รีเซต

กรรมาธิการข่าวกรองฯ อังกฤษ ชี้รัฐบาลเลี่ยงตรวจสอบรัสเซียแทรกแซงการเมือง

กรรมาธิการข่าวกรองฯ อังกฤษ ชี้รัฐบาลเลี่ยงตรวจสอบรัสเซียแทรกแซงการเมือง
ข่าวสด
21 กรกฎาคม 2563 ( 22:21 )
53
กรรมาธิการข่าวกรองฯ อังกฤษ ชี้รัฐบาลเลี่ยงตรวจสอบรัสเซียแทรกแซงการเมือง

 

กรรมาธิการข่าวกรองฯ อังกฤษ ชี้รัฐบาลเลี่ยงตรวจสอบรัสเซียแทรกแซงการเมือง - BBCไทย

คณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองและความมั่นคงของสภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักร (Intelligence and Security Committee - ISC) เปิดเผยรายงานที่ระบุว่าอังกฤษเป็น "เป้าหมายหลัก" ของภัยคุกคามจากรัสเซียที่พยายามเข้าแทรกแซงทางการเมือง พร้อมกล่าวหาว่าที่ผ่านมารัฐบาลอังกฤษพยายามหลบเลี่ยงไม่เข้าตรวจสอบในเรื่องนี้

รายงานของ ISC ระบุว่า การที่รัสเซียเข้าไปมีอิทธิพลในสหราชอาณาจักรได้กลายเป็น "ความปกติใหม่" พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการภัยคุกคามที่เกิดขึ้น "โดยทันที"

นอกจากนี้ ISC ยังระบุว่า รัฐบาลอังกฤษ "พยายามหลีกเลี่ยง" การตรวจสอบว่ารัสเซียได้เข้าไปแทรกแซงในการทำประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) หรือไม่

รายงานว่าอย่างไรบ้าง

รายงานฉบับนี้มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องอิทธิพลของรัสเซียในสหราชอาณาจักร เช่น การเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่บิดเบือน, กลยุทธ์ด้านไซเบอร์ต่าง ๆ รวมถึงเรื่องผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองชาวรัสเซียที่รัฐบาลอังกฤษ "อ้าแขนรับ" ให้เข้ามาอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร แลกกับเงินที่นำเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทประชาสัมพันธ์ และคนเหล่านี้ยังมีสายสัมพันธ์กับสมาชิกสภาขุนนางอีกหลายคน

อย่างไรก็ตามไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่มี "ความละเอียดอ่อนสูง" ในรายงานฉบับนี้เนื่องจากเกรงว่ารัสเซียอาจนำไปใช้คุกคามสหราชอาณาจักรได้

"เผือกร้อน"

รายงานของ ISC ระบุว่า สหราชอาณาจักรตกเป็นเป้าหมายสำคัญของรัสเซียในการปล่อยข้อมูลเท็จในช่วงการเลือกตั้ง แต่ปัญหานี้เป็นเหมือน "เผือกร้อน"ที่ไม่มีหน่วยงานใดอยากเป็นแกนนำในการแก้ปัญหา

นายสจ๊วต โฮซี สมาชิก ISC ระบุว่า ไม่มีใครในรัฐบาลอยากแตะประเด็นนี้ และไม่มีใครทราบว่ารัสเซียได้พยายามเข้าไปแทรกแซงการทำประชามติเบร็กซิทเมื่อปี 2016 หรือไม่ "เพราะพวกเขาไม่อยากรู้" ความจริง

"นี่ช่างแตกต่างกันอย่างมากเมื่อเทียบกับการที่สหรัฐฯ ดำเนินการต่อกรณีที่มีรายงานการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016"

"ควรมีการประเมินเรื่องการแทรกแซงของรัสเซียในการทำประชามติแยกตัวจากอียู และจะต้องมีขึ้นในตอนนี้ โดยที่ประชาชนจะต้องได้รับทราบถึงผลการประเมินนี้"

รายงานของ ISC ระบุว่า มี "แหล่งข้อมูลเปิดที่น่าเชื่อถือ" ที่บ่งชี้ว่ารัสเซียเคยพยายามเข้าแทรกแซงการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ในปี 2014 มาแล้ว

รายงานฉบับนี้ทำเสร็จสมบูรณ์มาเกือบ 1 ปีครึ่งแล้ว แต่เพิ่งจะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้เผยแพร่ต่อประชาชนในวันนี้ ( 21 ก.ค.) ซึ่งนายเควิน โจนส์ หนึ่งในสมาชิก ISC วิจารณ์นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ที่ไม่ยอมลงนามให้เผยแพร่รายงานเร็วกว่านี้ โดยเขาชี้ว่า "ไม่มีเหตุผล" ที่จะชะลอการเผยแพร่ออกไป

ขณะที่รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าพยายามยับยั้งไม่ให้มีการเผยแพร่รายงานฉบับนี้ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา

นายกอร์ดอน โคเรรา ผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงของบีบีซี วิเคราะห์ว่า แม้รายงานฉบับนี้จะไม่ได้ชี้ชัดว่ารัสเซียเข้ามาแทรกแซงเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในประเทศ อย่างการลงประชามติเบร็กซิทหรือไม่อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แต่ก็มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานด้านข่าวกรองของชาติที่ไม่ค่อยอยากเข้าไปเกี่ยวกับประเด็นที่ดูเหมือนเป็น "เรื่องการเมือง" และโยนความรับผิดชอบให้หน่วยงานอื่น ๆ เหมือนกับเผือกร้อน

อย่างไรก็ตาม รายงานมุ่งตำหนิรัฐบาลที่ล้มเหลวในการเผชิญหน้าแก้ไขปัญหาที่รัสเซียเข้าไปแผ่ขยายอิทธิพลด้านการเมืองและการเงินในประเทศตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้มีการบัญญัติกฎหมายใหม่เพื่อจัดการกับความท้าทายนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง