รีเซต

ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำฯ บึงหนองบัว สร้างแหล่งอาหาร-รายได้ ต้นแบบบริหารแหล่งน้ำชุม

ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำฯ บึงหนองบัว สร้างแหล่งอาหาร-รายได้ ต้นแบบบริหารแหล่งน้ำชุม
มติชน
6 สิงหาคม 2563 ( 18:30 )
64
ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำฯ บึงหนองบัว สร้างแหล่งอาหาร-รายได้ ต้นแบบบริหารแหล่งน้ำชุม

ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำ – ประมงลำปางโชว์ผลงานธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมบึงหนองบัว ต่อยอดการสร้างแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ ต้นแบบของการบริหารแหล่งน้ำชุมชน

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเสรี เรือนหล้า ประมงจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย ดร.มาลาศรี คำศรี หัวหน้ากลุ่มวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชุมชน กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง ได้ลงพื้นที่บึงหนองบัว หมู่ 4 ต.บ้านโป่ง อ.งาว จ.ลำปาง เพื่อแนะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ในโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม และร่วมรับฟังแนวทางการบริหารงาน และปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น จากนางรัชชประภา คำผัด ผู้ใหญ่บ้าน ประธานโครงการ

นายเสรี เปิดเผยว่า โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม เป็นโครงการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนให้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชุมชน ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารสัตว์น้ำให้เพียงพอต่อการบริโภคของชุมชน และสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรในชุมชน โดยในพื้นที่หมู่ที่ 4 ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยสำนักงานประมงจังหวัดได้สนับสนุนองค์ความรู้ และปัจจัยการผลิตต่างๆ พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลดำเนินการที่บึงหนองบัว หมู่ 4 ในวันนี้ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการ โดยทำกิจกรรมต่างๆ จนประสบความสำเร็จ มีเจ้าหน้าที่กรมประมงคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ไม่ว่าการเลี้ยงพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ปลาเพื่อเพาะพันธุ์ปลานิล เลี้ยงปลาดุกในกระชังเพื่อจำหน่าย รวมถึง การแปรรูปสัตว์น้ำ เช่น การทำปลาส้มฟัก และปลาส้มชิ้นจากปลาจีน

“นอกจากนี้ บึงหนองบัว ยังจัดให้มีกิจกรรมการตกปลาในช่วงวันหยุด โดยมีค่าใช้จ่ายคันเบ็ดละ 50 บาท ซึ่งมีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก เงินรายได้จะถูกนำไปหมุนเวียนในระบบธนาคาร ซึ่งปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนกว่า 120,000 บาท และเตรียมปันผล คืนแก่สมาชิก” นายเสรี กล่าว

นายเสรีกล่าวต่อว่า ดังนั้น ถือได้ว่าโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมบึงหนองบัว เป็นต้นแบบของการบริหารแหล่งน้ำชุมชน ด้วยความร่วมมือของคนในชุมชน เพื่อการพัฒนาให้เป็นแหล่งอาหาร สร้างรายได้ และสร้างความยั่งยืนให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน