ช่วงนี้ก็เข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่ในวันที่ 2 มี.ค. 2565 ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งหน้าร้อนก็เป็นช่วงฤดูที่หลายๆ คนอาจจะไม่ค่อยชอบกันเท่าไหร่ เพราะความที่อากาศมันร้อนจนรู้สึกไม่สบายตัว และอาจจะรู้สึกเหนียวเหนอะหนะด้วยถ้าอยู่ในจังหวัดที่ใกล้ทะเล แต่ถึงแม้ฤดูนี้จะมันจะร้อนแบบนี้ แต่ก็ยังแฝงไปด้วยเกร็ดความรู้สนุกๆ ด้วยเช่นกันครับ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า1. สถิติอากาศร้อนที่สุดในโลกและในประเทศไทยภูเขาทราย Mesquite Flats ที่ Death Valley, California, USA ที่มา: Tuxyso จาก Wikipediaสำหรับอุณหภูมิสูงที่สุดที่เคยมีบันทึกมาในโลกนี้ถูกวัดได้ที่ Death Valley ซึ่งเป็นทะเลทรายที่อยู่ใน Furnace Creek Ranch รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยอุณหภูมิที่วัดได้นั้นสูงถึง 56.7 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว โดยวัดได้ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 (ค.ศ. 1913) โดยอุณหภูมินี้ก็ยังเป็นตัวเลขอุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึกมาได้บนโลกใบนี้จนถึง ณ ตอนนี้แล้วอุณหภูมิสูงสุดในประเทศไทยล่ะ? แน่นอนว่าต้องมีบันทึกอยู่แล้วสำหรับอุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึกในประเทศไทย โดยถูกวัดได้ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน โดยอุณหภูมิที่วัดได้สูงถึง 44.6 องศาเซลเซียส โดยวัดได้ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559 เห็นตัวเลขแล้วรู้สึกแทบอยากจะกระโดดลงสระน้ำกันเลยทีเดียว2. จริงๆ แล้วฤดูร้อนเป็นส่วนหนึ่งของฤดูแล้งที่มา: ที่มา: Seaq68 จาก pixapayคำว่าฤดูแล้ง คุณผู้อ่านหลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินผ่านหูมาบ่อยๆ แต่ก็อาจจะสงสัยว่ามันอยู่ในฤดูทั้ง 3 ฤดูที่เรารู้จักกันรึเปล่า จริงๆ แล้วฤดูแล้ง หรือหน้าแล้ง เป็นชื่อเรียกฤดูที่มีฝนตกสะสมต่อเดือนน้อย ซึ่งไม่รวมอยู่ใน 3 ฤดูที่เราคุณเคยกัน แต่เป็นชื่อเรียกฤดูที่อิงตามปริมาณฝน โดยแบ่งได้เป็น 2 ฤดู คือ ฤดูแล้งกับฤดูฝน โดยฤดูแล้งนี้นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม รวมเป็นเวลา 6 เดือน แต่เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่างกันในช่วงต้นฤดูกับช่วงปลายฤดู จึงสามารถแบ่งย่อยฤดูแล้งออกได้อีก 2 ฤดู คือ ฤดูหนาว กับฤดูร้อน เหมือนที่เราคุ้นเคยกันโดยฤดูหนาวเป็นช่วงที่มวลอากาศเย็น หรือความกดอากาศสูงจากทางประเทศจีนแผ่เข้ามาปกคลุมทางตอนบนของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้อากาศหนาวเย็นลง โดยเริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนฤดูร้อน ก็จะเริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาปกคลุมน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังไม่มีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดมา จึงทำให้อากาศในช่วงนี้อุ่นขึ้น และอากาศมักจะนิ่ง ไม่ระบาย จึงทำให้มีการสะสมความร้อนขึ้น จึงทำให้อากาศในช่วงนี้ร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป แต่บางครั้งก็มีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาบ้าง ซึ่งเมื่ออากาศเย็นมาเจอกับอากาศร้อนในพื้นที่ จึงทำให้เกิดพายุฤดูร้อนขึ้นมาได้ ซึ่งเรามักจะได้ยินข่าวฤดูร้อนกันในช่วงนี้ ซึ่งหลังจากผ่านฤดูร้อนไปแล้ว ก็จะเข้าสู่หน้าฝน หรือฤดูฝนที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง โดยฤดูฝนเองก็กินเวลา 6 เดือนเช่นกัน3. ภาคใต้มีแค่ 2 ฤดูนะที่มา: Michelle_Raponi จาก pixapayฮั่นแน่! หลายคนที่ไม่ได้เป็นคนใต้อาจจะแปลกใจว่าภาคใต้มีแค่ 2 ฤดูเองเหรอ แล้วฤดูอะไรหายไปล่ะ คำตอบก็คือ ภาคใต้มีฤดูฝนกับฤดูร้อน ส่วนฤดูที่หายไปจากภาคใต้นั้นก็คือฤดูหนาวนั่นเอง เนื่องจากภาคใต้อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมาก จึงได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณมากพอๆ กันตลอดทั้งปี อีกทั้งมวลอากาศเย็นก็แผ่เข้ามาไม่ถึง หรือถ้าถึงก็มักถึงแค่ภาคใต้ตอนบนเท่านั้น นอกจากนี้ การที่ภาคใต้ติดทะเลทั้งสองฝั่ง จึงทำให้ได้รับความชื้นสูงแทบทั้งปี จึงทำให้ไม่มีฤดูแล้งไปด้วย และภาคใต้ทั้งสองฝั่งก็มีช่วงฤดูร้อนที่ต่างกัน คือ ฝั่งอันดามันนั้นมีเริ่มหน้าร้อนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน แต่ฝั่งอ่าวไทยจะเริ่มตั้งแต่พฤษภาคมถึงกันยายน ซึ่งฤดูร้อนทางภาคใต้เป็นช่วงที่ไม่มีลมมรสุมเข้ามาปกคลุม ทำให้ฝนตกน้อย จึงเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก4. ทำไมพายุฤดูร้อนคืออะไร และทำไมถึงเกิดแค่ในหน้าร้อนกันนะ?ที่มา: FelixMittermeier จาก pixapayพายุฤดูร้อนก็คือพายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดในช่วงหน้าร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนโดยทั่วไป แล้วเผอิญว่ามีคลื่นกระแสลมตะวันตกจากทางพม่าหรือมวลอากาศเย็นจากจีนแผ่เข้ามาในช่วงอากาศร้อนๆ แบบนี้ เนื่องจากความต่างของอุณหภูมิ จึงทำให้สภาพอากาศบริเวณนั้นปั่นป่วนอย่างรวดเร็วและฉับพลัน จนก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองตามมา และการที่อากาศร้อนเกิดการยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในระหว่างที่เกิดความปั่นป่วน จึงทำให้อากาศเย็นรอบข้างไหลเข้ามาแทนที่ อย่างรวดเร็วเช่นกัน จนทำให้เกิดเป็นลมกระโชกแรงขึ้น และมีฟ้าแลบฟ้าผ่า ฝนตกหนัก รวมทั้งมีลูกเห็บตกด้วยในบางครั้ง โดยพายุฤดูร้อนนี้เกิดขึ้นไม่นาน คือประมาณ 2 ชั่วโมง และเกิดขึ้นในพื้นที่แคบๆ ประมาณ 10-20 ตร.กม. ซึ่งพายุฤดูร้อนนี้ถ้าระหว่างที่เกิดมีลมกระโชกที่รุนแรงก็สามารถก่อให้เกิดความเสียหายได้ ดังที่เราได้เห็นในข่าวเป็นประจำในช่วงนี้ ส่วนฤดูอื่นก็อาจจะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองได้เช่นกัน แต่อาจจะไม่รุนแรงเท่าที่เกิดในช่วงหน้าร้อนหรือถ้าเกิดรุนแรงก็น้อยเพราะความต่างของอุณหภูมิของมวลอากาศในพื้นที่มีน้อยกว่าในหน้าร้อน เว้นแต่ว่าจะเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่มักจะเกิดในหน้าฝน อันนั้นก็รุนแรงใช่เล่นเช่นกันจบกันไปแล้วครับ สำหรับเกร็ดความรู้สนุกๆ เกี่ยวกับอากาศร้อนๆ ในช่วงนี้ ก่อนจากกันไปก็ขอให้คุณผู้อ่านรักษาสุขภาพกันในช่วงนี้ด้วยนะครับ เพราะอากาศร้อนๆ ช่วงนี้ก็อาจจะทำให้เกิดลมแดดหรือ heat stroke กันได้ง่ายๆ และอย่าลืมดื่มน้ำมากๆ และออกแดดเท่าที่จำเป็นนะครับภาพปกโดย geralt จาก pixapayเอกสารอ้างอิง1. Arizona State University. (n.d.). World: Highest temperature. World Meteorological Organization's World Weather & Climate Extremes Archive. from https://wmo.asu.edu/content/world-highest-temperature2. ศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา. (ม.ม.ป.). สถิติอุณหภูมิสูงที่สุดในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2494-2561. กรมอุตุนิยมวิทยา. สืบค้นจาก https://www.tmd.go.th/programs/uploads/tempstat/max_stat_latest.pdf3. อุตุนิยมวิทยา. (ม.ม.ป.). ฤดูกาล,ฤดูกาลของโลก,ฤดูกาลของประเทศไทย. กรมอุตุนิยมวิทยา. สืบค้นจาก https://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=234. TourismThailand. (2020). คำถามที่พบบ่อย. Amazing Thailand. สืบค้นจาก https://thai.tourismthailand.org/Articles/วางแผนเที่ยว-คำถามที่พบบ่อย5. อุตุนิยมวิทยา. (ม.ม.ป.). พายุฝนฟ้าคะนอง (ThunderStorm). กรมอุตุนิยมวิทยา. สืบค้นจาก https://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=746. ศศลักษณ์ มูลรินต๊ะ. (2563). เสนอคำศัพท์ว่า พายุฤดูร้อน (Thunderstorms). องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. สืบค้นจาก https://www.nsm.or.th/other-service/669-online-science/knowledge-inventory/sci-vocabulary/sci-vocabulary-science-museum/4406-thunderstorms.htmlอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ อีกมากมาย โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !