือให้ใหญ่ขึ้น ลดแสงหน้าจอลง และในแอปเขามีโหมดเน้นข้อความด้วยสีให้ด้วย เวลาที่เราอยากเน้นเนื้อหาที่สำคัญๆ เอาไว้ ซึ่งก็ง่ายมากค่ะ 3. อ่านอย่างมีสมาธิ สติใช้ได้กับทุกเรื่องจริงๆ ค่ะ ที่การอ่านก็ต้องมีสติด้วย ปกติผู้เขียนปิดโหมดการแจ้งเตือนหมดทุกอย่าง ปิดเสียงโทรศัพท์ คือปิดทุกอย่างที่สามารถส่งเสียงรบกวนได้ค่ะ และมักคิดตามเนื้อหาในหนังสือที่กำลังอ่าน การทำแบบนี้ทำให้เราโฟกัสที่เนื้อหาได้ดีมากค่ะ และตลอดเวลาก็ต้องพยายามไม่ให้ความคิดหลุดลอยไปที่อื่นด้วยนะคะ การทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ อ่านทีละประโยค และพยายามทำความเข้าใจความหมายของแต่ละประโยค ทำแบบนี้ได้การอ่านของเราดีขึ้นแน่นอนค่ะ 4. จดบันทึกและสรุป การจดประเด็นสำคัญ จดบันทึกประเด็นหลักและรายละเอียดที่น่าสนใจ การสรุปเนื้อหาที่อ่านด้วยภาษาของตัวเอง และการทบทวนสิ่งที่ได้จดบันทึกและสรุปเป็นประจำ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนสนับสนุนให้การอ่านของเราพัฒนาได้จริงค่ะ เพราะจากที่ผู้เขียนได้สังเกตมานั้น การอ่านรอบแรกเรามักยังมองไม่เห็นภาพหรือเข้าใจอะไรมากนัก แต่การมาอ่านทบทวนอีกครั้งคือสิ่งที่ทำให้เราชัดเจนในเนื้อหามากขึ้นค่ะ ซึ่งข้อนี้ผู้เขียนก็ทำนะคะ เพราะถึงแม้ว่าจะเน้นข้อความในแอป แต่ตอนเรากลับมาอ่านใหม่ เนื้อหาส่วนนั้นก็ยังถูกเน้นไว้อยู่เหมือนเดิมคะ แถมการอ่านรอบหลังๆ ยังทำให้เราเจอเนื้อหาที่สำคัญๆ เพิ่มขึ้นด้วยค่ะ 5. เพิ่มพูนคำศัพท์ ในบางครั้งตอนเราอ่านเรามักจะเจอคำศัพท์ใหม่ๆ การลองอ่านพจนานุกรเพื่อหาความหมายของคำศัพท์ใหม่ๆ แบบนี้ทำให้การอ่านมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ค่ะ โดยเฉพาะใครที่อ่านเนื้อหาที่เป็นภาษาอังกฤษนั้น เราจะเจอคำศัพท์ใหม่ๆ เยอะมาก และสมัยนี้การใช้แอปพลิเคชันสำหรับเรียนรู้คำศัพท์ก็เป็นไปได้แล้วนะคะทุกคน หากเป็นไปได้ให้หาเวลาอ่านหนังสือหลากหลายแนวค่ะ เพราะการทำแบบนี้ยิ่งช่วยเพิ่มพูนคำศัพท์ของเราได้ค่ะ ซึ่งในกรณีของผู้เขียนนั้นในแอป Amazon Kindle เขามีโหมด Word Wise ค่ะ เพียงแค่กดไปที่คำศัพท์ที่สงสัย ความหมายของคำนั้นจะแสดงให้เราเห็นทันทีเลย 6. ฝึกทักษะการวิเคราะห์ ในขณะที่เราอ่านหนังสือไปนั้น ถ้าเราสามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาที่อ่านได้ ลองทำและลองวิเคราะห์เนื้อหาในหนังสือดูค่ะ หรือแม้แต่ลองเปรียบเทียบเนื้อหาในหนังสือกับความรู้ที่เราเคยอ่านมาก่อนก็ได้ แบบนี้จะทำให้การอ่านของเราถึงพริกถึงขิงมากขึ้น และดูล้ำหน้ามากขึ้นในทุกๆ ครั้งที่อ่านค่ะ ที่ปกติผู้เขียนชอบคิดตามเนื้อหาที่อ่านอยู่แล้ว เลยเหมือนกับว่าตัวเองก็ได้พัฒนาทักษะคิดวิเคราะห์ไปด้วยง่ายๆ 7. อ่านหนังสือหลากหลายประเภท คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า? การลองเปิดใจอ่านหนังสือที่หลากหลายสาขาความรู้ แบบนี้ช่วยพัฒนาการอ่านได้ ยิ่งทำให้การอ่านของเราก้าวหน้าได้ง่ายๆ คือเราต้องลองหาเรื่องที่เราสนใจค่ะ อาจจะเป็นสัก 2-3 เรื่องที่แตกต่างกันก็ได้ อย่างเช่นผู้เขียนนั้นมีความสนใจเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก อนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งพอผู้เขียนสนใจอ่านหนังสือทั้งสามประเภทนี้ไปพร้อมๆ กัน สถานการณ์นี้จะคล้ายกับคนขุดเหมือง 3 เส้นทางไปพร้อมกันค่ะ มันช่วยทำให้การมองเห็นบางสิ่งบางอย่างมากขึ้นในทุกๆ วัน หรือจะพูดการอ่านพัฒนาขึ้นก็ได้ แถมการพูด การฟัง การสรุป การเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ และอื่นๆ ก็ดีไปด้วยกันหมดเลย 8. ทำให้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ในข้อนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ในตอนแรกๆ ค่ะ แต่เราต้องอ่านจนติดเป็นนิสัยก่อน เช่น ก่อนนอนอ่านหนังสือนิทานหรือบทความสั้นๆ ก่อนนอน อ่านในระหว่างรอก็ได้ เช่น อ่านหนังสือในระหว่างรอรถเมล์หรือคิว หรือจะอ่านบนรถก็ได้ เช่น บางคนก็ชอบอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์บนรถไฟฟ้าหรือรถโดยสาร ข้อนี้จริงค่ะ เพราะผู้เขียนเคยเห็นฝรั่งคนหนึ่งทำ เขาอ่านหนังสือบนรถไฟ แล้วเขาดูมีสมาธิมากกับการอ่านของเขา แต่สำหรับผู้เขียนต้องขอกดข้ามในกรณีอ่านบนรถค่ะ ทำไม่ได้เลยจริงๆ แต่อ่านตอนรอคิวอะไรสักอย่าง แบบนี้ทำบ่อยค่ะ และทำประจำก็คืออ่านก่อนนอน จนตอนนี้ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นภาระอะไรนะคะ และไม่เคยต้องจดด้วยว่าต้องอ่านหนังสือ สามารถทำได้อัตโนมัติค่ะ ซึ่งน่าจะเกิดจากการทำจนเคยชินและติดเป็นนิสัยค่ะ ก็จบแล้วค่ะ พอจะมองเห็นภาพไหมค่ะ? การอ่านไม่ควรนำมากดดันตัวเองนะคะ แต่การอ่านควรเป็นกิจกรรมที่สนุก และไม่ใช่ภาระ อีกทั้งควรหาแรงบันดาลใจค่ะ เดิมที่นั้นสิ่งนี้คือตัวผลักดันให้ผู้เขียนอ่านมากขึ้นค่ะ เพราะไปเจอว่าคนสำเร็จหลายๆ คนเขาอ่านหนังสือ ก็เลยคิดว่าฉันต้องทำสิ่งนี้ให้ได้ ก็เลยเป็นคนชอบอ่านมาจนถึงตอนนี้ค่ะ ซึ่งการพัฒนาการอ่านต้องใช้เวลาและการฝึกตัวเอง แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะคุ้มค่าอย่างแน่นอนนะคะทุกคน ยังไงก็ลองนำวิธีข้างต้นไปปรับใช้กันค่ะ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ😁 เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปก โดย Porapak Apichodilok จาก Pexels ภาพประกอบเนื้อหา: ภาพที่ 1 โดยผู้เขียน, ภาพที่ 3 จากแอป Amazon Kindle, ภาพที่ 2 โดย Vincenzo Malagoli จาก Pexels และภาพที่ 4 โดย Dom J จาก Pexels ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา : พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ : สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://news.trueid.net/detail/k0w4YYrBpPR8 https://news.trueid.net/detail/Alyax4Qx7LWl https://news.trueid.net/detail/5L4lKpqdPowL เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !