รีเซต

‘บล.หยวนต้า’ มองมาตรการอุ้มตลาดทุนยังไม่ชัดเจน แต่ยังสบายใจหลัง ‘ธปท.’ ออกโรงช่วยเอกชน

‘บล.หยวนต้า’ มองมาตรการอุ้มตลาดทุนยังไม่ชัดเจน แต่ยังสบายใจหลัง ‘ธปท.’ ออกโรงช่วยเอกชน
มติชน
7 เมษายน 2563 ( 09:09 )
62
‘บล.หยวนต้า’ มองมาตรการอุ้มตลาดทุนยังไม่ชัดเจน แต่ยังสบายใจหลัง ‘ธปท.’ ออกโรงช่วยเอกชน

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากการที่ภาครัฐเตรียมออกพ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินวงเงิน 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) หรือมูลค่าประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท โดยมีรายละเอียดในการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกพ.ร.ก.เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ครอบคลุมทั้งเอสเอ็มอี และช่วยส่วนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินด้วย อาทิ ผลิตภัณฑ์ลีสซิ่ง รวมถึงออกพ.ร.ก.ให้ ธปท.สามารถเข้าลงทุนหรือซื้อตราสารหนี้ที่ครบกำหนดเพื่อไปชำระของเดิมได้ โดยผู้ออกต้องเป็นบริษัทคุณภาพดี และต้องระดมทุนจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปเติมเต็มเพื่อให้ตลาดตราสารหนี้ไทย ทำหน้าที่ได้ตามปกติตามเดิม โดยจะทำให้เงินมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.การปล่อยกู้ได้โดยตรงของธปท. ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ธปท.สามารถนำเงินสำรองจำนวนมากที่มีอยู่ มาปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจได้โดยตรง 2.เงินมาจากส่วนการใช้พ.ร.บ.โยกงบจากกระทรวงต่างๆ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะได้มาที่เท่าใด แต่หากสามารถโยกมาได้ 10% อาจได้เม็ดเงินมาประมาณ 3 แสนล้าน ซึ่งก็อาจได้ไม่ถึงที่ประเมินไว้ เพราะบางกระทรวงเหลืองบไม่ถึง 10% และ 3.หากเงินที่เฉลี่ยมาทั้งหมดยังไม่พอ ก็จะออกเป็นพรก.กู้เงินของกระทรวงการคลัง

นายณัฐพลกล่าวว่า หากประเมินตามที่บอกว่าจะกู้เบื้องต้น 10% ของจีดีพี ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของทั่วประเทศที่มีการอีดฉีดเงินเข้าระบบ อาทิ สิงคโปร์ เกาหลี จะอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเฟส 1-2 มาแล้ว ซึ่งใช้เม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนงบของธปท.ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีเท่าใด คงต้องรอให้ธปท.ประเมินอีกครั้ง ซึ่งเงินที่จะโยกได้ยังไม่แน่ใจว่าจะอยู่ที่เท่าใด แต่เชื่อว่ารวม 2 ก้อนนี้น่าจะอยู่ที่กว่า 5 แสนล้านบาท ทำให้หากจำเป็นต้องกู้ คงกู้อีกไม่เยอะ อาจกู้เพิ่ม 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ได้เป็นภาระต่อตัวงบประมาณมากนัก เนื่องจากหนี้ต่อจีดีพีไทยต่ำมากอยู่ที่ 41.5% ซึ่งเราสามารถไปได้ถึง 45-47% เป็นค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา โดยในปี 2557 หนี้ต่อจีดีพีไทยเคยอยู่สูงสุดที่ 47% ส่วนปี 2555 ก็อยู่ที่ 45% ซึ่งวินัยการคลังของไทยสามารถทำได้ที่ 60% ทำให้เรายังสามารถกู้ได้เยอะขึ้น แต่ยังต้องรอดูความชัดเจนของมาตรการทั้งหมดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มีนาคมนี้

“สิ่งที่ทำให้สบายใจได้ในขณะนี้ เป็นการที่ธปท.ออกมาสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการยืนเป็นกำแพงให้ภาคธุรกิจพิงไว้ แม้ยังไม่รู้ว่ากำแพงนี้จะแน่นหรือไม่แน่น เพราะหากกำแพงแน่นภาคธุรกิจก็จะไม่ล้ม ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือในด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการช่วยเหลือในด้านการออกหุ้นกู้ของธุรกิจ โดยประเมินว่าไม่น่าจะมีปัญหาในด้านสภาพคล่องของตราสารหนี้ไทย แต่ในด้านของตลาดทุน ยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการที่จะเข้ามาช่วยเหลือ อาทิ การจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นที่ยังไม่มีความชัดเจน” นายณัฐพลกล่าว

นายณัฐพลกล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือนเมษายนนี้ น่าจะเป็นเดือนที่คาดหวังการฟื้นตัวของดัชนีหุ้นได้ เนื่องจากมีมาตรการทั้งนโยบายการเงินและการคลังเข้ามาช่วยเต็มที่ ทั้งภาคธุรกิจ ป้องกันไม่ให้ล้ม และภาคแรงงาน ป้องกันปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้นตามมา รวมถึงหลายบริษัทจะขึ้นเอ็กซ์ดีในเดือนนี้ และซื้อหุ้นคืน โดยเม็ดเงินที่จะซื้อคืนอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มเข้ามาในตลาดช่วง 6 เดือนข้างหน้า บริษัทใหญ่ๆ อาทิ ซีพีเอฟ ซีพีออลล์ และเอสซีบี ซี่งน่าจะช่วยพยุงการปรับตัวลดลงของตลาดได้ โดยปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราการติดเชื้อแล้วหายในประเทศเร่งตัวขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่า ประสิทธิภาพในแง่สาธารณสุขของไทยดีมาก รวมถึงการติดเชื้อในยุโรป แม้ยังเป็นหลักหมื่นอยู่ แต่ว่าสถานการณ์เริ่มทรงตัวได้ จึงคิดว่าโควิด-19 น่าจะถึงจุดสูงสุดของการติดเชื้อได้ในเดือนนี้ ทั้งในประเทศและทั่วโลก ซึ่งพอถึงจุดสูงสุดแล้วน่าจะคล้ายกับจีนคือ ทรงตัวก่อน แล้วหุ้นจะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามทิศทางราคาน้ำมัน ที่ขณะนี้น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของราคาน้ำมันแล้ว โดยเชื่อว่ารัสเซียและซาอุดิอาระเบีย น่าจะมีการเจรจาเรื่องการปรับลดกำลังการผลิตร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้หุ้นกลุ่มพลังงานทยอยปรับราคาขึ้นตาม และไม่กดดันตลาดต่อไป

นายณัฐพลกล่าวว่า จากการประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาล ในการงดออกนอกเคหสถานในช่วง 22.00-04.00 น. ทุกวัน จะเข้มข้นมากขึ้นจนประกาศเพิ่มเป็นเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงเลยหรือไม่นั้น ยังมองว่าไม่น่าจะไปถึงขั้นนั้นได้ เพราะรัฐบาลเริ่มมอง 2 ด้านแล้ว โดยให้น้ำหนักไปที่ภาคธุรกิจซึ่งเริ่มจะยืนไม่ไหวมากขึ้น รวมถึงหากเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง จะทำให้คนกักตุนสินค้าอุปโภคและบริโภคมากขึ้นแบบบ้าคลั่ง และทำให้การแพร่ระบาดรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่แบบทวีคูณ โดยหากท้ายสุดมีการประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงจริง จะส่งผลลบกับตลาดทุน เพราะอาจทำให้ตลาดหุ้นไทยต้องปิดการซื้อขายเร็วขึ้น หรือปิดทำการชั่วคราว โดยเบื้องต้นขณะนี้การงดออกจากบ้านประมาณ 6 ชั่วโมง มองว่าช่วงก่อนหน้านี้ก็ถือเป็นการเคอร์ฟิวไปในตัวกันเองอยู่แล้ว เพราะประเมินช่วง 21.00-22.00 น. ก็แทบไม่มีใครอยากออกนอกบ้านแล้ว ซึ่งกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากการเคอร์ฟิวก็มีการซึมซับในราคาในช่วงที่ผ่านมามากแล้ว จึงมองว่ามาตรการควบคุมการออกจากบ้าน 6 ชั่วโมงที่ออกมานั้น เป็นมาตรการเชิงสัญญาณที่ออกมาเพื่อเตือนว่า หากประชาชนไม่ดูแลตัวเอง รัฐบาลก็จะเข้มงวดมากกว่านี้ ซึ่งหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์ก็จะเป็นกลุ่มค้าปลีกต่างๆ อาทิ บีเจซี แม็คโคร และซีอาร์ซี รวมถึงหุ้นกลุ่มสื่อสารที่ได้ประโยชน์จากการทำงานที่บ้านมากขึ้น ส่วนหุ้นกลุ่มที่เสียประโยชน์ ก็เป็นธุรกิจห้างสรรพสินค้า การขนส่งที่ไม่สะดวกตามเดิม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง