เดือนนี้หลายคนพอได้รับบิลค่าไฟต่างตกตะลึงกับยอดที่พุ่งสูงขึ้น จริง ๆ แล้วมีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟสูงขึ้น โดยเฉพาะสภาพอากาศที่เข้าสู่หน้าร้อนและเริ่มอากาศร้อนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม จนมาถึงเมษายน บวกกับสถานการณ์ลดการแพร่ระบาดของไวรัส ให้อยู่บ้าน Work from Home ไม่ควรออกไปไหน ทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ทั้งกิน นอน ทำงาน มีผลทำให้ค่าไฟสูงขึ้นตาม ทั้งเปิดแอร์ พัดลม ตู้เย็น ทีวี ไมโครเวฟ ที่มากขึ้นกว่าเดิมทั้งวันทั้งคืนเลยก็ว่าได้ ลองมาหาวิธี "Work from Home" อย่างไรค่าไฟไม่พุ่ง ควรต้องทำอย่างไรกันนะ ส่วนตัวจะแชร์เทคนิคของตัวเอง ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ โดยการกลับมาเปรียบเทียบยอดหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้น แล้วมาหาที่ต้นเหตุจริง ๆ อย่างการอยู่บ้านทั้งวัน สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือเรื่องของไฟที่จะต้องเปิด-ปิด ให้เหมาะสมตามนี้เลยค่ะ 1. เปิดดวงไฟตรงบริเวณที่จะใช้งาน เช่นมุมโต๊ะทำงาน ส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีใครอยู่หรือใช้งาน ก็ควรปิด 2. การเปิดจอคอมพิวเตอร์เพื่อทำงาน ให้ทำเสมือนเราอยู่ออฟฟิศเลยค่ะ กรณีพักหน้าจอให้ใช้โหมดพักหน้าจอ Sleep จะได้ไม่เปลืองไฟ 3. หันมาเปิดพัดลม ตรงจุดที่ทำงานแทนการเปิดแอร์ทั้งตัวในห้อง ที่มีคนอยู่เพียงแค่ 1-2 คน ประหยัดพลังงานและยังช่วยโลกได้อีกทางค่ะ 4. กรณีดูหนัง ซีรีย์ ไม่ควรเปิดทีวีทิ้งไว้ทั้งคืน จนเผลอหลับไป จะทำให้สิ้นเปลืองไฟไปโดยไม่จำเป็นค่ะ 5. อยู่บ้านทั้งวัน ก็อาจจะมีบ้างที่เปิดตู้เย็นบ่อย ๆ หันมาเตือนตัวเองให้เปิดเท่าที่จำเป็นจริง ๆ 6. เปิดแอร์เฉพาะเวลานอนเท่านั้น โดยการทำให้อากาศภายในห้องคลายความร้อนก่อนเปิดแอร์ เพียงแค่เปิดพัดลมให้หันออกไปทางนอกหน้าต่าง เพื่อดูดอากาศภายในให้ถ่ายเท ก่อนเปิดแอร์สัก 30 นาที จึงค่อยเปิดแอร์ที่ 26-27 องศา ยังคงใช้พัดลมเปิดควบคู่กับแอร์ก่อน พอภายในห้องเริ่มมีความเย็น จึงค่อยปิดพัดลม จะช่วยให้แอร์ไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป แถมยังได้ความเย็นที่เร็วขึ้นอีกด้วย เพียงเท่านี้ บิลค่าไฟในเดือนถัดไป ยอดก็จะไม่พุ่งจนทำให้ตกใจ แม้จะยังคงเพิ่มขึ้นแต่ในอัตราที่เข้าใจได้สมเหตุผลนั่นเองตามตัวอย่างบิลค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ ใช้ไป 245 หน่วย ค่าไฟฟ้ารวมค่าบริการ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ยอดจ่าย 922.41 บาท บิลค่าไฟฟ้าเดือนมีนาคม ใช้ไป 316 หน่วย ค่าไฟฟ้ารวมค่าบริการ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ยอดจ่าย 1,272.91 บาท จะเห็นว่า ค่าไฟมีหน่วยการใช้ที่มากขึ้น จึงทำให้ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นตาม ในอัตราที่เข้าใจได้ สำหรับบ้านพักอยู่อาศัย 2 ชั้น อยู่กัน 2 คน เลยไม่ได้ติดใจอะไรกันบิลของการไฟฟ้า เหมือนที่หลาย ๆ คนประสบปัญหากัน ส่วนอัตราการคิดค่าพลังงานไฟสำหรับบ้านอยู่อาศัย ทางการไฟฟ้าได้กำหนดรายละเอียดไว้ดังนี้ค่ะ - ใช้ 150 หน่วยแรก ( 1-150 หน่วย ) หน่วยละ 2.7628 บาท - ใช้ 250 หน่วยต่อมา ( 151-400 หน่วย ) หน่วยละ 3.7362 บาท - ใช้เกินกว่า 400 หน่วยต่อมา ( 401 หน่วยขึ้นไป ) หน่วยละ 3.931 บาท - ค่าบริการต่อเดือนรวม 38.22 บาท จากการคิดค่าไฟตาม คิดได้ไม่เท่ากับการไฟฟ้า ยังมีส่วนต่างเกินอยู่แต่ด้วยยอดไม่มากนักร้อยกว่าบาท เลยคิดว่าถ้าสถานการณ์ดีขึ้น ช่องทางการติดต่อผ่านการไฟฟ้าได้สะดวกกว่านี้ ค่อยโทรไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ https://www.mea.or.th/ เครดิตภาพประกอบจากผู้เขียน - มุ๊ยติ๋น