เคยมั้ย เวลาเราเห็นคำคมหรือคติสอนใจถึงแนวทางการใช้ชีวิต แล้วเราก็เชื่ออย่างสนิทใจ เพราะเราเห็นคนแชร์ คนกด like แล้วบอกว่าเห็นด้วย พอเราเชื่อแล้วเราปฏิบัติตามปรากฏว่ามันไม่ได้ผลอย่างที่คิด ไม่ได้ผลอย่างที่หวัง ชีวิตคนเราบางทีถ้าทำอะไรผิดพลาดไปแล้วมาย้อนกลับมาแก้ไขทีหลังมันทำได้ยาก เวลาเรารับรู้ข้อมูลอะไรมาจึงต้องรู้จักคิดว่ามันใช่กับบริบทของเราหรือไม่ ประเด็นนี้ครีเอเตอร์ยอมรับว่ายากที่จะถ่ายทอดให้คนเข้าใจ เพราะคนเรามีหลายเรื่องที่ต้องคิดไตร่ตรองให้เป็น การจะสอนคนให้คิดเป็นแบบครอบคลุมในหลายมิติของชีวิตจึงต้องแยบคายลึกซึ้งพอสมควร ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ เจ้าของผลงานหนังสือขายดี Bestseller และเจ้าของเพจ Nopadol’s Story จะมาถ่ายทอดถึงแนวคิดว่าเราควรคิดอย่างไรกับข้อมูลที่เรารับรู้มา โดยที่อย่าพึ่งเชื่อแล้วเอาไปทำตามแบบเถรตรง แต่ต้องชั่งใจคิดก่อนว่ามันเหมาะสมกับชีวิตของเราจริงหรือไม่ ชีวิตของเราถือเป็นเรื่องใหญ่และไม่ใช่จะทำตามกันแบบสูตรสำเร็จ เราจึงต้องคิดเป็น คิดหลายชั้น คิดใหม่ เพื่อทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเรา ความรู้ความประทับใจในมุมมองของครีเอเตอร์ได้เรียนรู้ว่าเราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นบ่อยขึ้น โดยใช้ Social Media เป็นตัวดำเนินการ เวลาเห็นเพื่อนจบปริญญาเอกแต่ตัวเองยังทำงานที่ไม่มีศักดินา ก็รู้สึกทุกข์ ความจริงคนเรามีทุกข์เหมือนกัน แต่คนเราเลือกจะโพสต์ลงโซเชียลเฉพาะความสุข ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้เราเข้าใจผิดว่าคนอื่นเขาประสบความสำเร็จอยู่ตลอดเวลา ได้เรียนรู้ว่าการเปรียบเทียบที่ดีคือการเทียบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาตัวเองจะเป็นประโยชน์กว่าการเปรียบเทียบที่ทำให้เรารู้สึกอิจฉาหรือด้อยค่าในตัวเอง เพราะมันเป็นแรงกระตุ้นให้เราผลักดันตัวเองให้ไปถึงเป้าหมายที่สูงขึ้น ได้เรียนรู้ว่าการลงมือทำหลังจากอ่านหนังสือช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหามากขึ้น แต่การลงมือทำอาจครอบคลุมในเรื่องการบอกเล่าให้คนอื่นฟังแล้วเข้าใจด้วยก็ได้ เพราะบางครั้งเราอาจยังไม่ได้อยู่ในจังหวะที่ทำตามคำแนะนำของหนังสือได้ทันที เช่น เราอ่านหนังสือเรื่องการเป็นผู้ประกอบการ แต่เรายังไม่มีต้นทุนพอจะลงทุนได้อย่างสบายใจ การบอกเล่าหรือสรุปความรู้ก็นับเป็นการลงมือทำด้วยเช่นกัน ได้เรียนรู้ว่าสื่อ Social Media ทำให้เราติดกับดักความคิดของตัวเองได้ง่าย เพราะถ้าเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว เรามักจะติดตามโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเดิมมากขึ้น แล้ว Algorithm ก็จดจำสิ่งที่เราชอบติดตาม แล้วแสดงแต่แนวคิดเรื่องดังกล่าวให้เห็น ตอกย้ำความเชื่อนั้นมากขึ้น ได้เรียนรู้ว่าเมื่อเราเชื่ออะไรบางอย่างไปแล้ว ย่อมปิดกั้นความเห็นต่าง มองคนเห็นต่างว่าเป็นคนส่วนน้อย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ เพียงแต่เรายากที่จะวางใจเป็นกลางแยกออกมาจากความเชื่อของตัวเองได้ ยิ่งไม่ยอมรับความเห็นต่าง ยิ่งเกิดความขัดแย้งได้ง่าย ได้เรียนรู้ว่าถ้าเรายินดีในความสำเร็จของคนอื่นได้ เราจะมีความสุขได้ทุกวัน แต่ถ้าเรายินดีแต่กับความสำเร็จของตัวเอง เราจะมีความสุขได้ยาก เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างความสำเร็จกับตัวเองในทุกวัน ได้เรียนรู้ว่าปริญญาตรีไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าเราจะเก่งหรือรู้เรื่องมากกว่าคนที่เรียนไม่จบเสมอไป มันเป็นแค่การคัดกรองวัดประเมินมาระดับหนึ่งว่าบุคคลนี้ได้รับการศึกษาในศาสตร์ดังกล่าวและสอบผ่านด้วยคุณภาพที่ดีพอของสถานศึกษานั้น แต่ถ้าไม่มีคุณวุฒิการศึกษามารับรอง ความเสี่ยงเรื่องคุณภาพก็จะเพิ่มมากขึ้น ความไว้วางใจน่าเชื่อถือก็น้อยลง ได้เรียนรู้ว่าคนอย่าง Steve Jobs หรือ Bill Gates เราต้องเข้าใจว่าแม้พวกเขาจะเรียนไม่จบ แต่เขาสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากเสียจนไม่ยอมให้เวลาเรียนมาบดบังความสำเร็จ การที่เราไม่มีเป้าหมายจะทำอะไรที่ชัดเจนหรือไม่เห็นเค้าลางความสำเร็จ แล้วดันทุรังเลิกเรียนด้วยความคิดที่ว่าการศึกษาในระบบไม่จำเป็นอีกแล้วนั้น...อันตรายมาก การเรียนจบก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าเรามีความสามารถมากพอที่จะไปสมัครงาน เข้าทำงานกับองค์กรที่คาดหวังได้ จริงอยู่ที่การศึกษาปัจจุบันยังไม่ดีพอ แต่เราก็ต้องหาทางไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ได้เรียนรู้ว่าความสัมพันธ์กับสุขภาพเปรียบเหมือนกับลูกแก้ว ถ้าดูแลไม่ดี มันแตก มันเรียกคืนกลับมาไม่ได้ ส่วนงานนั้นเหมือนลูกยางที่แม้จะตกลงสู่พื้นก็ยังเด้งกลับมาใหม่ได้ ได้เรียนรู้ว่าเราอาจไม่ได้เกลียดงานที่ทำ แต่เราเกลียดงานที่มากเกินไป เราต้องการทำงานที่ชอบ ไม่ได้หมายความว่าไม่อยากทำงานอะไรเลย และการหางานที่ชอบก็ไม่จำเป็นต้องรอจนถึงเกษียณ การตั้งความหวังว่าต้องรอจนเกษียณถึงจะมีความสุขอาจไม่ถูกต้องนัก ลองแบ่งเวลาทำในสิ่งที่รักโดยไม่ต้องรอจนถึงวันเกษียณ เรื่องการค้นหาตัวเองแบบนี้มักเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ครีเอเตอร์ได้ข้อสรุปถึงแนวคิดหลายอย่างที่มองว่าบางเรื่องเราอาจจะมองมันผิดไป ประโยชน์ที่ได้ของหนังสือเล่มนี้คือเราจะได้นำแนวคิดดังกล่าวปรับใช้อย่างถูกวิธี เราจะได้ไม่เกิดอคติกับแนวคิดดังกล่าวว่ามันผิดเพี้ยน ไม่ถูกต้อง แท้จริงแล้วมันมีความหมายของมันอยู่แต่เราต้องตีความให้เป็น ทั้งนี้ เราจะได้เป็นคนที่มี Input อย่างมีหลักการ ที่สำคัญคือนำตัวเองไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริงๆ การมีแนวคิดที่ถูกต้องติดตัวไปถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ครีเอเตอร์มองว่าการคิดเป็นจะเป็นสิ่งที่ติดตัวเราไปในระยะยาวและควรได้รับการบ่มเพาะตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะถ้าอายุมากแล้วจะมีแนวคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งก็ไม่แน่ว่ามันเป็นความคิดที่ถูกต้องเสมอไป ครั้งหนึ่งเคยมี Quote จากอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ พูดถึงเกี่ยวกับความคิดของคนอยู่ประโยคหนึ่ง เขากล่าวว่า....“Only two things that are infinite, The Universe and Human Stupidity, and I’m not sure about the former”,มีอยู่สองสิ่งที่มีไม่สิ้นสุด นั่นคือ จักรวาล กับ ความเบาปัญญาของมนุษย์ แต่อย่างแรกผมก็ไม่แน่ใจนะ เครดิตภาพภาพปก โดย tirachard จาก freepik.comภาพที่ 1 และ 2 โดยผู้เขียนภาพที่ 3 โดย cookie_studio จาก freepik.comภาพที่ 4 โดย nakaridore จาก freepik.com บทความอื่นๆที่น่าสนใจรีวิวหนังสือ THE BETTER ME MODEL ฮาวทู เกลา ชีวิตให้ดีกว่าเดิมรีวิวหนังสือ ทางลัดสู่อัจฉริยะ โดย ทันตแพทย์สม สุจีรารีวิวหนังสือ เชาวน์ปัญญา (Intelligence)รีวิวหนังสือ ปัญญาญาณ (Intuition) โดย OSHOรีวิวหนังสือ หัวไม่ดีก็มีวิธีสอบผ่าน โดย พี่แมงปอเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !