หมาตำรวจ (ผู้แต่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) เรื่องสั้นเรื่อง หมาตำรวจ เป็นเรื่องสั้นที่แต่งโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นในหนังสือเสาหินแห่งกาลเวลา ซึ่งเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของศิลปินแห่งชาติ 10 ท่าน นับว่าเป็นหนังสือที่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความหลากหลายของกลวิธีการเล่าเรื่อง การใช้ภาษา ของศิลปินแห่งชาติแต่ละท่านภายในหนังสือเล่มเดียว เนื้อเรื่อง ชายคนหนึ่งเสียชีวิตด้วยอาการคล้ายอดข้าวตาย แต่ก็ไม่มีใครยอมรับว่าชายคนนั้นอดข้าวตายเพราะใครอดข้าวตายก็ขัดคำสั่งรัฐบาล เขาจึงต้องกลายเป็นคนที่ตายอย่างลึกลับ ร้อนไปถึงหมาตำรวจที่มาจากกรุงเทพ เพราะตำรวจภูธรจังหวัดพิบูลบุรีก็หาสาเหตุไม่ได้ เมื่อหมาตำรวจมาถึงพร้อมกับนายสิบตำรวจมันก็เข้าไปดมศพจนทั่ว แล้วเห่าขึ้นซึ่งเชื่อมโยงไปถึงบุคคลต่าง ๆ ที่ตอนแรกต่างไม่ยอมรับว่าเกี่ยวข้องกับการตายของผู้ตาย แต่แล้วก็ค่อย ๆ เปิดเผยความจริงออกมา โครงเรื่องของเรื่องสั้น “หมาตำรวจ” ใช้เหตุการณ์เปิดเรื่องด้วยการบรรยายให้รู้จักตัวละครนั่นคือบรรยายให้เห็นสภาพการตายของผู้ตายว่าศพนั้นมีแต่หนังหุ้มกระดูก ท้องป่อง ลืมตาและลึกกลวง ตามด้วยการสร้างปมความขัดแย้งนั่นคือความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับจิตใจจากเรื่องจะเห็นได้ว่าไม่ว่าหมาตำรวจจะดมกลิ่นไปหยุดที่ใคร ผู้นั้นก็จะสารภาพว่าตนเป็นผู้กระทำความผิดแต่ความผิดนั้นก็ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกขัดแย้งเนื่องจากตัวละครที่สารภาพผิดแต่ละตัวมิได้กระทำความผิดโดยตรงต่อการตายของชายผู้นี้ ซึ่งหากมองในความเป็นจริงแล้วอาจจะกล่าวว่าตัวละครแต่ละตัวไม่มีความผิดเลยก็ได้ จึงเกิดความขัดแย้งในจิตใจว่าจริง ๆ แล้วพฤติกรรมของตัวละครที่สารภาพผิดกับการตายของชาย ผู้นี้นั้นผิดจริง ๆ หรือไม่ ต่อด้วยเหตุการณ์วิกฤติในเรื่องนี้คือการที่หมาตำรวจได้ไปหยุดที่ตัวละครแต่ละตัวทำให้ตัวละครต้องสารภาพถึงความผิดของตน เหตุการณ์ไคลแมกซ์ของเรื่องอยู่ที่ความกลัวของนายสิบตำรวจที่กลัวว่าหมาตำรวจจะไปที่ทำเนียบรัฐบาลโดยให้เหตุผลถึงความสามารถความมั่นใจของสุนัขที่จะหมดไปกับการไม่รับสารภาพผิดซึ่งจุดนี้ก็เป็นเหตุการณ์ปิดเรื่องโดยไม่ทราบต่อว่าจริง ๆ แล้วหมาตำรวจได้ไปที่ทำเนียบจริงหรือไม่ และไม่อาจทราบว่าเหตุการณ์ในเรื่องนี้สุดท้ายแล้วคนผิดคือใครเพียงแต่ผู้เขียนต้องการสะท้อนให้เห็นถึงบางสิ่งที่แฝงอยู่ในเรื่องเป็นสำคัญ ซึ่งถือว่าในการวางโครงเรื่องของเรื่องนี้มีความสมจริงแม้จะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นแต่ก็ทำให้อ่านแล้วมีความรู้สึกว่ามีเหตุผล ของเรื่องราวที่ทำให้มีความน่าเชื่อถือ อีกทั้งเรื่องนี้ยังมีความน่าสนใจใคร่ติดตามเพราะค่อย ๆ เปิดเผยตัวละครทีละตัวทำให้ผู้อ่านลุ้นไปด้วยว่าสุดท้ายแล้วใครคือผู้ร้ายในเรื่องนี้ ตัวละครในเรื่องสั้น “หมาตำรวจ” ประกอบไปด้วยตัวละครหลัก ๆ คือ ชายผู้ตาย หมาตำรวจ นายสิบตำรวจ พ่อค้าชื่อฮวด คหบดีชื่อนายเกิด นายอำเภอเมือง ผู้กำกับฯ กองกำกับการตำรวจผู้ว่าราชการจังหวัดพิบูลบุรี และตัวละครซึ่งเป็นตัวละครสรรพนามบุรุษที่ 3 ในเรื่องโดยแทนตัวละครนี้ด้วยคำว่า “ท่าน” ซึ่งหมายถึง ท่านในธรรมเนียบแต่ก็ไม่ได้ระบุชี้ชัดว่าเป็นใคร ตัวละครแต่ละตัวมีลักษณะดังนี้ ชายผู้ตาย เป็นผู้ที่เกิดและตายที่อำเภอเมือง จังหวัดพิบูลบุรี เคยเป็นคนที่มีฐานหลักที่ดี มีไร่นา ขยันขันแข็ง กระทั่งติดการพนันนั่นคือสลากกินแบ่งรัฐบาล ทำให้คิดอยู่แต่เรื่องสลากกินแบ่งนี้ จำนำข้าวของเครื่องใช้และบ้านมาเล่นการพนันจนหมดตัว หมาตำรวจ เป็นหมาที่มีความสามารถในการดมกลิ่นหาตัวผู้ร้ายแต่ในเรื่องนี้ก็ไม่ได้มีความชัดเจนว่าสุนัขตัวนี้หรือหมาตำรวจตัวนี้มีความน่าเชื่อถือเพียงใดเพราะสุดท้ายก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าใครเป็นผู้ร้าย นายสิบตำรวจ เป็นนายสิบตำรวจหนุ่มที่มีหน้าที่ค้นหาตัวผู้ร้ายร่วมกับหมาตำรวจของเขาและเป็นผู้ที่กล่าวถึงตัวละครสำคัญในตอนสุดท้ายเสนอความคิดให้เห็นผู้กระทำความผิดที่สำคัญในเรื่อง นายฮวด คือพ่อค้าร้านขายของชำอยู่ในตลาดเป็นผู้ที่มีลักษณะนิสัยที่ตัดสินคนจากฐานะ แต่ก็รู้จักยอมรับผิด สำนึกได้ภายหลังมองเห็นว่าใครคือผู้มีระคุณต่อตนเองเห็นว่าลูกค้าทุกคนเป็นผู้มีคุณแก่ตน นายเกิดเป็นคหบดี เป็นเจ้ามือสลากกินรวบเป็นผู้ที่รู้จักสำนึกผิดว่าตนเป็นผู้สูบเลือดเนื้อของผู้อื่น นายอำเภอเมือง เป็นผู้ที่รู้ว่าตนเองมีหน้าที่อะไรและมีข้อบกพร่องอย่างไรจึงเชื่อมโยงข้อบกพร่องของตนว่าเป็นสาเหตุให้ชายผู้นี้ต้องตาย ผู้กำกับฯ และผู้ว่าราชการฯ ก็มีลักษณะนิสัยเดียวกับนายอำเภอคือรู้หน้าที่ รู้ว่าตนเองเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่รับผิดชอบหน้าที่ จึงทำให้ผู้อยู่ใต้การปกครองของตนต้องตาย และตัวละครที่ถูกกล่าวถึงในตอนท้ายของเรื่องคือ “ท่าน” ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร หากแต่เป็นตัวละครนี้มีลักษณะต่างจากตัวละครทั้งหมดในเรื่องคือถูกกล่าวถึงว่าจะไม่สารภาพผิด แต่ตัวละครนี้ก็ไม่ได้มีบทบาทมากไปกว่าการถูกกล่าวถึงแต่อย่างใด ผู้เขียนนำเสนอตัวละครทางตรงคือให้ข้อมูลชัดเจนว่าใครเป็นอย่างไรภาพประกอบจาก : https://www.freepik.com ฉากและบรรยากาศในเรื่องใช้ฉากที่เป็นช่วงเวลาร่วมกับฉากที่ทำให้เห็นสภาพการดำเนินชีวิตของตัวละคร จากเรื่องจะเห็นได้ว่าผู้เขียนได้นำเสนอเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีการย้อนช่วงเวลาก่อนที่ตัวละครที่เป็นผู้ตายจะตาย เขาได้ทำอะไร มีพฤติกรรมหรือสภาพการดำเนินชีวิตอย่างไร หรือแม้แต่ละครที่สารภาพผิดทุกตัวก็จะมีการกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของตนที่ต้องทำก่อนหน้านั้นและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการใช้ฉากที่เป็นสิ่งประดิษฐ์เช่น ศาลากลาง โรงตำรวจ ร้านค้า หรือแม้แต่ทำเนียบโดยฉากต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เรื่องราวมีความน่าเชื่อถือเพราะทำให้เรื่องราวดูสมจริงมากขึ้น อีกทั้งฉากก็มีความสำพันธ์กับตัวละครเช่น นายฮวดเป็นพ่อค้าก็กล่าวถึงเหตุการณ์ที่กระทำร่วมกันกับผู้ตายที่ร้านค้า หรือหมาตำรวจดมกลิ่นไปถึงผู้กำกับฯ ก็ไปถึงโรงตำรวจ เป็นต้น ผู้แต่งได้นำเสนอแก่นเรื่องโดยนำเสนอผ่านการบอกเล่าโดยตรงของผู้เขียนและนำเสนอผ่านการกระทำของตัวละคร การบอกเล่าโดยตรงคือผู้เขียนเป็นผู้เล่าเหตุการณ์โดยมิได้มีตัวตนปรากฏอยู่ในเรื่องและนำเสนอผ่านการกระทำของตัวละครโดยให้ตัวละครแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ในเรื่องคือ การพูดถึงสิ่งที่ตัวละครกระทำในสถานการณ์ที่แตกต่างกันแต่กล่าวเชื่อมโยงถึงเรื่องเดียวกัน ทำให้ผู้อ่านตีความและเห็นความคิดที่เป็นแก่นเรื่องว่าเรื่อง “หมาตำรวจ” ต้องการสื่อถึงความเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบกันของคนหรือตัวละครในลักษณะต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพนักงานของรัฐที่แสดงให้เห็นผ่านตัวละครหลาย ๆ ตัวที่เหมือนกันนั่นคือการละเลยหน้าที่และมุ่งแต่จะหาประโยชน์เข้าตนโดยไม่สนใจบทบาทหน้าที่หลัก อีกทั้งยังได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงของสังคมอีกด้านหนึ่งคือในสังคมไม่มีผู้ใดที่ไม่เคยกระทำความผิดแต่จะมีบุคคลที่กระทำความผิดสองประเภทคือ ประเภทแรกผู้ที่กระทำความผิดแล้วยอมรับผิดกับประเภทที่สองคือผู้ที่กระทำความผิดแต่ไม่ยอมรับผิด และสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้ตายในขณะที่มีชีวิตอยู่ว่าแม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีฐานะดี ขยันขันแข็ง แต่หากถูกการพนันครอบงำก็ทำให้สิ้นเนื้อประดาตัวได้เช่นกันภาพประกอบจาก : https://www.freepik.com คุณค่าที่ปรากฏในเรื่องนอกจากคุณค่าด้านสังคมที่สะท้อนผ่านแก่นเรื่องข้างต้นแล้ว เรื่องนี้ยังมีคุณค่าในด้านของกลวิธีในการใช้ภาษาโดยผู้เขียนได้ใช้ภาษาระดับกึ่งทางการในการดำเนินเรื่องเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายและส่วนใหญ่เป็นการสนทนาของตัวละคร มีบางคำที่ใช้ภาษาที่อาจจะต้องแปลบ้างเนื่องจากเป็นภาษาที่ไม่นิยมใช้ในยุคปัจจุบัน เช่น สลากกินรวบ คนปัจจุบันจะรู้จักเฉพาะภาษาปากที่เรียกว่า หวยใต้ดิน นอกจากนี้ยังมีคุณค่าในด้านของศีลธรรมดังจะเห็นได้จากการรู้จักสำนึกผิดชอบชั่วดีและบทบาทหน้าที่ของตน อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่ให้คุณค่าในด้านของความรู้เช่น ลักษณะของหมาตำรวจ ความรู้ในเรื่องของหน้าที่ของแต่ละบทบาทอาชีพ ความรู้สึกที่มีต่อการอ่าน การอ่านเรื่องสั้นเรื่องหมาตำรวจทำให้รู้สึกหดหู่ใจ และสัมผัสได้ถึงความเห็นแก่ตัวของคนในสังคมที่ต่างก็ปัดความรับผิดชอบกันไปต่าง ๆ นานา เรื่องนี้จึงเหมาะกับการนำไปเป็นตัวอย่างที่จะสอนในเรื่องของบทบาท สิทธิหน้าที่ ความรับผิดชอบในสังคม สำหรับผู้เขียนแล้วหากคะแนนเต็ม 10 ให้ 8 คะแนนค่ะ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว ภาพประกอบที่ไม่ได้ใส่ที่มา ทั้งหมดโดย ผู้เขียน