รีเซต

เงินเฟ้อขยับแตะ6% ความเชื่อมั่นนิ่ง-ห่วงพ่นพิษ‘ศก.’

เงินเฟ้อขยับแตะ6% ความเชื่อมั่นนิ่ง-ห่วงพ่นพิษ‘ศก.’
มติชน
6 สิงหาคม 2565 ( 12:05 )
93

หมายเหตุ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) เดือนกรกฎาคม 2565 พร้อมปรับประมาณการเงินเฟ้อทั้งปี 2565 ใหม่เป็น 6% สะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อเหมือนประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกรกฎาคม 2565 เท่ากับ 107.41 เมื่อเทียบเดือนกรกฎาคม 2564 สูงขึ้น 7.61% และเทียบกับเดือนมิถุนายน 2565 ลดลง 0.16% เป็นการลดลงจากเดือนก่อนหน้าเป็นครั้งแรกในรอบปี 2565 ที่เดือนมิถุนายนปีนี้สูงขึ้น 7.66% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงานออก) เดือนกรกฎาคม 2565 เท่ากับ 103.50 สูงขึ้น 0.50% จากเดือนมิถุนายนปีนี้ และสูงขึ้น 2.99% เทียบเดือนกรกฎาคมปีก่อน ทำให้เฉลี่ย 7 เดือนแรกปี 2565 เงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 5.89% ผลจากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.27% เฉพาะกลุ่มอาหารสดสูงขึ้น 4.70% หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 6.32% เฉพาะกลุ่มพลังงานสูงขึ้น 30.37% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน 7 เดือนแรกปีนี้สูงขึ้น 2.01%

สำหรับเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2565 สูงขึ้น 7.61% นั้น มาจากสินค้ากลุ่มพลังงาน เป็นสาเหตุหลักต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นต้นทุนในทุกขั้นตอนการผลิตและโลจิสติกส์ของสินค้าและบริการ ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญสูงขึ้น นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคม 2565 เป็นผลของการคำนวณจากฐานดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้เงินเฟ้อขยายตัว กลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคา 33.82% ส่งผลให้พลังงานมีสัดส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมถึง 52.57% แม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงบางชนิด (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน) ในเดือนกรกฎาคม 2565 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีนี้ แต่ต้นทุนการผลิตและการขนส่งยังสูง เนื่องจากราคาก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล ยังคงอยู่ในระดับสูง

ขณะที่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีอัตราการเติบโตของราคา 8.02% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อาทิ ไก่สด พริกสด ต้นหอม เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม รวมถึงน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการขนส่ง ประกอบกับความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักและผลไม้บางชนิด (ถั่วฝักยาว มะนาว ขิง ผักคะน้า กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ลองกอง)
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนนี้เทียบกับเดือนที่ผ่านมา ลดลง 0.16% จากเดือนก่อน เป็นการปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าครั้งแรกในรอบปี 2565 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำมันพืช และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดบางชนิด (น้ำยารีดผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ)

ในส่วน ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกรกฎาคม 2565 สูงขึ้น 12.2% ปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า ตามต้นทุนการผลิต ทั้งราคาพลังงานและวัตถุดิบ ต้นทุนการนำเข้าจากการอ่อนค่าของเงินบาท และความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้น 6.3% เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และเงินบาทอ่อนค่า ประกอบกับการใช้วัสดุก่อสร้างในโครงการก่อสร้างภาครัฐเป็นไปตามแผน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม (ซีซีไอ) ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 45.5 จากระดับ 44.3 ในเดือนก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและใน 3 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้เป็นผลจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การเปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง ขณะที่ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน และมาตรการของภาครัฐ เป็นปัจจัยลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

จากปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง สนค.จึงได้ปรับเพิ่มประมาณการดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) ปี 2565 จากเดือนมีนาคมประมาณการกรอบ 4-5% ค่ากลาง 4.5% ขึ้นเป็นกรอบ 5.5-6.5% ค่ากลาง 6% บนสมมุติฐานอัตราขยายตัวของจีดีพี 2.5-3.5% ราคาน้ำมันดิบ (ดูไบ) 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ค่าเงินบาท 33.5-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ การปรับประมาณการเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เนื่องจากราคาพลังงาน น้ำมัน ก๊าซ สูงขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันมีน้ำหนักในการคำนวณเงินเฟ้อถึง 52.57% และมีผลต่อต้นทุนและราคาสินค้า อีกทั้งมีผลความผันผวนของปัจจัยภายนอกที่อาจมีผลต่อราคาพลังงานสูงต่อไป เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนค่าไฟฟ้าเป็นน้ำหนักในคำนวณเงินเฟ้อ 3.85% ก็กำลังติดตามว่าจะปรับเท่าไหร่และมีผลต่อเงินเฟ้อเท่าไหร่ โดยแนวโน้ม 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ ยังมีโอกาสที่เงินเฟ้อยังสูง แต่ในอัตราเพิ่มหรือลดลง ต้องอยู่ที่ปัจจัยภายนอกและค่าน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคมปีนี้เงินเฟ้อขยายตัวในอัตราลดลงครั้งแรกในรอบปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับหน่วยงานต่างๆ ยังใกล้เคียง อาทิ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประมาณการณ์เงินเฟ้อทั้งปีนี้ ที่ 4.2-5.2% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการที่ 6.5% คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ประมาณการไว้ 5-7% เป็นต้น

ลงลึกในรายละเอียด พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกรกฎาคมที่สูงขึ้นจากการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าสำคัญ ดังนี้ 1.หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่สูงขึ้น 8.02% ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์
เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 13.68% (ไก่สด ปลาช่อน) กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 4.34% (ไข่ไก่ ไข่เป็ด) กลุ่มผักสด สูงขึ้น 8.80% (พริกสด ต้นหอม) กลุ่มผลไม้สด สูงขึ้น 0.71% (แตงโม ส้มเขียวหวาน มะละกอ) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 11.58% (น้ำมันพืช กะปิ) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 2.73% (กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำปั่นผลไม้/ผัก) กลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน สูงขึ้น 8.71% (กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง/ข้าวกล่อง) กลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้าน สูงขึ้น 8.43% (อาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)) ขณะที่ กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 1.40% (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว)

2.หมวดสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 7.35% ได้แก่ หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้น 10.23% (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ) หมวดเคหสถาน สูงขึ้น 8.42% (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ก๊าซหุงต้ม) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 2.35% (บุหรี่ เบียร์ สุรา) หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.92% (ค่าทำฟัน ยาสีฟัน สบู่ถูตัว) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้น 0.31% (เครื่องถวายพระ อาหารสัตว์เลี้ยง) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้น 0.10% (เสื้อยกทรง กางเกงขายาวสตรี)

ขณะที่ กลุ่มการสื่อสาร ลดลง 0.08% (ค่าส่งพัสดุไปรษณีย์ เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) เมื่อลงลึกในรายละเอียดดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกรกฎาคม 2565 ที่สูงขึ้น 12.2% ปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า ตามต้นทุนการผลิต ทั้งราคาพลังงาน วัตถุดิบจากเงินบาทอ่อนค่า และความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้น 61.5% หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้น 10.5% และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้น 10.8% โดยราคาสินค้าที่เคลื่อนไหว ดังนี้ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้น 61.5% (ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ แร่โลหะ (แร่สังกะสี ดีบุก เหล็ก วุลแฟรม) หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้น 10.5% ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการ
กลั่นปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ยางมะตอย) กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร (ไก่สด มันเส้น น้ำมันปาล์มดิบ ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำสับปะรด น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์) กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี (เม็ดพลาสติก โซดาไฟ ปุ๋ยเคมีผสม) กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ (อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์)) กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ (ทองคำ) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น บรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ ท่อและข้อต่อพลาสติก) กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ (รถยนต์นั่ง รถบรรทุก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับรถยนต์) กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ (เครื่องเก็บเกี่ยว) กลุ่มสิ่งทอ (สิ่งทอจากฝ้าย (ด้าย/ผ้า) สิ่งทอจากใยสังเคราะห์ (เส้นใย/ด้าย/ผ้า/ผ้าดิบ) กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษคราฟต์ เยื่อกระดาษ กล่องกระดาษ) กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ (ปูนเม็ด เสาเข็มคอนกรีต ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน (เหล็กแผ่น ลวดแรงดึงสูง เหล็กฉาก เหล็กเส้น ลวดเหล็ก) กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ (ประตูเหล็ก กระป๋อง กุญแจ ตะปู/สกรู/นอต) กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (กางเกงบุรุษและสตรี เสื้อยืด) กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ (เครื่องเรือนทำด้วยไม้ ที่นอน) ส่วน หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้น 10.8% ได้แก่ กลุ่มพืชล้มลุก (ข้าวเปลือกเจ้า หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) กลุ่มพืชผัก (ต้นหอม หน่อไม้ฝรั่ง ผักกวางตุ้ง กะหล่ำดอก ผักบุ้ง ผักขึ้นฉ่าย) กลุ่มไม้ยืนต้น (ยางพารา ผลปาล์มสด) กลุ่มสัตว์ (สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด) กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง (หมึกกล้วย กุ้งแวนนาไม ปูม้า ปลาทรายแดง ปลาลัง ปลากะพง หอยนางรม หอยแมลงภู่) ขณะที่ สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ทุเรียน กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า ลำไย ลองกอง

ดัชนีราคาผู้ผลิตเทียบกับเดือนมิถุนายน 2565 ลดลง 1.3% และเฉลี่ย 7 เดือนแรกปี 2565 สูงขึ้น 11.7% โดย ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนกรกฎาคม 2565 สูงขึ้น 6.3% ปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้น 9.1% ตามด้วยหมวดซีเมนต์ สูงขึ้น 7.7% และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้น 7.2% ตามลำดับ ราคาสินค้า ดังนี้หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้น 9.1% (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ชีทไพล์เหล็ก ลวดผูกเหล็ก) หมวดซีเมนต์ สูงขึ้น 7.7% (ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป)

หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้น 7.2% (อิฐ หิน ดิน ทราย อะลูมิเนียม ยางมะตอย) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้น 5.5% (ชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีต คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา) หมวดกระเบื้อง สูงขึ้น 4.6% (กระเบื้องแกรนิต บัวเชิงผนัง PVC ครอบสันโค้ง) หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้น 4.4% (แผ่นไม้อัด ไม้แบบ ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้พื้น ไม้ฝา) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้น 3.3% (ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC ประตูน้ำ) หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้น 1.3% (สีรองพื้นโลหะ ซิลิโคน สีเคลือบน้ำมัน) หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้น 0.4% (ที่ใส่กระดาษชำระ ราวแขวนผ้าติดผนัง อ่างล้างหน้าเซรามิก ฝักบัวอาบน้ำ กระจกเงา)

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนกรกฎาคม 2565 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.5 จากระดับ 44.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 34.4 มาอยู่ที่ระดับ 36.0 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.9 มาอยู่ที่ระดับ 51.9 ซึ่งอยู่ในช่วงมีความเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ทั้งนี้ เป็นผลจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การเปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง ขณะที่ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน และมาตรการของภาครัฐ เป็นปัจจัยลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ด้านเศรษฐกิจไทย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็น 40.21% ตามด้วยด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็น 15.25% ด้านมาตรการของภาครัฐ 10.65% ด้านเศรษฐกิจโลก 9.88 % ด้านภัยพิบัติ/โรคระบาด 8.74% ด้านราคาสินค้าเกษตร 6.53% ด้านการเมือง 4.49% ด้านสังคม/ความมั่นคง 3.82% ด้านอื่นๆ 0.43%

กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นดีขึ้น มองว่าเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นลดลง เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการของรัฐ เป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายภาคพบว่า เกือบทุกภูมิภาคกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มขึ้นจาก 46.8 มาอยู่ที่ 47.4 ภาคใต้ เพิ่มจาก 44.2 มาอยู่ที่ 46.6 ภาคกลาง เพิ่มจาก 43.5 มาอยู่ที่ 44.8 ภาคเหนือ เพิ่มจาก 42.1 มาอยู่ที่ 43.4 ขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ลดลงจาก 44.2 มาอยู่ที่ 43.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกอาชีพพบว่า ปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกอาชีพ โดยกลุ่มพนักงานของรัฐ เพิ่มจาก 49.3 มาอยู่ที่ 51.6

กลุ่มเกษตรกร เพิ่มจาก 45.4 มาอยู่ที่ 46.4 กลุ่มผู้ประกอบการ เพิ่มจาก 44.8 มาอยู่ที่ 46.0 กลุ่มพนักงานเอกชน เพิ่มจาก 42.2 มาอยู่ที่ 43.7 กลุ่มรับจ้างอิสระ เพิ่มจาก 42.8 มาอยู่ที่ 43.3

กลุ่มนักศึกษา เพิ่มจาก 43.4 มาอยู่ที่ 45.5 ขณะที่กลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ ลดลงจาก 41.4 มาอยู่ที่ 40.3 เมื่อพิจารณาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 41.8 มาอยู่ 46.7