ประชุมรมต.อนุภูมิภาคแม่น้ำโขง 6 ประเทศ'ถาวร เสนเนียม'ขอให้อำนวยสะดวกเศรษฐกิจข้ามพรมแดน
ประชุมรมต.อนุภูมิภาคแม่น้ำโขง 6 ประเทศ’ถาวร เสนเนียม’หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ขอให้ที่ประชุมอำนวยสะดวกเศรษฐกิจข้ามพรมแดน เร่งปรับปรุงระเบียบด่านพรมแดน โลจิสติกส์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเจ้าหน้าที่ไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงานของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง Greater Mekong Subregion (GMS) ครั้งที่ 24 (24th GMS Ministerial Conference) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในหัวข้อ “มุ่งปูทางเพื่อการบูรณาการที่เพิ่มขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อความยั่งยืน และความเจริญมั่งคั่งในอนุภูมิภาค GMSW โดยมี6 ประเทศ ผ่านระบบวิดีโอคอเฟอร์เรนซ์หารือร่วม 7 ฝ่าย ประกอบด้วยประเทศสมาชิก คือ ไทย กัมพูชา จีน สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยมี น.ส.โซว เจียหยี่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สาธารณรัฐประชาชนจีน (น.ส.โซว เจียหยี่) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีได้ร่วมกันให้การรับรองGMS 1) ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 24 (Joint Ministerial Statement) 2) รายงานความก้าวหน้าและการปรับปรุงครั้งที่ 3 กรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565 (RIF 2022: 3rd Progress Report and Update) และ 3) แนวทางการจัดตั้งคณะทำงานด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน (Labor Migration) ใน GMS และร่วมกันให้ความเห็นชอบในหลักการร่างเอกสาร จำนวน 2 ฉบับ เพื่อนำเสนอต่อการประชุมสุดยอดผู้นำ แผนงาน GMS ครั้งที่ 7 (7th GMS Summit) ในเดือนมีนาคม 2564
นายถาวร กล่าวเปิดประชุมว่ารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการประชุมฯ ในนามของรัฐบาลไทยขอขอบคุณรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในฐานะเจ้าภาพการประชุมฯ ธนาคารพัฒนาเอเซีย และประเทศสมาชิก GMS ที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดการประชุมท่ามกลางแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นโอกาสสำคัญในการหารือเพื่อกำหนดทิศทางเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาด ซึ่งตลอดช่วงปีที่ผ่านมาประเทศสมาชิก GMS ได้ดำเนินการอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานตามกรอบการลงทุนของภูมิภาคปี 2565 สำหรับประเทศไทยมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยได้ลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร โครงการรถไฟความเร็วสูง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน วงเงิน 50,633 ล้านบาท เพื่อยกระดับให้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ สิ่งสำคัญอีกประการก็คือขอให้ภาครัฐเห็นความสำคัญในเรื่องการอำนวยความสะดวกกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน โดยเฉพาะเร่งปรับปรุงกฎระเบียบการดำเนินงานด่านพรมแดน และโลจิสติกส์ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความเห็นชอบร่างกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ของแผนงาน GMS ปี 2030 ซึ่งมีการนำเสนอเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และดิจิทัล เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้ง ได้รวบรวมแผนการดำเนินการและมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความสอดประสานกับประเด็นภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทยด้วยแล้ว ในส่วนของแผนฟื้นฟูและลดผลกระทบโรคโควิต-19 ใน GMS ปี 2564-2566 ก็มีความสอดคล้องกับแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการดำเนินงานที่สอดรับกัน ตลอดจนพลังเสริมของผลลัพธ์การพัฒนาทั้งในระดับประเทศและในอนุภูมิภาค GMS และขอสนับสนุนการจัดตั้งคณะทำงานด้านการเคลื่อนย้ายแรงานใน GMS ซึ่งมีความจำเป็นต้องร่วมกันหาแนววิธีปฏิบัติการจัดจ้างแรงงานการเคลื่อนย้ายแรงงาน และการส่งกลับแรงงานที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นการร่วมดำเนินงานเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และลดปัญหาเชิงสังคมเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมายอีกด้วย โดยขอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นตัวกลางการจัดตั้งคณะทำงานฝ่ายไทย มีผู้แทนระดับอธิบดีหรือรองอธิบดีจากกระทรวงแรงงานเป็นหัวหน้าคณะทำงานต่อไป
สำหรับการประชุมครั้งต่อไปกำหนดจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2564 โดยมีประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ